หลังจากมองหากระเป๋าหนังที่โดนน้ำได้ แข็งแรง สีสวย กระเป๋าทรงกล่องตอกหมุดขนาดกะทัดรัด ที่บรรยายสรรพคุณว่าทำจากเศษหนังวัวรีไซเคิล 100% ก็มาวิน และเมื่อสั่งซื้อเสร็จเรียบร้อยก็ได้รับข้อความที่ว่า
ขอบพระคุณที่สนับสนุนสินค้าโดยคนไทยนะคะ เราได้ให้ชาวบ้านงานฝีมือต่างจังหวัดและในกทม. เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานออกมาค่ะ เป็นกระจายรายได้ ในเมืองและในชุมชน สร้างงานสร้างอาชีพ ลูกๆช่างทุกครอบครัวได้เรียนหนังสือ มีข้าวกินทุกมื้อ แม้ในช่วงที่ยากเย็น เราก็ไม่ทิ้งกัน
ทุกคนมีอาชีพมีงาน ธาอีสจ่ายราคาแบบเป็นธรรม ธาอีสมีของขาย เราได้ขายของ สินค้าและวัสดุเป็นวัสดุที่มาจากรีไซเคิล ที่เราผลิตเองตั้งแต่นำวัสดุมาทำความสะอาด จนเข้าสู่กระบวนการที่เป็นนวัตกรรมทำเองของคนไทยจะสร้างคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ทุกคนต้องก้าวไปด้วยกันและต้องไม่มีใครถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง Quality of life, no one left behind’
นั่นทำให้เราต้องพินิจพิเคราะห์กระเป๋าที่อยู่ในมือใหม่อีกครั้ง อย่างชื่นชมและอย่างภาคภูมิใจที่ได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อ People และ Planet ทั้งยังช่วยให้แบรนด์อิสระเล็กๆได้มี Profit ให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อไปในนาม THAIS – ธาอีส
เศษหนังที่เสียไป
ในแต่ละปี โรงงานตัดเย็บเครื่องหนังในเมืองไทยมีเศษหนังที่กลายเป็นขยะมากถึง 10,000 ตัน หากนำมากองแนวตั้งก็จะเท่ากับตึกมหานคร 6 ตึก เมื่อวางแนวนอนจะเท่ากับสนามฟุตบอล 12 สนาม
เศษหนังเหล่านี้บางโรงงานจะจำกัดด้วยการเผา แต่โดยมาก-ซึ่งมากถึง 90% จะว่าจ้างบริษัทกำจัดขยะกิโลตันละ 6,000 กว่าบาทหรือปีละ 36 ล้านบาทให้ขนส่งเศษหนังไปฝังกลบยังบ่อขยะ แต่แม้จะเผาหรือฝังกลบ มลพิษก็ไม่ได้หายไปไหน แต่แปรรูปจากเศษหนังไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเท่ากับการขับรถจากเชียงรายไปเบตง 63,616 รอบหรือเท่ากับการชาร์จโทรศัพท์เกือบ 400,000 ล้านเครื่อง
นั่นคือราคาที่มนุษย์ต้องจ่ายไปให้กับสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ลง
นวัตกรรมที่ได้จากปัญหา
แบรนด์ THAIS โดยคุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูลและคุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล ใช้วิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ คือแทนที่จะคิดว่าจะทำโปรดักส์อะไร แต่เริ่มต้นธุรกิจจากการมองเห็นปัญหาหรือ pain point และหาทางแก้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับว่าจะมีตลาดรองรับสินค้าหรือบริการนั้นๆ
Pain point ที่ THAIS พบก็คือเศษหนังซึ่งเดิมทีเป็นของดีมีมูลค่าสูงแต่กลายเป็นขยะไร้ค่า อีกทั้งเป็นภาระที่มีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับโรงงานตัดเย็บเครื่องหนัง ที่สำคัญคนรุ่นใหม่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน (Sustainability) มากกว่าจะมองที่ดีไซน์สวยงามดีมีคุณภาพเท่านั้น
THAIS ทำการทดลองเองจนสำเร็จเป็น Regenesis Process นวัตกรรมรีไซเคิลเศษหนังที่จดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา ด้วยเพราะเป็นนวัตกรรมแรกที่ไม่ซ้ำแบบใคร และคว้ารางวัลระดับโลกจาก UNIDO หรือองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมอบรางวัลทุกๆ 4 ปี จาก 12 ปีที่ผ่านมามีบริษัท 3 แห่งในโลกที่ได้รางวัลนี้ และ THAIS เป็นบริษัทไทยแห่งเดียวที่เป็นผู้ชนะ
นวัตกรรมของ THAIS สามารถรีไซเคิลเศษหนังให้นำกลับใช้ใหม่ได้ 100% ในกระบวนการรีไซเคิลใช้สารเคมี 0% ลดการใช้ไฟฟ้า 50% โดยนำไปแปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น กระเป๋า แผ่นหนังบุเฟอร์นิเจอร์ แผ่นรองจาน เคสใส่แก็ดเจ็ทหรือแม้กระทั่งตกแต่งบ้านได้เพราะหนังนวัตกรรมนี้มีลวดลายและสีสันแปลกตา
แบรนด์หนังที่ดีต่อเราและโลก
นวัตกรรม Regenesis Process ตอบโจทย์เป้าหมายหลักของแบรนด์ที่ช่วยลดการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 60 ตัน เท่ากับแผ่นหนังมูลค่ากว่า 36 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการฝังกลบเศษหนัง 187 ตัน เทียบเท่ากับการขับรถจากเชียงรายไปเบตง 80 รอบ และช่วยประหยัดค่าจ้างขนส่งเศษหนังไปกำจัดทิ้งให้กับผู้ประกอบการโรงงานตัดเย็บเครื่องหนังได้ราวๆ 700,000 บาท ช่วยลดขยะเศษหนัง 60 ตัน ลดน้ำปนเปื้อนสารพิษ 7,000 ลูกบาศก์เมตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 132 ตันและลดการปล่อยก๊าซมีเทน 48 ตัน
THAIS แปรรูปหนังรีไซเคิลให้เป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ ซึ่งส่งไปให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งช่วยกระจายรายได้สร้างอาชีพเสริมให้กับผู้คนกว่า 70 ครอบครัวอีกด้วย
ข้อมูลผลกระทบทางบวกต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ คุณหาอ่านได้จากเว็บไซต์ของแบรนด์ แต่ข้อความที่บอกว่ากระเป๋าในมือคุณทำจากสองมือของผู้คนในชุมชนต่างๆจะถูกส่งให้ลูกค้าหลังจากโอนเงินจ่ายค่ากระเป๋าแล้วเท่านั้น เพราะทางแบรนด์ไม่ขอใช้กลยุทธ์ ‘สงเคราะห์เพราะสงสาร’ โดยที่คนซื้ออาจไม่ได้ต้องการสินค้าจริงๆ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่อาจอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าทำผลิตภัณฑ์ที่คนซื้ออยากได้ไปใช้งานจริงๆหรือช่วยแก้ pain point ของคนได้ จะนำไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนแท้จริง
จุดขายที่ทำให้ THAIS ครองใจองค์กรต่างๆที่มองหาของพรีเมียมสุดยูนิกและคนที่มองหากระเป๋าดีไซน์เรียบฟังก์ชั่นเพียบก็คือราคาที่เข้าถึงได้ซึ่งอยู่ในหลักพันกลางๆเท่านั้น เพราะทางแบรนด์ตั้งใจส่งงานให้กับวิสาหกิจชุมชนทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตกรที่มีช่วงว่างหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ดีไซน์ของกระเป๋าจึงเป็นแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน หากทำดีไซน์หรูหราแบบกระเป๋าแบรนด์เนมก็ต้องไปจ้างช่างฝีมือเฉพาะทาง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่ทางแบรนด์อยากกระจายรายได้ให้กับชุมชน
กลยุทธ์นี้คือการ ‘แบ่งกันกินแบ่งกันใช้’ ชุมชนช่วยสร้างชิ้นงานให้แบรนด์ได้มีสินค้าราคาจับต้องไปขาย ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นพาร์ทเนอร์กัน ดังเช่นวลีสุดท้ายในข้อความที่ส่งให้กับลูกค้าหลังโอนเงินเป็นเจ้าของกระเป๋าแล้วว่า
‘Quality of life, no one left behind’
ที่มา: https://www.thais-ecoleathers.com