ผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปีที่ผ่านมา ทุกประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยเองก็มีการประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero ในปี พ.ศ. 2608 ‘คอนกรีต’ เป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนลงได้
นาวาอากาศเอก ศ. ดร. ธนากร พีระพันธุ์ นายกสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (สคท.) กล่าวว่า ปัจจุบันวัสดุก่อสร้างมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้งาน โดยคอนกรีตยังคงเป็นวัสดุก่อสร้างหลักของงานก่อสร้าง มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาในงานคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาผลิตคอนกรีตก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีคอนกรีต ที่นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรแล้ว
ยังมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดโลกร้อน
สคท. ได้ร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2555 ในช่วงของการยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ประกาศมาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในปีต่อมา มอก. 2594-2556 ช่วงที่ผ่านมา สคท. ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรม-ปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่สามารถช่วยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่คุณสมบัติที่สำคัญของปูนซีเมนต์ไม่ได้ลดลง
เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นการเปิดกว้างให้ สามารถนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกไปใช้ในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่งานก่อสร้างของภาคเอกชนเองได้เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สคท. ได้ส่งเสริมให้
ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการเผยแพร่ในการประชุมวิชาการคอนกรีต โดยในปี 2565 สคท. จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน สคท. พร้อมบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนกับทุกหน่วยงาน เพื่อช่วยเราช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก