ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง ซีอีโอ รีนิว อินโนเวชั่นส์ ผู้คิดค้นนวัตกรรมปกป้องประวัติศาสตร์

หลายคนบอกว่าปัญหาของประเทศไทย คือเศรษฐกิจที่โตน้อย เพราะติดกับดับรายได้ปานกลาง ต้องก้าวข้ามไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยมีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาการต่อยอดงานวิจัยจาก “หิ้งไปสู่ห้าง” แต่ปัจจุบันปัญหาเริ่มคลี่คลาย เพราะมีนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มองเห็นโอกาสสร้างธุรกิจจากงานวิจัยได้

อย่างดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีนิว อินโนเวชันส์ จำกัด หรือ Renew สตาร์ทอัพ Deep Tech สายไบโอเทคสัญชาติไทย ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ “เซลลูเนท” หรือ “CELLUNATE™” นวัตกรรมที่ช่วยปกป้องประวัติศาสตร์

“ที่มาของ เซลลูเนท เป็นงานวิจัยตอนเรียนปริญญาเอก ที่ประเทศออสเตรีย ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาวัสดุเพื่อการปกป้องรักษากระดาษเก่า ซึ่งที่ออสเตรีย มีเอกสารมีคุณค่าประวัติศาสตร์จำนวนมาก และย่อยสลายไปตามกาลเวลา  พอกลับมาเมืองไทย จึงมีความคิดที่จะนำองค์ความรู้ของตัวเองมาใช้ประโยชน์มาใช้ในประเทศไทย” ดร.ลัญจกรกล่าวถึงที่มาของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเทคโนโลยีน้ำยาเคลือบกระดาษนาโน หรือ Nano Coating

ขยายธุรกิจในไทยต่อยอดสู่บรรจุภัณฑ์

ดร.ลัญจกร กล่าวว่า “CELLUNATE™ ผลิตจากธรรมชาติ ทั้งจากเส้นใยพืชและแหล่งสารชีวภาพอย่างเปลือกหอย ออร์แกนิค 100%ไปต่อยอดพัฒนาด้วยวิทยสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ สกัดจากสารธรรมชาติ สามารถช่วยปกป้องงานศิลปะโดยเฉพาะภาพวาด และ 2. Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษ สามารถช่วยยืดอายุหนังสือและกระดาษได้ 15 – 20 ปี ต่อการใช้งาน

สำหรับแนวคิดแรกของผลิตภัณฑ์ ReNew มีเป้าหมายคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของโลก ในเชิงของการอนุรักษ์กระดาษ ผ้า เพื่อไม่ให้เสียหาย เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน ยังขาดวิธีปกป้องและดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถต่อยอดพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายรูปแบบเพื่อให้จับตลาดหลายกลุ่มขึ้น ต่อมาเริ่มเห็นโอกาสว่านวัตกรรมของเราสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สารเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนพลาสติกจึงมีเป้าหมายต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร และ  ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในตลาด B2C และตลาด B2B เพื่อขยายตลาดออกไปมากขึ้น โดยวางจำหน่ายทั้งทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์  ปัจจุบัน ReNew จำหน่ายทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานราชการที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการเก็บรักษาศิลปะ หนังสือ หรือเอกสาร เช่น หอสมุดกลาง และหอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ เป็นต้น โดยวางแผนการตลาดนำผลิตภัณฑ์บุกตลาด B2B อย่างหอสมุดมหาวิทยาลัย หอหนังสือ หอศิลป์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งรุกตลาด B2C เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักงานศิลปะ สะสมหนังสือหรือเอกสารเก่าที่ทรงคุณค่า

นอกจากนี้ ReNew กำลังอยู่ในกระบวนการทำการวิจัยและพัฒนาไบโอโพลิเมอร์จากขยะชีวภาพ ทดแทนการนำเข้าไบโอโพลิเมอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ ReNew สามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้มหาศาล ช่วยให้สามารถเร่งการขยายธุรกิจให้ก้าวกระโดด หรือแบบทวีคูณ (Exponential growth) และมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความต้องใช้ Nano Coating รวมทั้งนำไปใช้ทดแทนการเคลือบด้วยพลาสติกในหลายอุตสาหกรรม โดย ReNew ตั้งเป้าสร้างรายได้จากธุรกิจไบโอเทค 800 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

“ปัจจุบันการปฏิวัติทางชีวภาพ หรือ Bio Revolution เป็น 1 ใน 10 เทรนด์เทคโนโลยีดาวรุ่งแห่งทศวรรษหน้า เนื่องจากวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  (Biological science) จะมีอิทธิพลอย่างมากกับเศรษฐกิจและใช้ชีวิตของผู้คน” ดร.ลัญจกรระบุ ซึ่งสตาร์ทอัพกลุ่ม Deep Tech แม้จะใช้เวลาในการพัฒนา แต่มีโอกาสทางการตลาดสูง เพราะคู่แข่งขันน้อย

ปรับแนวคิดสู่ผู้ประกอบการ

ดร.ลัญจกร กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักวิจัยไม่ค่อยได้คิดต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การค้า งานวิจัยจึงอยู่บนหิ้งเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน มีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ให้นักวิจัยเป็นสตาร์ทอัพ จัดการแข่งขัน เวิร์คช้อป สร้างความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอดงานวิจัยมาสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้

“นักวิจัยต้องมีมายด์เซ็ทในการเป็นผู้ประกอบการ ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัด ต้องมีกลไกเอื้อต่อการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย เช่น การเข้ามาถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้นักวิจัยผลักดันงานออกมาให้เต็มที่” ดร.ลัญจกรกล่าว

สำหรับ 5 ปีแรก ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Renewมุ่งทำการตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีแผนระดมทุนเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีแผนผลักดันออกสู่ตลาดโลกด้วย เพราะตลาดบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก จากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในต่างประเทศอาจจะอยู่ในรูปแบบของการขายไลเซ่นส์ให้กับพันธมิตร จะสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของนักวิจัยที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมจากหิ้งลงมาสู่ห้างได้ และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน จัดอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพ Deep Tech ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตจากฐานนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

you might like

Scroll to Top