อุตสาหกรรมเกษตร-อาหารไทย จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งการสร้างรายได้ และการจ้างงาน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย หรือ Food Industry Asia (FIA) ร่วมกับ Oxford Economics ได้จัดทำวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งพบว่า มีแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้รวมกันถึง 127 ล้านคน ในประเทศไทยมีจำนวน 18 ล้านคน ช่วงก่อนโควิด อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สร้างรายได้ให้ 4 ประเทศนี้ รวม 717,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปี 2015

Oxford Economics ประเมินว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะในภาคค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม และร้านอาหาร ทำให้เกิดการว่างงานรวม 910,000 คน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังคงมีศักยภาพ โดยในอินโดนีเซีย มีการขยายตัวร้อยละ 2 ขณะที่เวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 4 ส่วนไทยและฟิลิปปินส์ หดตัวเล็กน้อย แต่น้อยกว่าการหดตัวโดยรวมของจีดีพีโดยรวมของแต่ละประเทศ

Oxford Economics คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในไทยและอินโดนีเซีย จะฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากอิงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2024

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยังต้องเผชิญความท้าทายในระยะยาว โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพ และมีนวัตกรรมมากขึ้น ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันต้องมีประสิทธิภาพในการดูแลแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

แมททิว โคแวค ผู้อำนวยการบริหาร FIA ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะจัดทำนโยบายและเริ่มใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤต รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการด้านเกษตร-อาหารจะต้องเผชิญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบด้าน นโยบายหรือมาตรการเหล่านั้นอาจส่งผลเชิงลบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารและเศรษฐกิจไทย หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้าง

“ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร จะเผชิญกับอุปสรรคอย่างหนักในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ด้านอาหารและเครื่องดื่มจะลดต่ำลง ในขณะที่ความท้าทายที่มีอยู่เดิมและเป็นปัญหาในระยะยาวจะยังคงมีอยู่ต่อไปหลังวิกฤตโควิด ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนที่จะบังคับใช้นโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในระยะยาว” โคแวคกล่าว

รายงานของ Oxford Economics ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร เนื่องจากรัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีการขึ้นภาษีเพื่อนำเงินไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านนโยบายการคลังแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย จากการที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคจะต้องแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น

เจมส์ แลมเบิร์ท ผู้อำนวยการฝ่าย Economic Consulting Asia ประจำ Oxford Economics กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยเผชิญความเสี่ยงอย่างมากจากการปรับนโยบายการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายการคลังโดยมีการวางแผน การวางเป้าหมาย และการสื่อสารอย่างรอบคอบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการออกนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อประคับประคองภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร สามารถสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วยสนับสนุนคนไทย ผู้ประกอบการรายเล็ก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก 1 ใน 3 ของรายได้ภาคครัวเรือนเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่ม

สุดท้าย รายงานฉบับนี้ได้แนะนำให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร ให้ก้าวผ่านความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น การปิดชายแดน  โดยมุ่งเน้นความช่วยเหลือในสามด้าน ได้แก่ การให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเกษตรและให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้มาตรฐานด้านการกำกับดูแลแทนการดำเนินนโยบายด้านภาษี และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารอย่างสม่ำเสมอ

#อุตสาหกรรมเกษตร #อาหารและการเกษตร #อาหารไทย

you might like

Scroll to Top