เทียบค่าครองชีพชาติอาเซียน ไทยของแพงสวนทางรายได้

iPrice สำรวจภาวะค่าครองชีพชาวอาเซียนภายใต้สถานการณ์โควิด พบคนกรุงเทพฯ ค่าครองชีพพุ่ง สวนทางรายได้ต่ำ ค่ากิน ค่าอยู่แพง เป็นรองสิงคโปร์ ด้านเวียดนาม สวรรค์ของสตาร์ทอัพ ได้ค่าตอบแทนสูง ขณะที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมืองที่มีราคาน่าคบหา น่าออกไปหาประสบการณ์ใหม่

การระบาดของโควิด-19 เริ่มเห็นแสงสว่างจากจำนวนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นในหลายประเทศ และเริ่มเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว คนเริ่มวางแผนชีวิตหลังโควิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และหนึ่งในแผนการยอดนิยมก็คือ ‘การออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์นอกประเทศ’ และหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับการค้นหามากที่สุดก็คือ ‘ค่าครองชีพ’ ของแต่ละประเทศ ที่ส่วนใหญ่ผู้คนจะนำมาเปรียบเทียบกับคุณภาพชีวิตในประเทศไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจ

iPrice Group บริษัทวิจัยตลาดออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ numbeo.com และเก็บข้อมูลจากชาวต่างชาติ (คละสัญชาติ) กว่า 500,000 คน ที่อาศัยอยู่ ณ เมืองหลวงของประเทศเหล่านั้น  ทั้งหมด 6 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม รวมไปถึงประเทศไทย ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

กรุงเทพฯค่าครองชีพพุ่งเกินรายรับ

จากการเก็บข้อมูล พบว่า ปัจจุบันเงินเดือนโดยเฉลี่ยของชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26,502 บาท แต่ค่าครองชีพรวมโดยเฉลี่ย สูงถึง 33,032 บาท ถือว่ามีรายจ่ายเกินรายรับพื้นฐานอยู่มากพอตัว และเมื่อเปรียบเทียบเมนูอาหาร Fast Food ยอดนิยมอย่างชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลมาเปรียบเทียบใน 6 ประเทศ พบว่า อาหารเมนูนี้ในกรุงเทพฯ มีราคาแพงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น (กรุงเทพฯ 150 บาท และสิงคโปร์ 175 บาท)

ทั้งนี้ ค่าครองชีพที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ สูงเป็นอันดับที่ 3 (12,942 บาท) และค่าเดินทางสูงเป็นอันดับที่ 2 (1,040 บาท) ซึ่งเป็นรองเพียงสิงคโปร์อีกเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติสูงเป็นอันดับที่ 1 (25,000 บาท) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างกันเกือบครึ่งจากเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่สูงเป็นอันดับที่ 2 (14,666 บาท) ซึ่งอาจมีเหตุผลจากการที่ไทยเป็นประเทศ Non-speaking นั่นเอง

ขณะที่ สิงคโปร์ ที่แม้ว่าจะเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตก็สูงตามไปด้วย จากข้อมูลพบว่า ถึงแม้ค่าครองชีพจะสูงแต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับรายรับ และรายจ่าย โดยชาวสิงคโปร์มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 118,075 บาท แต่มีค่าเช่าที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 46,686 บาท หรือราว ๆ 39% ของเงินเดือน ต่างจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่สูงถึง 48% ของเงินเดือน หรือค่าเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่แพงที่สุดในภูมิภาคถึง 71% ของเงินเดือน แต่ทั้งนี้ถ้าเปรียบเทียบค่าครองชีพที่ว่าสูงในสิงคโปร์ยังไม่เกินรายรับ (เงินเดือนโดยเฉลี่ย) เหมือนเมืองหลวงส่วนใหญ่ในภูมิภาค และค่าครองชีพโดยรวมของสิงคโปร์ คือ 76,770 บาท เป็น 1 ใน 2 ประเทศของภูมิภาคที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย (อีกเมืองคือกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย)

โฮจิมินห์ สวรรค์ของสตาร์ทอัพ

สำหรับเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อาจไม่เหมาะสำหรับการย้ายถิ่นฐานไปหาประสบการณ์  เนื่องจากค่าครองชีพในส่วนค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยสูงถึง 10,767 บาท นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเมื่อนำมาเทียบกับเงินเดือน ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15,071 เท่านั้น ยังไม่นับรวมค่าครองชีพพื้นฐานโดยรวมที่สูงถึง 25,396 บาท ซึ่งสูงกว่ารายรับเกือบเท่าตัว ค่าเดินทางแม้จะถูกที่สุดในภูมิภาคที่ 135 บาท แต่อาจเป็นเพราะไม่มีรถไฟฟ้า หรือพาหนะโดยสารที่คล่องตัวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม คือ หากอยากลองหางานแนวอีคอมเมิร์ซ หรือสตาร์ทอัพ ที่นี่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ โดยปีที่ผ่านมา มีอัตราคนเข้าชมเวบไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 11% สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย (อ้างอิงจากงานวิจัย Map of E-commerce ของ iPrice Group) ยิ่งถ้ามีทักษะทางภาษา อาจลองยื่นเรื่องไปฝึกงาน หรือหางานที่มีตำแหน่งสูง ๆ ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ จากรายงานของ Google & temasek 2020 ชี้ว่า Digital Ecommerce ของเวียดนามโตสูงสุดในอาเซียน โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2019 และคาดว่าปี 2025 จะเพิ่มขึ้นถึง 29% และในปี 2020 ที่ผ่านมา ยังได้รับเงินระดมทุนถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยความที่เป็นประเทศ Non-EN speaking เหมือนไทย ทำให้ผู้ที่มีทักษะด้านภาษากำลังเป็นที่ต้องการและมีค่าตัวสูงมาก

กัวลาลัมเปอร์ เมืองที่มีค่าครองชีพน่าคบหา

มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยในแบบที่ว่านั่งรถไปได้ และเป็นอีกหนึ่งประเทศ English Speaking ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลสำรวจค่าครองชีพในกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย พบว่า กัวลาลัมเปอร์มีค่าเช่าที่พักอาศัยถูกที่สุดในภูมิภาค โดยเฉลี่ยเพียง 9,044 บาทเท่านั้น ขณะที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 (34,209 บาท) เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และนอกจากค่าที่พักถูกแล้ว ค่าสินค้าและบริการต่างๆ เช่น บัตรชมภาพยนตร์ (91 บาท) และค่าน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร (11 บาท) ก็ถือว่าถูกที่สุดด้วยเช่นกัน รวมทั้งกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ 1 ใน 2 เมืองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อีกเมืองคือสิงคโปร์) โดยมีค่าครองชีพเฉลี่ยรวม 24,566 บาท ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34,209 บาท

ขณะที่ฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในภูมิภาค โดยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในมะนิลาจะมีราคาถูก แต่ก็เป็นเมืองที่มีอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยน้อยที่สุดในภูมิภาคด้วยเช่นกัน (12,277 บาท) ในขณะที่มีค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยที่ 14,137 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือน และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าตั๋วหนังเฉลี่ยแพงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์อีกด้วย (มะนิลา 162 บาท และสิงคโปร์ 280 บาท)

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการออกไปหาประสบการณ์ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ คือ การได้ฝึกภาษาแบบจัดเต็ม เพราะแทบจะทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เป็นเหตุผลที่ค่าเทอมในโรงเรียนนานาชาติของเมืองมะนิลามีราคาถูกที่สุด (9,750 บาท) ถ้าเทียบกับประเทศ English Speaking ทั้งหมดในภูมิภาค  และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าอาหาร Fast Food ชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลถูกที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย (78 บาท)

สำหรับจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย คืออีกหนึ่งประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับ มีค่าครองชีพโดยรวมเฉลี่ยถึง 26,305 บาท ในจำนวนค่าครองชีพนี้มีค่าเช่าที่พักอาศัยรวมอยู่ 9,610 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อดีของจาการ์ต้า เพราะมีค่าเช่าที่พักอาศัยน้อยที่สุดรองจากเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเงินเดือนโดยเฉลี่ยพื้นฐานอยู่ที่ 14,922 บาท น้อยที่สุดในภูมิภาค สำหรับค่าสาธารณูปภาคพื้นฐานอย่าง ค่าน้ำ 1.5 ลิตร (11 บาท), ค่าเดินทาง (216 บาท), ค่าอาหาร Fast Food (108 บาท), หรือค่าตั๋วหนัง (108 บาท) ในจาการ์ต้าถือว่ามีราคาน่าคบหา แม้จะไม่ถูกที่สุดในภูมิภาค แต่ก็อยู่ในเรตราคาต่ำ ไปถึงราคากลางเท่านั้น

#ค่าครองชีพ #ชาติอาเซียน #ค่าครองชีพในประเทศไทย #รัฐสวัสดิการ

you might like

Scroll to Top