MBTI เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพทางจิตวิทยาหรือเกมเล่นเพื่อความสนุก ?

“MBTI ของคุณเป็นแบบไหน” ด้วยความที่สนใจเรื่องจิตวิทยาอยู่แล้ว ธนพลจึงลงมือทำแบบทดสอบ MBTI ที่มีถึง 93 ข้ออย่างอดทน โดยแต่ละคำถามมีตัวเลือก 2 ข้อ เช่น ‘คุณมีเพื่อนใหม่ๆเป็นประจำ’ ตัวเลือกคือ เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย แต่จะไล่ระดับกันไป ประมาณว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วยพอประมาณ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ค่อยเห็นด้วย หรือกลางๆ หลังจากทำแบบทดสอบจนครบ ธนพลได้ผลลัพธ์เป็นตัวอักษร 4 ตัว แทนบุคลิกภาพ 4 ด้าน ได้แก่

  • เป็นคนจดจ่อกับภายนอก (Extraverted) หรือจดจ่อกับภายใน (Introverted)
  • เป็นคนรับข้อมูลผ่านทางประสาทสัมผัส (Sensing) หรือใช้สัญชาตญาณ (Intuition)
  • เป็นคนชอบตัดสินใจโดยใช้ความคิด (Thinking) หรือใช้ความรู้สึก (Feeling)
  • เป็นคนชอบระเบียบแบบแผน มั่นคง เนี้ยบ (Judging) หรือยืดหยุ่น พลิกแพลง ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ (Perceiving)

ธนพลได้ผลลัพธ์ว่าเป็นคนแบบ ISTJ (Introverted, Sensing, Thinking, Judging) เขาเป็นคนมีเหตุผล ไว้ใจได้ ใส่ใจในรายละเอียด ชอบทำงานที่มีระบบแบบแผนชัดเจน ชอบเป้าหมายที่ชัดเจน ใช้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ควรจะละวางความเข้มงวดและใช้อารมณ์ความรู้สึกให้มากขึ้น เขาตื่นตะลึงไปเลยที่แบบทดสอบนี้ส่องทะลุตัวตนเขาอย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับผู้คนกว่า 2.5 ล้านคนต่อปี และบริษัทอันร่ำรวยในกลุ่ม Fortune 100 เกินครึ่งที่ใช้แบบทดสอบนี้ในการรับสมัครพนักงาน

Katherine Cook Briggs และลูกสาว Isabel Briggs Myers พัฒนาแบบทดสอบ MBTI ในทศวรรษที่ 1940 ขึ้นจาก Psychological Types: The Psychology of Individuation ทฤษฎีด้านบุคลิกภาพของ Carl Jung คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้เป็นศิษย์ของ Sigmund Freud

คาร์ล ยุง ‘คาดคะเน’ ว่าคนเรารับรู้โลกโดยใช้กลไกทางจิตวิทยา 4 ประการ ได้แก่ ผัสสะ สัญชาตญาณ ความรู้สึกและความคิด โดย ‘สันนิษฐาน’ ว่ากลไกเหล่านี้อยู่ใต้อิทธิพลของบุคลิกภาพ 2 แบบ คือ เปิดเผยชอบเข้าสังคมและเก็บตัวสันโดษ คนเรามักพึ่งพากลไกแบบใดแบบหนึ่ง จนบ่อยเข้ากลไกนั้นก็มีอิทธิพลมากกว่ากลไกอื่นๆ แต่ยุงมิได้ทำการสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบ – ด้วยมาตรฐานที่ชัดเจน – สังเกตเห็นได้ ทฤษฎีนี้ของยุงจึงเป็นเพียงแนวคิดที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง แม้แต่ตัวยุงเองก็ไม่ได้ฟันธงว่า คนเรามีบุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่งชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ กลไกจิตวิทยาของคนเรามีระดับความสูงต่ำ เข้มข้นจืดจาง มากน้อย ดังนั้นบุคลิกภาพของเราอาจอยู่จุดไหนก็ได้ระหว่างสองขั้วตรงข้าม และจุดนั้นก็ไหลเลื่อนไปมาได้ไม่ตายตัว

ด้วยเหตุนี้ MBTI จึงเป็นแค่เกมเล่นสนุกๆ เวลาจัดปาร์ตี้ที่บ้าน หรือนัดแก๊งเพื่อนรวมกลุ่มกัน Adam Grant นักจิตวิทยาและอาจารย์ประจำแห่งวิทยาลัยธุรกิจ Wharton ผู้เขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม อาทิ Originals และ Think Again ที่ผู้ว่าฯชัชชาติก็เป็นแฟนหนังสือของนักจิตวิทยาผู้โด่งดังนี้ด้วย

อดัมเขียนบทความในเว็บไซต์ Psychology Today ที่พาดหัวว่า ‘ลาก่อน MBTI กระแสชั่ววูบที่ไม่มีวันหายไป’ และยังทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า “แบบทดสอบ MBTI คือตำราดูดวงของพวกเนิร์ด พูดตามผมอีกครั้งนะครับว่า การจัดบุคลิกภาพเป็นประเภทต่างๆเป็นความเชื่อปรัมปรา” นั่นเพราะว่าครั้งแรกที่ทำแบบทดสอบ MBTI อดัมเป็นคนแบบ INTJ ซึ่งอธิบายว่าเขาเป็นคนชอบเก็บตัว เมื่อทำแบบทดสอบนี้อีกครั้ง เขาได้ผลลัพธ์เป็น ESFP คนจำพวกที่ชอบเป็นดาวเด่นกลางฝูงชน ไม่นิยมแบบแผนและปล่อยตัวเองไปตามหัวใจ นักจิตวิทยาผู้นี้จึงตั้งคำถามว่าบุคลิกภาพของตนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลาไม่กี่เดือน…ได้หรือ

John V. Petrocelli นักจิตวิทยาสังคมแห่ง Wake Forest University ซึ่งทำห้องแล็บ ‘Bullshit Study Lab’ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปั้นน้ำเป็นตัวของคนเราอธิบายว่า แบบทดสอบ MBTI อธิบายตัวตนของเราได้ตรงเผง เพราะตัวเราเองคือคนให้ข้อมูลกับแบบทดสอบ MBTI เพื่อให้แบบทดสอบนี้มาบอกเราคิดว่าเราคิดอย่างไรกับตัวเองอีกที เช่น ถ้าเราตอบว่าชอบกินผักผลไม้และชอบออกกำลังกาย แบบทดสอบไหนๆก็อาจสรุปว่าเรามีบุคลิกภาพเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งตัวเราเองไม่ได้รู้เรื่องนี้อยู่แล้วรึ?

สิ่งที่อดัม แกรนต์และจอห์น วี. เพโทรเชลลี ให้ค่าว่า MBTI เป็นแค่เกมทายนิสัยเล่นกันสนุกๆที่ควรจะลืมไปในทันทีที่เล่นเกมจบแล้วก็เพราะว่า เมื่อทำแบบทดสอบในสภาพแวดล้อมควบคุมตัวแปร อันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วก็พบว่า MBTI ไม่เสถียรอย่างแรง คนเดิมทำแบบทดสอบได้หลายครั้งและได้ผลลัพธ์ที่ต่างไป และการที่นักจิตวิทยาจะทำนายพฤติกรรมของคนคนหนึ่งได้ก็ต้องดูที่บุคลิกภาพของบุคคลนั้น ประกอบกับดูสถานการณ์และบริบทแวดล้อมด้วย

ในการศึกษาของ Varda Liberman อาจารย์ที่ศึกษาพฤติกรรมในการตัดสินใจแห่ง Arison School of Business ที่ Reichman University ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเล่นเกมความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma) กติกาคือ ผู้เล่นสองคนต้องเล่นเกมกัน แต่ละรอบต้องเลือกว่าจะปิดปากเงียบหรือปากโป้งชี้ตัวผู้เล่นอีกคนว่ามีเอี่ยวในอาชญากรรม ถ้าเลือกปิดปากเงียบทั้งคู่ก็จะได้รับรางวัล ถ้าเลือกปากโป้งทั้งคู่ก็จะเสียคะแนนกันทั้งคู่ ถ้าผู้เล่นคนหนึ่งปากโป้ง ส่วนอีกคนปิดปากเงียบ คนที่ปากโป้งจะได้คะแนน ส่วนผู้เล่นที่ปิดปากเงียบจะเสียคะแนน อาจารย์วาร์ดาเปลี่ยนชื่อเกมเป็น เกมประชาคมหรือไม่ก็เกมวอลล์สตรีท พอเรียกชื่อว่าเกมประชาคม ผู้เล่นจะสมัครสมานสามัคคีกันดี แต่พอเรียกชื่อว่าเกมวอลล์สตรีท ผู้เล่นกลับแข่งขันกันสุดลิ่มทิ่มประตู โดยไม่แยแคร์ว่าผู้เล่นอีกฝ่ายจะมองตนว่ามีบุคลิกภาพแบบชอบให้ความร่วมมือหรือเป็นพวกชอบแข่งขัน ในการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า บุคลิกภาพของคนเราเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์หรือบริบทแม้คนสองคนที่ MBTI บอกว่ามีบุคลิกภาพแบบเดียวกัน เช่น เป็น ISTJ กันทั้งคู่ ก็อาจแสดงออกกันแตกต่างสุดขั้วไปเลยแม้ในสถานการณ์เดียวกันหรือลองจับคนที่สังคมมองว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ มาทำ MBTI ก็อาจได้ผลลัพธ์เป็นบุคลิกภาพ 16 แบบตามที่ MBTI บัญญัติขึ้นมาก็เป็นได้ แต่ยังไม่เคยมีใครทำการศึกษาที่ว่านี้เลย

การที่อดัม แกรนต์ จั่วหัวว่า ‘MBTI กระแสชั่ววูบที่ไม่มีวันหายไป’ ก็มีเหตุมีผล เพราะมีกระแสเงินหมุนเวียนในธุรกิจแบบทดสอบ MBTI ปีละ 2.5 ล้านครั้งถึง 125 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ บรรดาโค้ช นักอบรม ที่ปรึกษาต่างๆได้เงินจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่บริษัทต่างๆว่าจ้างให้ไปทำเวิร์กช็อปพัฒนาบุคลิกภาพคราวละเป็นหมื่นเหรียญอีกต่างหาก

ธนพลเจอคลิปยูทูบที่พาดหัวเรื่องว่า ‘INFJ บุคลิกภาพที่หายากที่สุดในโลก’ ซึ่งมีคนคลิกดูมากถึง 11 ล้านวิว ประชากรโลก 7,700 ล้านคน มีคนที่เป็น INFJ น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ เขาลงมือทำแบบทดสอบ MBTI อีกครั้ง คราวนี้ได้ผลลัพธ์ใหม่ เขากลายเป็นคนประเภท INFJ ไปในที่สุด!! ธนพลนำผลลัพธ์นี้ไปคุยกับเพื่อนอย่างภูมิใจที่ตนเป็นคนชนิดแรร์ที่สุดในปฐพี เพียงเพื่อจะได้ยินเพื่อนตอบกลับมาว่า “เหรอ เราก็เป็น INFJ เหมือนกัน” อ่า เอ่อ ไหนว่าหายากมากไง หาเจอทันทีแล้วหนึ่ง แถมจ่ายเงินลงคอร์ส ‘ขยายศักยภาพของคุณจากบุคลิกภาพที่เป็น’ ซึ่งเว็บไซต์ที่เพิ่งทำแบบทดสอบ MBTI นำเสนอให้ไปแล้วด้วย

you might like

Scroll to Top