อย่าให้ชีวิตต้องติดขัดจากอาการข้อไหล่ติด

ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) โรคที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่เกิดได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบบ่อยในวัยสูงอายุ โดยเป็นภาวะที่ทำให้มีอาการปวดไหล่ ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ปกติดังเดิม มีอาการติดขัด หากปล่อยไว้นานอาจไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ และอาจพัฒนากลายเป็นหัวไหล่ติดแข็ง และขยับไม่ได้ถาวร สาเหตุเกิดจากการอักเสบ และการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ เกิดเป็นพังผืด อาจเกิดจาก อายุที่เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการหันหรือเอื้อมหยิบของเร็วๆแบบผิดท่า การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การใช้งานข้อไหล่ซ้ำ ๆ ระยะเวลานาน อาทิการนั่งพิมพ์งาน หรือท่าทางต่าง ๆ การบาดเจ็บต่าง ๆ หรืออาจเคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อไหล่เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อ และเอ็นข้อไหล่ หรือแม้แต่ผู้มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ไทรอยด์

นายแพทย์ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า อาการข้อไหล่ติด แบ่งอาการได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะปวด อาการจะเริ่มปวด และค่อย ๆ ปวดเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง แม้เวลากลางคืนเมื่อขยับไปโดนหัวไหล่ข้างที่ปวดก็จะเกิดอาการปวดมากจนรบกวนเวลานอน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในร่างกายไม่เป็นปกติ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
  2. ระยะข้อติด เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ติดขัดมากขึ้น แม้ขยับเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร และการติดกระดุมเสื้อผ้า หรือการสวมเสื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
  3. ระยะฟื้นตัว อาการข้อไหล่ติดจะสามารถฟื้นตัวได้เอง อาการจะค่อยๆดีขึ้น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี  พบว่าจะยังมีอาการข้อติดหลงเหลือ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ส่งผลให้การใช้งานไม่เหมือนปกติแต่เดิม

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์

  • ปวดไหล่
  • ขยับแขนไม่ได้
  • ยกแขนไม่ขึ้น
  • นอนก็ปวด เมื่อทับแขนด้านที่ปวด
  • เอื้อมแขนหยิบของด้านหลัง ไขว้แขนไม่ได้ เอื้อมหยิบของที่สูงไม่ได้
  • ยกแขนขึ้นสวมเสื้อลำบาก
  • ปวดร้าวลงแขน
  • หิ้วของหนักลำบาก

เทคโนโลยีส่องกล้อง ช่วยรักษาอาการข้อไหล่ติด

การรักษาภาวะข้อไหล่ติดแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี

  1. การให้ยาเพื่อลดปวด โดยมีทั้งรูปแบบการทานยา และการฉีดยาลดปวด
  2. การทำกายภาพบำบัด ด้วยทีมกายภาพบำบัดผู้ชำนาญการ โดยต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ
  3. การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีส่องกล้อง Minimally Invasive Surgery โดยหากมีอาการปวดมากไม่สามารถใช้แขนดำเนินชีวิตได้ปกติ และใช้การรักษาวิธีข้างต้นไม่ได้ผล การผ่าตัดแบบแผลเล็กช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อีกครั้ง โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้แขน และเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ปกติ โดยแพทย์จะใช้การส่องกล้องข้อไหล่ โดยเจาะรูที่ข้อไหล่ 3-4 รู ขนาดของรูละ 0.5 – 1 ซม. เพื่อใส่เครื่องมือการส่องกล้องเข้าไปโดยกล้องจะถ่ายภาพภายในข้อไหล่โชว์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และทำการผ่าตัด ซ่อมแซม ตกแต่งเยื่อหุ้มข้อด้วยเทคนิคแบบแผลเล็กเจ็บน้อย ช่วยลดการบอบช้ำของเนื้อเยื่อ และเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็วได้กว่าการผ่าตัดแบบเปิด

ภาวะข้อไหล่ติดสามารถรักษาได้หากรีบเข้ามาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยยิ่งเกิดกับผู้สูงอายุด้วยแล้ว ลูกหลานอาจควรช่วยสังเกตอาการและรีบพามาพบแพทย์ เพราะส่วนใหญ่จะปล่อยให้เรื้อรัง โดยเมื่อเป็นมากแล้วถึงยอมมาพบแพทย์ หากมาพบแพทย์เร็วก็จะยิ่งส่งผลให้ลดการเจ็บปวด การบอบช้ำของกล้ามเนื้อโดยรอบที่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะข้อไหล่ติด และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น โดยชีวิตไม่ติดขัดจากข้อไหล่ติดอีกต่อไป

“ภาวะข้อไหล่ติดการรักษาอาจไม่ต้องผ่าตัดทุกราย หากรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แต่หากต้องรับการผ่าตัดเทคโนโลยีส่องกล้องแผลเล็กสามารถช่วยรักษาให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้โดยไม่ติดขัดจากภาวะไหล่ติด”

you might like

Scroll to Top