จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าวันละ 1.5 หมื่นราย กำลังสั่นคลอนระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่หน่วยบริการ-โรงพยาบาลต่างตกอยู่ในสภาวะตึงมือ-เกินขีดความสามารถที่จะรองรับสถานการณ์การระบาดไหว นั่นทำให้ปรากฏภาพการดิ้นรนเอาตัวรอด-การลำเลียงผู้ป่วยจาก กทม. กลับไปรักษาตัวในต่างจังหวัด หรือตามภูมิลำเนา
เมื่อโควิด-19 กระจายตัวออกจาก กทม. เข้าสู่ทุกพื้นที่ในภูมิภาค การทำงานระดับพื้นที่เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในขณะนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบที่จำนวนตัวเลขผู้ป่วยรายวันอาจเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเหนือผิวน้ำ มีตัวอย่างการจัดการโควิด-19 ของ “จ.นครปฐม” ซึ่งถือเป็นโมเดลระดับพื้นที่ที่เกิดรูปธรรมจับต้องได้ โดยทั้งหมดเกิดขึ้นจากการสานพลังคนนครปฐมเข้ามาร่วมคิด-ร่วมจัดระบบ กำหนดมาตรการชุมชน
ภาคีทุกภาคส่วนที่ร่วมสร้าง “นครปฐมโมเดล” เริ่มตั้งแต่พ่อเมือง ผวจ.นครปฐม ส่วนท้องถิ่นอย่างนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนราชการ ภาคประชาสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ และองค์กรภาคส่วนประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมกันคลุกวงใน วางแผนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.นครปฐม ยอมรับว่า ช่วงเวลาขณะนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะการแพร่ระบาดในช่วงนี้เริ่มปะปนกันไปในชุมชน ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการและไม่รู้ตัว จึงทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดอย่าง อ.สามพราน ที่มีสถานการณ์รุนแรงที่สุด
ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของสังคมที่อยู่อาศัยกันค่อนข้างหนาแน่น ทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาคารหอพัก อพาร์ทเมนต์ต่างๆ แผนการสำคัญขณะนี้จึงต้องเร่งแยกตัวผู้ติดเชื้อ ออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ด้วยมาตรการการค้นหาเชิงรุก ที่จะมีเครื่องมือสำคัญคือชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามามีบทบาทหลักในภารกิจนี้
“นอกจากเราจะต้องระดมตรวจให้เร็วแล้ว สิ่งสำคัญถัดมาคือการมีสถานที่รองรับ นำผู้ติดเชื้อมาประเมินระดับอาการ หากเป็นผู้ป่วยระดับอาการสีส้มหรือแดง ก็จะต้องเข้าสู่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ส่วนผู้ป่วยระดับอาการสีเขียวที่มีจำนวนมากกว่า ก็อาจจะต้องอยู่บ้านตัวเองภายใต้การดูแลติดตามของแพทย์ แต่ผู้ที่ไม่สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ก็จำเป็นต้องเตรียมสถานที่ไว้ดูแล” นายสุรศักดิ์ ระบุ
ยุทธการหลักของนครปฐม คือการใช้ระบบการดูแลในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ด้วยการตามหาสถานที่ที่มีความเหมาะสม จนพบกับโรงเรียนเก่าพื้นที่ขนาด 25 ไร่ 6 อาคาร ที่มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ และจัดตั้งขึ้นเป็น “ศูนย์พักคอยอุ่นใจ” หรือ CI Complex ของจังหวัด
“CI Complex” แห่งนี้ หมายมั่นที่จะนำมาใช้เป็นศูนย์กลางการทำศึกแบบครบวงจร ตั้งแต่การเป็นจุดตรวจ ATK ทั้งแบบวอล์คอินและไดร์ฟทรู พร้อมกับศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อขนาด 500 เตียงรองรับเพื่อประเมินระดับอาการผู้ป่วย มีระบบ X-ray mobile ที่จะเข้ามาประจำการคอยประเมินภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึงระดับอาการสีเหลืองที่ต้องให้ออกซิเจนด้วย
นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครปฐม กล่าวเสริมถึงแผนการว่า นอกจากการดำเนินงานภายใน CI Complex แล้ว การค้นหาเชื้อเชิงรุกจะถูกกระจายจากจังหวัดลงไปยังท้องถิ่น ผ่านพื้นที่ตำบลต่างๆ ด้วยการกระจายชุดตรวจ ATK ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยยังคงเน้นให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) หากทำไม่ได้จึงค่อยมาเข้ามารับการดูแลภายใน CI ที่จะต้องมีอยู่ในพื้นที่ทุกตำบล
ทั้งนี้ อบจ. จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชาชนจากความเดือดร้อน ด้วยงบประมาณที่เป็นเงินของประชาชน ซึ่งนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา อบจ.นครปฐม ได้อุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การจัดซื้อเวชภัณฑ์ ชุดตรวจต่างๆ ไปแล้วรวมกว่า 60 ล้านบาท ไม่รับรวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังจะดำเนินการจัดหาเพื่อมาฉีดให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นพ.วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม (สสจ.นครปฐม) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนการระบาดที่พบมากขึ้นในโรงงาน ก็ได้มีการจัดทำระบบการดูแลแบบ Factory Isolation ในโรงงานกว่า 20 แห่ง รองรับแรงงานที่ติดเชื้อกว่า 1,400 คน และยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าตรวจหาเชื้อเพิ่มอีกต่อเนื่องเพื่อล้อมกรอบการระบาดให้ได้
“ในส่วนของระบบการจัดการผู้ติดเชื้อ เรายังพยายามลดคอขวดของการตรวจหาเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องคอนเฟิร์มด้วยการตรวจ RT-PCR แต่ให้ผลการตรวจจากชุดตรวจ ATK สามารถเข้าระบบทั้ง HI และ CI ได้เลย เพื่อให้สามารถแยกตัวผู้ป่วย และนำเข้าสู่การรักษาได้เร็วที่สุด” นพ.วิโรจน์ เสริม
มุมมองจากภาควิชาการ นายวิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้ความเห็นว่า โจทย์ใหญ่ของการแก้สถานการณ์โควิด-19 ใน จ.นครปฐม คือการรีบตัดวงจรการระบาดให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ก็จะยากลำบากมากยิ่งขึ้น และตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับ กทม. ได้ในที่สุด
นายวิรัตน์ มองว่า ในช่วงนี้มีปัจจัยที่เอื้อต่อการควบคุมโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้ระยะเวลาเคอร์ฟิว เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมไปถึงการมีชุดตรวจ ATK สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่เหมาะสมในการเตรียมพร้อมกำหนดยุทธวิธีของจังหวัด แต่ก็จะต้องตอบโจทย์ที่ไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างอยู่ในพื้นที่ ทุกคนต้องเข้าถึงระบบการตรวจคัดกรอง และเข้าสู่ระบบการรักษาได้
“เราต้องหันมามองศักยภาพในพื้นที่ชุมชน ทำอย่างไรให้เกิดระบบ CI ได้ในทุกตำบล โดยการซีลล็อคพื้นที่ รักษาที่มั่นตัวเอง และวางระบบดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ฝึกฝนคนขึ้นมาช่วยดูแลกัน มีอุปกรณ์เวชภัณฑ์แจก พร้อมมีฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อมาถึงระดับจังหวัด ถ้าทำแบบนี้ได้เราก็จะระงับการระบาดในพื้นที่ได้ โดยใช้ท้องถิ่นเป็นจุดสำคัญ แต่ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อเราก็จะลำบาก” นายวิรัตน์ ระบุ
ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้สงครามโรคของ จ.นครปฐม สำเร็จ คือการวางแผนปฏิบัติการพร้อมกำหนดกรอบช่วงระยะเวลาที่ชัดเจน สื่อสารและดำเนินการอย่างเข้มข้น กระจายการดำเนินงานลงไปสู่พื้นที่เล็กๆ ผนึกกำลังกลายเป็นวัคซีนทางสังคมที่สามารถฉีดได้ทันที เพื่อรอวันที่วัคซีนป้องกันโรคจะพร้อมเข้ามา
“โมเดลที่เกิดขึ้นจากนครปฐมนี้ คือการวาง CI ใหญ่ของจังหวัดที่อาจมี 1-2 แห่งเป็นแบ๊คอัพ แต่พื้นที่สมรภูมิแนวหน้าคือระดับตำบล ที่จะต้องยันเอาไว้ให้อยู่ เพื่อรอวันที่กำลังเสริมคือวัคซีนมาถึง และปฏิบัติการจากจังหวัดนี้ที่ตื่นก่อน ก็จะส่งผลให้มีจังหวัดอื่นที่ลุกขึ้นตามมา เป็นการสานพลังอย่างมากของท้องถิ่น ที่จะช่วยซับปัญหาการระบาดที่ทยอยออกไปยังทุกจังหวัดในขณะนี้ได้” นพ.ปรีดา ทิ้งท้าย
#นครปฐมโมเดล #Covid19 #โควิด19 #CommunityIsolationComplex