‘ทูตน้ำ’ อาชีพที่มีคนเดียวในโลกของเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล แต่น้ำไม่ท่วม

Henk Ovink ทำอาชีพที่ไม่เหมือนใครในโลก อดีตผู้อำนวยการกรมโยธาธิการ ผังเมือง และสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็น ‘ทูตน้ำ’ คนแรกของโลก

ทูตน้ำทำหน้าที่อะไร และไทยอาจเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอาชีพที่มีหนึ่งเดียวในโลก The Optimized ชวนไปหาคำตอบกัน

เนเธอร์แลนด์คือหนึ่งในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนน้ำท่วมมากที่สุดในโลก ดังที่เฮงค์ โอวิงค์ กล่าวว่า พื้นที่เกือบทั้งประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อันที่จริงเนเธอร์แลนด์ต้องจมน้ำกลายเป็นชาติที่สูญหายไปตั้งแต่โดนน้ำท่วมใหญ่ถึง 5.6 เมตรในปี 1953 แล้ว แต่ผู้คนและสิ่งมีชีวิตได้อยู่บนพื้นที่แห้งๆ และเนเธอร์แลนด์กลายเป็นมหาอำนาจด้านบริหารจัดการน้ำอันดับหนึ่งของโลก

ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกายังไม่ทันฟื้นตัวดีจากความเสียหายของพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาในปี 2005 ก็โดนเฮอร์ริเคนอีกหลายลูกถล่มซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นแซนดี้ในปี 2012 ฮาร์วีย์และมาเรียในปี 2017 ไปจนถึงฟลอเรนซ์ในปี 2018 ซึ่งเจ้าพายุลูกหลังนี้พัดพาฝนตกหนักสูงกว่า 89 เซนติเมตรในรัฐนอร์ธแคโรไลนา ผู้คนนับล้านต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย อาชีพ และชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก ขณะที่รัฐบาลสหรัฐต้องจ่ายค่าฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เฮงค์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำแถวหน้าของเนเธอร์แลนด์ถูกเทียบเชิญจากรัฐบาลของบารัก โอบามาให้ไปช่วยวางแผนป้องกันและสร้างเมืองใหม่หลังจากเฮอร์ริเคนแคทรินาถล่มนิวออร์ลีนส์ในปี 2005 ก่อความเสียหายกว่า 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนประชากรของนิวออร์ลีนส์ลดลง 29% ในช่วงปี 2005 – 2011 เนื่องจากชาวเมืองย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น

เฮงค์กล่าวว่า หายนะจากน้ำเปรียบเสมือนการได้เอกซเรย์ประเทศว่ามีส่วนไหนบ้างที่เปราะบาง จึงเป็นโอกาสให้เราได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เฮงค์ในฐานะ ‘ทูตน้ำ’ ตำแหน่งที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ริเริ่มขึ้นครั้งแรกและยกตำแหน่งนี้ให้เฮงค์เป็นคนแรกในโลกเมื่อปี 2015 ให้ทำหน้าที่แนะนำเรื่องน้ำแก่ตัวแทนจากประเทศต่างๆ เดินทางไปเผยแผ่ความรู้ด้านการจัดการน้ำท่วมยังเมืองต่างๆ ทั่วโลกราวกับมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนา

เฮงค์ให้คำแนะนำรัฐบาลสหรัฐไปว่า เราไม่อาจป้องกันไม่ให้พายุเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถลดผลกระทบที่เกิดจากพายุได้ด้วยการเตรียมความพร้อม

เฮงค์พาเดินทางไปดูการเตรียมความพร้อมของเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่เต็มไปด้วยแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ห้วย หนอง บึงรวมกันเป็นระยะทาง 6,101 กิโลเมตร ทั้งยังโอบล้อมด้วยทะเลเหนือ ทว่าเนเธอร์แลนด์คือประเทศฝีมือมนุษย์สร้าง ทุกพื้นที่คือผลงานทางวิศวกรรม ซึ่งรัฐบาลทุ่มงบประมาณปีละหลายพันล้านเหรียญไปกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำท่วม

Photo: www.rijkswaterstaat.nl

หนึ่งในนั้นคือ ‘มือคู่ยักษ์’ หน้าตาเหมือนหอไอเฟลในแนวนอนที่ชื่อว่า Maeslant Barrier โดยมือแต่ละข้างกว้าง 210 เมตร สูง 22 เมตร ลึก 15 ทำหน้าที่เป็นปราการกั้นคลื่นพายุซัดฝั่ง โดยมือสองข้างจะปิดเองอัตโนมัติเมื่อข้อมูลคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงกว่า 3 เมตร จึงเป็นวัตถุเคลื่อนไหวได้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยปกป้อง Europoort (หรือท่าเรือรอตเตอร์ดัม) หนึ่งในท่าเรือใหญ่ที่สุดในโลก และจังหวัดเซาท์ฮอลล์แลนด์ เมืองที่เปราะบางที่สุดจากน้ำท่วม นับตั้งแต่ก่อสร้างในปี 1991 แล้วเสร็จในปี 1997 โดยใช้ทุนสร้าง 450 ล้านยูโรในเวลานั้น

ถามว่าลงทุนไป 16,500 ล้านบาทแล้วได้ใช้งานกี่ครั้ง?

Maeslant Barrier ปิดเองอัตโนมัติเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีนับแต่ก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2023 หลังจากพายุเปียถล่มเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ตอนเหนือของเยอรมัน ตอนใต้ของสแกนดิเนเวียและสหราชอาณาจักร จนระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติเกิน 3 เมตร

ถามต่อว่าคุ้มหรือไม่ที่ลงทุนขนาดนี้แล้วได้ใช้งานแค่ครั้งเดียว

เฮงค์ตอบว่า แล้วพายุแคทริน่าถล่มนิวออร์ลีนส์ในปี 2005 ลูกเดียว สร้างความเสียหายไป 160 ล้านเหรียญสหรัฐ เฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มนิวยอร์กในปี 2012 ซัดไปอีก 65 ล้านเหรียญ ยังไม่นับถึงชีวิตผู้คนอีกมากมาย แต่ที่เนเธอร์แลนด์ไม่มีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เลยมาตั้งแต่ปี 1953 จึงเป็นคำถามที่ไม่ต้องตอบว่า “คุ้มหรือเปล่า”

หลังได้รับบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ในปี 1953 ที่มีผู้คนเสียชีวิตไป 2,000 ราย วิศวกรชาวดัตช์จึงคำนวณว่าต้องสร้างพนังกั้นน้ำและเขื่อนให้แข็งแรงมากเพียงไรจึงจะทานทนต่อพายุที่ร้ายแรงที่สุดได้ เมืองรอตเตอร์ดัมซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญจึงเป็นด่านหน้าของการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น

Photo: Urbanisten

Benthemplein จัตุรัสและสนามบาสเกตบอลที่ออกแบบให้อยู่ลึกลงไปจากระดับถนนจะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมได้ 1.7 ล้านลิตร

Photo: Luuk Kramer, Onsite Photography

ส่วนเนินทรายมนุษย์สร้างดูเผินๆ เหมือนสวนสาธาณะแนวทุ่งหญ้าสวยๆ ขนานไปตามชายฝั่งทะเลเหนือในเมือง Katwijk aan Zee แต่จริงๆ แล้วถูกสร้างให้เนินสูงกว่าระดับน้ำทะเล 7.6 เมตรเป็นปราการป้องกันคลื่นพายุซัดชายฝั่ง ส่วนใต้เนินคือลานจอดรถขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลหลายสนามรวมกันที่จอดรถได้ 663 คัน เป็นการผสมผสานดีไซน์และการใช้งานให้อยู่ด้วยกันได้

เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนสถานะจากการรับมือน้ำท่วมไปเป็นการควบคุมน้ำท่วม จึงต้องหาพื้นที่รับน้ำ รัฐบาลต้องเจรจากับเจ้าของบ้านนับร้อยเพื่อให้ย้ายไปอยู่พื้นที่ที่สูงขึ้นและจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งทุกครัวเรือนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะรู้ดีว่าทั้งประเทศอาจต้องจมน้ำหากไม่เสียสละบ้านของตนให้เป็นพื้นที่รับน้ำ

เฮงค์ชี้ให้เห็นว่าเนเธอร์แลนด์ลงทุนทำโครงการใหญ่หลายอย่างเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ดีกว่าต้องมาจ่ายค่าเยียวยาน้ำท่วมนับแสนล้านเหรียญทุกปี

“ผมมั่นใจว่าพายุลูกหน้าต้องมาอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะมาเมื่อไร และสิ่งที่เราทำได้คือเตรียมรับมือ…มนุษย์เรามีความสามารถที่จะคิดถึงอนาคตได้ และเราควรต้องคิดถึงอนาคตว่าเป็นโอกาสให้ทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น หรือเราเลือกจะหลับตา ไม่ทำอะไร แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป

“แล้วเราก็จะได้เห็นความตายที่มากขึ้น ความสูญเสียที่มากขึ้น ทรัพย์สินเสียหายที่มากขึ้น ท้ายที่สุดฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็คือมนุษย์”   

เฮงค์ โอวิงค์ รับหน้าที่ทูตน้ำของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2015 ยาวนาน 8 ปี ก่อนจะหมดวาระ ปัจจุบันดำรวตำแหน่ง Executive Director Global Commission on the Economics of Water ส่วนรัฐบาลแต่งตั้งทูตน้ำคนที่สอง Meike van Ginneken ให้เผยแผ่องค์ความรู้เรื่องการจัดการน้ำของชาวดัตช์แก่ชาวโลกต่อไป

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

https://www.waternewseurope.com/worlds-largest-storm-surge-barrier-closes-for-first-time-during-storm/#:~:text=This%20forced%20the%20closure%20of,floodings%20from%20the%20North%20Sea

you might like

Scroll to Top