รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชวนประชาชนร่วมกันสร้างค่านิยม “Next normal” รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ ด้วยการดูแลตัวเอง ไม่สร้างปัญหากับคนอื่น ย้ำการควบคุมโรคให้ได้ผลต้องอาศัย “ความร่วมมือ–ความไว้วางใจ” โดยใช้พลังภาคประชาสังคมหนุนเสริมการทำงานรัฐ
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า New normal หรือชีวิตวิถีใหม่ ที่เน้นเรื่องการป้องกันตนเองด้วยมาตรการต่างๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดใหม่ขึ้นอีก ถึงแม้คนจะคุ้นชินกับสถานการณ์ ไม่ตื่นตระหนก และรู้จักการใช้ชีวิตวิถีใหม่แล้ว แต่เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องช่วยกันสร้าง Next normal ให้เกิดขึ้น
สำหรับ Next normal คือการให้ความสำคัญกับการระมัดระวังและป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหาต่อผู้อื่น เช่น การระวังตนเองด้วยการไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงรับเชื้อ ไม่นำเชื้อไปแพร่ให้กับคนอื่น หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการกักตัวเองในกรณีที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
นพ.ปรีดา กล่าวว่า ความท้าทายในสถานการณ์โควิด-19 เป็นสิ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้มาจากการแพร่ระบาดครั้งแรก และเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้อย่างสมดุลกับมาตรการป้องกันโรค เพราะหากสุขภาพล้มก็จะทำให้ประเทศแบกรับภาระไม่ไหว แต่หากปิดเศรษฐกิจทั้งหมดก็จะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงเช่นกัน ซึ่งจากการดำเนินแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสังคมกว่า 25 องค์กร พบว่าการฝ่าวิกฤตโรคระบาดจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการต่อสู้
“การมีมาตรการภาครัฐที่เข้มเข็งเป็นเรื่องดี แต่ในแง่ของการปฏิบัติและความร่วมมือของคนในชุมชนจำเป็นต้องมีมาตรการชุมชนเข้ามาช่วยเหลือ การปล่อยให้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองคงไม่ได้แล้ว หรือการให้คนติดต่อภาครัฐเองก็ไม่ง่าย เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้น จำเป็นต้องร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างรัฐกับภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้าไปหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐที่อาจมีกำลังไม่เพียงพอต่อการระบาดที่รวดเร็ว รุนแรง กว้าง และไกล” นพ.ปรีดา กล่าว
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า การแบ่งหน้าที่ดังกล่าว รัฐอาจทำหน้าที่เป็นผู้จัดระบบเพื่อให้คำแนะนำและองค์ความรู้ ส่วนภาคประชาชน แกนนำจิตอาสาก็สามารถเข้ามาเติมเต็ม เช่น การช่วยเหลือผู้ที่ถูกกักตัวอย่างเป็นระบบ หรือการเสนอที่พักพิงในชุมชน หรือแม้กิจกรรมทางสังคม งานศพ งานแต่ง โดยมีโจทย์คือจะทำอย่างไรให้เกิดความตระหนักและยกการ์ดให้สูง ร่วมกันทำกิจกรรมแบบ New normal และ Next normal
“ถ้าจะให้ภาครัฐทำหน้าที่ระดมความร่วมมือภาคประชาชน วัด ศาสนา หรือธุรกิจเอกชนในพื้นที่ก็คงลำบาก เพราะรัฐก็มีมาตรการของตัวเองที่ต้องดำเนินการ เช่น การตั้งด่าน การบริการ เฝ้าระวังคัดกรอง ดังนั้น ภาคประชาชน สมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด สามารถหนุนเสริมได้ทันทีด้วยการปรึกษาหารือ ดูว่ามีส่วนไหนที่จะร่วมมือกันได้ และก็กลับมาจับมือกับภาครัฐเพื่อดำเนินการ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่อธิบายให้เห็นว่าความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นส่วนสำคัญต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งในหลายพื้นที่หลายภาคีเครือข่าย เช่น เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ก็ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งแล้ว โดยความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่นั่นเอง” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว