‘จรรยาพร สกุลกิตติธำรง’ สร้างโรงแรมไทยรีวิวปัง Grand Howard Hotel ชนเชนใหญ่ระดับโลก

ท่ามกลางโรงแรมเชนดังเงินทุนหนาจากต่างชาติในย่านสาทร-พระราม 3 มีโรงแรมสัญชาติไทยที่ไม่ได้มาจากเชนใหญ่ใดๆ มีเจ้าของและผู้บริหารเป็นคนไทย Grand Howard Hotel

ระหว่างที่รอผู้บริหารชาวไทยที่ว่านั้นที่ล็อบบี้โรงแรม ภายในเวลาไม่กี่นาที เรานับแขกที่มาเช็กอิน-เช็กเอาต์ได้นับร้อยชีวิตจนเผลอคิดไปว่า ที่นี่มีโปรโมชันแจกห้องพักฟรีหรืออย่างไร ทำไมแขกมาใช้บริการจนพนักงานเวียนเฮดได้ขนาดนี้

คำตอบทั้งหลายคงต้องไปถามกับ ‘จรรยาพร สกุลกิตติธำรง’ ผู้บริหารที่ปลุกปั้นโรงแรมอิสระอย่างหาญกล้าท้าชนกับเชนใหญ่ระดับโลกได้

ทำไมถึงเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมทั้งที่ไม่เคยทำและไม่มีใครเรียนการโรงแรมมาก่อน

ย้อนกลับไปช่วงปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยํากุ้ง ญาติๆของเราจำนวนไม่น้อยที่ธุรกิจเจ๊งชนิดที่ต้องใช้คําว่ากลับมาไม่ได้ หลายกิจการที่ไม่ได้ระแวดระวังถึงวิกฤตค่าเงินตายกันหมดล้มตายกันในช่วงนั้น ความเจ๊งเกิดจากค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงต้มยํากุ้งที่ค่าเงินบาทลอยตัว หลายคนไปกู้เงินดอลลาร์มา เมื่อดอลลาร์ลอยตัว หนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ธุรกิจของญาติๆ ตายกันไปเยอะ ขณะที่ครอบครัวเรายังอยู่ได้ แต่ก็เริ่มไม่มั่นใจว่าธุรกิจเสื้อผ้าที่ทำอยู่จะไปต่อได้อีกนานแค่ไหน ก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง แม่มีที่ดินอยู่ผืนหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นตัดเป็นถนนเจริญราษฎร์ ด้านหน้าที่ดินเราจึงมีถนนใหญ่สวยเลย แม่จึงคิดว่าจะทำธุรกิจใหม่ สร้างอพาร์ตเมนต์ 95 ห้อง และมีทัวร์จีนมาขอเช่า

แต่…ความราบรื่นกับอุปสรรคมาพร้อมกัน?

ใช่ เราไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็จ้างคนบริหารและโดนโกงไปเยอะ เป็นการโกงเบสิกในบริษัททั่วไปที่จะตอดเล็กตอดน้อยทุกอย่าง เช่น ยักยอกเงินไปซื้อของแต่ไม่มีบิลแล้วก็ไม่มีของ บอกว่าต้องซ่อมนั่นซ่อมนี่ ตัวเราอยู่โรงแรมทุกวันนะ เขาชี้ให้ดูว่าท่อนี้ต้องซ่อม เราก็ดู แต่ดูไม่เป็นหรอก เราไม่มีความรู้จึงเชื่อเขา ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญที่ทําสายงานโรงแรมจนมีประสบการณ์เป็น 10 ปี’ แต่ทุกอย่างคือบทเรียน มันสอนเราว่าถ้าเราไม่โดนโกงก่อน เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ทุกธุรกิจ ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างราบรื่น นั่นไม่ใช่ธุรกิจละ

ปัญหาภายในก็ต้องแก้ ปัญหาภายนอกที่ควบคุมไม่ได้มีอะไรบ้าง

พอทุกอย่างทำท่าว่าจะดีก็พอดีมีม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มีม็อบไปปิดสนามบิน ตอนนั้นทัวร์จีนไม่มาเลย นักท่องเที่ยวจีนเป็นศูนย์ ยังดีที่เรามีตลาดอินเดียมาช่วยไว้ นักท่องเที่ยวอินเดียไม่กลัวม็อบ ไม่กลัวการประท้วงในประเทศ เลยกลายเป็นว่าช่วงที่ทุกคนไม่มีทัวร์ต่างชาติมาลง แต่โรงแรมเรามี

“แพสชันอย่างเดียวไปไม่รอด การที่เราจะทําอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างมากกว่าแค่อยากทำ”

หาตลาดอย่างไร

เคยได้ยินไหมคำว่า ‘ไม่มีงบประมาณการตลาด’ สมมติคุณไปทำงานบริษัท เขาจะบอกว่าผมมีบัดเจ็ตเท่านี้เท่านั้น แต่เรามีศูนย์บาท เราจึงต้องทําทุกอย่างแบบโลว์บัดเจ็ตที่สุด ทําเองแม้กระทั่งออกแบบโลโก้ ทําเว็บไซต์ ทําออนไลน์ ประชุมกับทุกแผนก แม้กระทั่งใช้เงินตัวเองก็ต้องทํา

เราเป็นเซลส์ที่วิ่งหาเอเจนต์เองมาแต่แรก ยุคเมื่อ 20 กว่าปีก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียก็ต้องไปเคาะประตูเอเจนต์ทัวร์ต่างๆ ‘สวัสดีค่ะ มาจากโรงแรมนี้นะคะ’ ซึ่งคนรุ่นนี้จะไม่ทำกันหรอก หน้าบาง ไม่เก๋ ไม่เท่ เลยกลายเป็นว่าคนยุคนี้ทําออนไลน์ได้ แต่ทําออฟไลน์ไม่เป็น แต่ก่อนเราจะไปหาลูกค้าแถวรัชดา ย่านนั้นรถติดมาก ถ้าขับรถไปจะไปหาได้แค่เจ้าหรือสองเจ้า เราจะขับรถไปจอดโรบินสันรัชดา แล้วนั่งมอเตอร์ไซค์ต่อเข้าซอยตรงเมืองไทยประกันฯ เข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตามเหม่งจ๋าย ยุคนั้นไม่มี Grab วันๆคอยมองหาเสื้อกั๊กสีส้มสีแดงตามซอยเพื่อจะไปหาเอเจนต์อีกเจ้า ยุคนั้นคนที่เป็นเซลส์โรงแรมต้องดูดี เราก็ใส่กระโปรงแคบๆขึ้นมอร์เตอร์ไซค์วิน

ไม่ได้แนะนําใช่ไหมเป็นเจ้าของ แต่แนะนําตัวว่าเป็นเซลส์

ไม่บอก ถ้าบอกว่าเป็นเจ้าของจะได้รับการปฏิบัติอีกแบบ เราต้องการจะรู้ด้วยว่าจริงๆแล้วการทําตลาดเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ถ้าเราจ้างเซลส์ จ้างคนมาทำให้ทุกอย่างก็ง่ายเลย แต่เราจะไม่ทำอะไรไม่เป็นเลยนะถ้าวันหนึ่งเขาลาออกไป ฉะนั้นเจ้าของต้องรู้ทุกส่วน และต้องรู้ให้มากกว่าที่พนักงานรู้ เราก็เลยต้องนั่งมอเตอร์ไซค์วินเข้าซอยอยู่ 4-5 ปี

แถวสาทรมีโรงแรมเยอะมาก แข่งกับคู่แข่งเชนใหญ่เงินทุนหนาอย่างไร

ไม่ใช่แค่มีคู่แข่งในย่านสาทร มีทั้งสุขุมวิทและพระราม 3 จุดเด่นของเราคือราคาไม่แพงและได้โลเคชันที่ดี รถไม่ติด และบริการดี เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นโรงแรม 5 ดาว และไม่ต้องการจะเป็นด้วย เราทำให้ตัวเองเป็น 4 ดาวเพื่อให้ราคาถูกลงมา แต่ได้บริการที่คุ้มค่า ลูกค้าจะตกใจว่าอยู่ใกล้สาทรมากแต่จ่ายในราคาเท่านี้เอง แต่ถ้าคาดหวังความหรูหราดีเลิศแบบแชงกรี-ลา คุณต้องจ่ายเพิ่มอีกหลายเท่า

โรงแรมสเกลนี้มีพนักงาน 400-500 คน มีหลักในการบริหารอย่างไร

            เราต้องดูธรรมชาติคนทำงานแต่ละคน มีความรับผิดชอบไหม ขาดงานบ่อยหรือเปล่า การควบคุมอารมณ์เป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อจะจัดวางคนให้เหมาะสมกับตําแหน่งงาน

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เรามองไม่เห็นยังมีอีกเยอะ เบื้องหลังที่บางทีพนักงานเหนื่อยก็ระบายอารมณ์ (ชี้ไปที่โต๊ะ) มีจานชามแก้วเต็มโต๊ะ บางทีเจอคนทำงานเบรกแตก เขาสะบัดผ้าคลุมโต๊ะ ของตกแตกกระจายหมด หรือในครัวงานเร่ง ขว้างมีดใส่กันเลยก็มี ซึ่งพนักงานไม่ได้มารายงานหรอก เขาอาจไปคุยกันเองอย่าไปฟ้องนาย อย่าฟ้องหัวหน้าเลย เดี๋ยวนายด่าแล้วตัวเขาเองก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย เรื่องพวกนี้มารู้ตอนที่พนักงานลาออกไปแล้วถึงมาเล่าให้ฟังทีหลัง

อะไรที่ทำให้ฝ่าความยากนานัปการมาได้

การทําธุรกิจไม่ได้ยาก แต่การจะทำให้ธุรกิจมันเดินต่อไปได้ต่างหากที่ยาก และความยากที่สุดก็คือ แม้ว่าเราจะเจอปัญหา แต่ก็ยังต้องไปต่อ บวกกับการเป็นหนี้บานตะไทก็เป็นแรงขับที่ดีมาก (ชี้ไปรอบๆโรงแรม) ครอบครัวเราขายสินทรัพย์ไปแทบทุกอย่างเพื่อจะมาลงทุนกับโรงแรมนี้ ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องกู้ธนาคารเกือบพันล้าน การแบกจึงเป็นแรงขับสำคัญ แบกภาระหนี้ แบกค่าจ้าง แบกเงินเดือนพนักงาน ซึ่งคนไทยถูกสอนมาให้กลัวเป็นหนี้ แต่จริงๆการเป็นหนี้จะทําให้คุณขยัน และสร้างสินทรัพย์ให้คุณได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องมองให้ออกว่าตลาดนั้นมันจะไปได้หรือเปล่า ถ้าไปได้ก็ลุยเลย เป็นหนี้ก็ไม่กลัว

ตอนที่มาจับงานโรงแรม เราอายุไม่ถึง 30 เรามีแรง แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปทําแบบนั้นอีกก็ทําไม่ไหวหรอก แต่สิ่งเหล่านั้นสอนว่าเราต้องดิ้นรนตอนที่เรายังมีแรง ทุกวันนี้ที่เห็นโรงแรมไปได้ดี ก็เหมือนเป็นกําลังใจเล็กๆว่าทั้งหมดที่ทุ่มเทลงไปมันเห็นผล ก็คือเรามีเงินเพียงพอในการจ่ายธนาคาร มีกำไรไปให้พ่อแม่ใช้จ่ายรายเดือน มีเงินหมุนเวียนจ่ายให้ทั้งลูกน้องและลูกค้า มันเป็นศึกในและศึกนอกที่เราต้องบาลานซ์ให้ได้

“ถ้าจ้างคนมาทำให้ทุกอย่างก็ง่ายเลย แต่เราจะไม่ทำอะไรไม่เป็นถ้าวันหนึ่งเขาลาออกไป”

การจะสิ่งใดให้สำเร็จได้ ต้องใช้แพสชันหรือเปล่า

มีได้นะ ธุรกิจคุณจะไม่ตายหรอก แต่จะไม่โต เพราะแพสชันอย่างเดียวไปไม่รอดในความเป็นจริงของชีวิต การที่เราจะทําอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างมากกว่าแค่อยากทำ สมมติว่าคุณเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว คุณต้องตื่นเช้ามาเปิดร้าน ต้องไปซื้อของ ต้องสต๊อกของ ต้องทำอะไรอีกเยอะมาก ถ้ามีแต่แพสชัน สุดท้ายมันจะไปไม่ถึงฝั่ง เพราะเราจะมีอารมณ์อยากทำแค่ช่วงต้น พอไม่สนุกก็ไม่อยากทำต่อแล้ว

ในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ทำงานของลูกจ้างมาแล้วทุกอย่าง มีคำแนะนำอะไรให้คนทำงานบ้าง

หนึ่ง สร้างคุณค่าและมูลค่าให้ตัวเอง ตอนที่เริ่มทำโรงแรมนี้ เรามีงบการตลาดศูนย์บาท คำถามคือจะเอาทุนมาจากไหน ก็ตัวเรานี่ละคือทุน เราหัดทำอิลลัส ทำโฟโต้ช็อป ให้คนมาสอนเบสิกให้พอทำเองเป็น นั่งวินไปหาลูกค้าเอง ฉะนั้น เราต้องสร้าง value ให้ตัวเองด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

สอง อย่าเลือกงานใน 2-3 ปีแรก ทํางานอะไรก็ได้เพื่อฝึกตัวเอง และคอยสังเกตว่าเจ้าของบริษัททำอะไรบ้าง เขาทำทุกอย่างเลยไหมตั้งแต่เปิดประตูหน้าบริษัท ออกไปส่งของ กลับมาทําบิลส่งให้ลูกค้า รับสายโทรศัพท์ ฯลฯ เพื่อดูว่าการทำธุรกิจต้องทำอะไรบ้าง และถ้าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเองจริงๆ ก็ต้องหาธุรกิจที่ชอบ ถ้าเราชอบทำสิ่งนั้นด้วย เราจะมีแรงทำ และต้องหาจุดเด่นของสินค้าหรือบริการของเราให้ได้

สาม อย่ามีทักษะแค่อย่างเดียว เพราะไม่แน่ว่างานที่คุณทำอาจมีเอไอเข้ามาแทนที่ และมันน่ากลัวสำหรับคนทำงานตรงที่เอไอไม่บ่น ไม่ลา ไม่มาสาย ไม่มีสวัสดิการ ทำงานได้ 24 ชั่วโมง สมมติว่าคุณเป็นมาร์เก็ตติ้ง แล้วเจ้านายบอกว่าไปช่วยดูแผนกเดลิเวอรีส่งของหน่อย คุณบอกว่าไม่ได้อยู่ใน job description หรือนายบอกว่าชงกาแฟให้หน่อย คุณบอกไม่ใช่หน้าที่ แต่รู้ไหมว่าการที่คุณไปชงกาแฟให้หรือทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่คุณ บางทีเจ้านายอาจจะมองเห็นอะไรในตัวคุณก็ได้ว่าคนคนนี้ไม่ดูถูกงาน คุณต้องทํางานเล็กงานน้อยให้ได้ มันคือการทดสอบด้านอื่นในตัวคุณ แต่อย่าทําด้วยความเฟค อยากประจบสอพลอ ให้ทำทุกอย่างด้วยความจริงใจ

สี่ อย่าด่าบริษัท อย่านินทาเจ้านาย ไม่ชอบก็อย่าทํา ลาออกไปเถอะ เพราะสุดท้ายมันบั่นทอนตัวคุณเอง สุดท้ายคุณจะไม่ตั้งใจทํางาน และองค์กรก็จะเสียหายไปด้วย

“คุณต้องทํางานเล็กงานน้อยให้ได้ มันคือการทดสอบด้านอื่นในตัวคุณ แต่อย่าทําด้วยความเฟค”

ห้า ศึกษาเรื่องการเงิน สิ่งสำคัญคืออย่าเก็บออมเป็นเงินสด เพราะเงินด้อยค่าลงทุกปีจากเงินเฟ้อ สมัยก่อน เงิน 100 บาท กินข้าวได้ 4 จาน แต่วันนี้ซื้อข้าวได้ไม่ถึง 2 จานเลย เงินในกระเป๋าที่เราหาได้ 100 บาท จริงๆแล้วเราใช้ได้แค่ 70 บาทเท่านั้น

คำแนะนำคือให้เก็บเป็นสิ่งที่มูลค่าจะไม่ลดลงไป คนรุ่นพ่อแม่เราเก็บเป็นทองและที่ดิน อย่างที่แปลงนี้ที่แม่ซื้อเก็บไว้เมื่อนานมาแล้ว ถ้ามาซื้อทีหลัง ไม่มีทางซื้อได้แน่นอน เฉพาะที่ดินอย่างเดียวก็เป็นร้อยล้าน ถ้ารวมค่าสิ่งก่อสร้าง ที่นี่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านแล้ว พอเรามองไปถึงอนาคตว่าอสังหาฯ มีแต่จะเพิ่ม ไม่มีลดลง เราถึงได้ยอมเหนื่อยผลักดันโงแรมนี้ มันก็เพื่อสร้างอนาคตให้ตัวเองไปด้วย

อย่าใช้คําว่า ‘ลงทุน’ คำนี้เหมือนว่าเราต้องไปซื้อ-ขาย แต่คุณต้องเก็บลืมไปเลย เหมือนวิธีเก็บเงินแบบบ้านๆ เก็บแบงค์ 50 ใส่กล่องไว้ หลายปีผ่านไปมาเปิดดู มีเงินเป็นล้านได้นะ แต่เราไม่เก็บเป็นเงินสดดีไหม เพราะเงินเฟ้อ เราเก็บเป็นทองดีกว่า หรือถ้าพ่อแม่มีที่ดินอยู่ต่างจังหวัด อย่าขายนะ สิ่งเหล่านี้มันเพิ่มมูลค่าได้

และอย่าคิดว่าจะใช้เงินซื้อภาพลักษณ์ พวกกระเป๋า นาฬิกา ของแบรนด์เนมอะไรต่างๆ ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย ถ้าสังคมรอบตัวคุณให้ค่าเรื่องพวกนี้ก็ยากหน่อย แต่คุณต้องฝ่ากระแสโลกในเรื่องนี้ไปให้ได้ เอาจริงๆแล้วไม่มีใครสนใจหรอกว่าเราแต่งตัวอย่างไร ใช้แบรนด์อะไร เราคิดไปเองว่าของมันต้องมี จึงเป็นปัญหาว่าสิ่งที่คนเก็บกันทุกวันนี้ มูลค่ามันลดลงไปเรื่อยๆทุกอย่าง เช่น ซื้อรถ มันก็ลดสมชื่อ แต่คนก็ชอบซื้อกัน เพราะรู้สึกว่ามันเติมเต็มอะไรบางอย่างในใจได้

เรื่องหลักๆมีเท่านี้ แต่แค่นี้ก็ยากแล้วนะสําหรับคนยุคใหม่

Words: Suphakdipa Poolsap

Photos: Courtesy of Grand Howard Hotel, BKK

you might like

Scroll to Top