ในปี 2017 Alex Honnold ค่อยๆ ปีนป่ายไปตามหน้าผาสูงชันของ El Capitan ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตีในรัฐแคลิฟอร์เนีย หน้าผาแห่งนี้สูง 3,000 ฟุตหรือราวๆ 914.4 เมตร ก่อนจะขึ้นไปถึงยอดผาได้ – ด้วยมือเปล่า ไร้เชือก ไร้อุปกรณ์ปีนผา ไร้พาร์ตเนอร์ ซึ่งหมายความว่า หากพลาดพลั้งไป เขาจะตกลงไปตาย
เขาเป็นคนแรกในโลกที่พิชิตผาความสูงเกือบหนึ่งกิโลเมตรนี้ได้ด้วยมือเปล่า และเป็นผู้บุกเบิก Free Solo การปีนผาด้วยมือเปล่าแบบไร้อุปกรณ์
ในภายหลังเมื่อมาดู หนังสารคดีรางวัลออสการ์ปี 2019 Free Solo ที่บันทึกช่วงเวลาก่อน ขณะ และหลังพิชิตหน้าผาเอลกาปิตัน อเล็กซ์บอกว่าเขาเห็นตัวเองปีนผาด้วยมือเปล่าแล้วถึงกับเหงื่อชุ่มมือกับการกระทำอันเสี่ยงตายเช่นนั้น
แล้วอะไรที่ทำให้เขาเดินไต่เส้นความเป็นกับความตายที่แสนบางนั้น
มือและสมองของเขาคือคำตอบ
Photo: IG @alexhonnold
“นิ้วมือคุณใหญ่มากเลย”
“ครับ นิ้วผมค่อนข้างใหญ่ ก็เลยจับซอกหินแคบๆ ไม่ได้ง่ายนัก”
(แบมือให้พิธีกรจากรายการ 60 Minutes ดู)
“นิ้วคุณเป็นแบบนี้ก่อนจะเริ่มปีนผาหรือเปล่าคะ”
“ผมว่าไม่นะ ผมคิดว่าพังผืด เนื้อเยื่อ แล้วก็อะไรพวกนั้นแหละ ทำให้นิ้วผมใหญ่ขึ้น ผมคิดว่ารอยแยกของหินมาครูดนิ้วตอนปีนผาจนทำให้นิ้วผมเป็นแบบนี้”
มือของอเล็กซ์สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน จนเขาถ่ายมันดีๆ พิมพ์เป็นรูปขาย นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิ Honnold Foundation ที่ช่วยติดตั้งพลังงานหมุนเวียนให้กับคนชายขอบที่เข้าถึงแหล่งพลังงานได้ยากทั่วโลก
อเล็กซ์เริ่มปีนผาตั้งแต่ 5 ขวบ พออายุได้ 10 ขวบก็เริ่มลงแข่งปีนผาระดับประเทศและระดับนานาชาติ เขาปีนผาเต็มตัว เต็มเวลาเป็นอาชีพมา 29 ปีแล้ว
ผลสแกนสมองของอเล็กซ์ (ซ้าย) เทียบกับสมองคนทั่วไป (ขวา)
Photo: NAUTILUS
ในสารคดี Free Solo มีช่วงที่อเล็กซ์ไปสแกนสมอง และผลปรากฏว่า สมองส่วนอะมิกดาลา ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับ อารมณ์ เช่น กลัว โกรธ เศร้า เครียด หรือมีชื่อเล่นว่า สมองขี้กลัว นั้น สมองส่วนนี้ของอเล็กซ์ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดความกลัวในระดับที่ต่ำกว่าคนทั่วไป จนดูเหมือนว่า อเล็กซ์สามารถควบคุมสมองส่วนอะมิกดาลาได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรืออาจกล่าวได้ว่า เขาแทบไม่มีความกลัวอยู่เลย จึงเป็นคำอธิบายได้ว่า เหตุใดเขาจึงปีนป่ายไปตามหน้าผาสูงชันด้วยมือเปล่าโดยไม่ต้องการเชือกหรืออุปกรณ์ใดๆ ช่วยพยุงชีวิต ซึ่งหากพลาดคว้ารอยแยกของหินไม่ทัน หรือก้าวผิดจังหวะก็อาจตกลงมาตายได้
แต่อเล็กซ์มองว่า สมองของตนไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่นๆ มาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการฝึกฝนการปีนผาที่ทำให้เขาใช้สมองบางส่วนมากกว่าอาชีพอื่น ก่อนจะปีนผาครั้งใด อเล็กซ์จะสำรวจรอยแยกทุกแห่งบนหน้าผาที่เขาจะปีน คิดหาหนทางที่จะปีนได้ดีที่สุด แล้วกำหนดเส้นทางที่เขาจะปีนป่ายไป จากนั้นจะฝึกซ้อมด้วยการจินตนาการภาพในหัวเป็นเวลานานหลายเดือน เขาจึงปีนผาด้วยการจดจำตำแหน่งการปีนเหมือนที่นักเต้นจดจำท่าเต้น ต่างกันตรงที่หากแดนเซอร์เต้นผิดจังหวะก็อาจเต้นใหม่ได้ แต่หากเขาปีนผิดตำแหน่งก็อาจร่วงลงไปตายได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเขาปราศจากความกลัว แต่เขาเตรียมตัวมาดีพร้อมก่อนจะก้าวออกไปเสี่ยงตายต่างหาก
Free Solo จึงไม่ใช่เรื่องของนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมผู้บ้าบิ่น ที่เดินดุ่มๆ ขึ้นไปปีนป่ายตามหน้าผาที่สูงชันที่สุด น่าหวาดเสียวเสี่ยงตายที่สุด เพื่อความสะใจของตนเองหรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ
Photo: IG @alexhonnold
สำหรับอเล็กซ์แล้ว การพิชิตหน้าผาที่ยังไม่มีใครทำได้ คือการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของมนุษย์ เหมือนที่นักสำรวจในยุคโบราณออกเรือไปสำรวจดินแดนใหม่ที่ยังไม่มีอยู่บนแผนที่ มันคือความรักในการสำรวจล้วนๆ ไม่มีวาระแฝงเร้นอื่น
และแน่นอน เขาเคยรู้สึกกลัวจับใจขณะปีนป่ายไปตามหน้าผา เขากลัวว่าอุปกรณ์ปีนผาจะร่วงหล่น เชือกอาจจะขาด หรือในยามทำ Free Solo ก็กลัวว่าตนจะก้าวพลาด มีครั้งหนึ่งที่เขาปีนผาด้วยมือเปล่า และจู่ๆ อาการแพนิกก็เข้าจู่โจม เมื่อเขาหายใจผิดจังหวะและรีบมากเกินไปจนทำให้ก้าวเท้าเร็วกว่าที่เคยฝึกซ้อมมา เขาเกิดกลัวขึ้นมาเพราะรู้ว่าตนทำผิดแผนการซ้อม แต่เมื่อห้อยโหนอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย อเล็กซ์นิยามสถานการณ์นี้ต่างจากคนทั่วไป
นักปีนผาด้วยมือเปล่าจัดการความกลัวอย่างไร
#1 รวบรวมสติ
อันดับแรก เขาทำเหมือนคนอื่นๆ คือพยายามหายใจเข้าลึกๆ รวบรวมสติ ทำให้ตัวเองใจเย็นและสงบลง แต่เพราะเขาคุ้นชินกับการรับมือความกลัวมากๆ เพราะเอาตัวเองไปเจอกับสถานการณ์เสี่ยงตายมาเกือบ 30 ปีต่อเนื่องกัน ทำให้เขามองว่าเป็นสถานการณ์ที่จัดการได้ ระดับความกลัวจึงลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
# เป็นโค้ชให้ตัวเอง
หนึ่งในวิธีรับมือกับความกลัวของอเล็กซ์คือ เขาจะพูดกับตัวเองด้วยการเรียกตัวเองว่า ‘you’ แทนที่จะใช้สรรพนามว่า ‘I’ “นายทำได้ ใจเย็นๆนะ นายซ้อมมาดีแล้ว แค่กลับไปตามเส้นทางเดิมที่ซ้อมมา นายจะผ่านมันไปได้ ไม่มีอะไรต้องกลัว” การเรียกตัวเองว่า ‘you’ เป็นการรักษาระยะห่างจากตัวตน เขาจึงกลายเป็นเหมือนโค้ชที่คอยแนะนำนักกีฬาชื่ออเล็กซ์ ทำให้เขารู้สึกมั่นใจและปลอดภัยขึ้นจากการได้รับคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์
# เข้าสู่ภาวะ Flow State
หากปีนผาที่ไม่ได้ยากมาก อเล็กซ์กล่าวว่า ระหว่างปีนผา เขาจะรู้สึกผ่อนคลายมาก เหมือนกับคนวิ่งจ็อกกิ้ง แต่ถ้าเจอหน้าผาโหดๆ เส้นทางยากๆ เขาจะกลายเป็นประสบการณ์นั้น มีสมาธิจดจ่อกับการปีนมากจนเหมือนนักบวชเข้าฌาน หรือที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะ ‘flow state’ ดำดิ่งสู่สมาธิขั้นสุด เขาไม่รับรู้สภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ได้สนใจมองวิวทิวทัศน์ ไม่คิดถึงสิ่งอื่นใด กลืนกลายเป็นกับการปีนจนเป็นส่วนหนึ่งของหน้าผา และค้นพบความสงบสุขจากการปีนผา
ภาวะนี้เองที่ทำให้อเล็กซ์ปีนผาเป็นอาชีพมาตั้งแต่ 5 ขวบ จนบัดนี้อายุ 39 ปีแล้ว และได้ชื่อว่าเป็นนักปีนผาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก และแน่นอนว่าเป็นนักปีนผาด้วยมือเปล่าคนแรกของโลก
Photo: IG @alexhonnold
หลังจากหนังสารคดี Free Solo ออกฉายก็เกิดคำถามขึ้นว่า การกระทำของอเล็กซ์จะทำให้มีคนลุกขึ้นไปทำอะไรเสี่ยงตายเหมือนเขาหรือเปล่า แต่สิ่งที่ผู้ชมเดินมาบอกอเล็กซ์เวลาที่เขาเดินสายโปรโมตหนังเรื่องนี้ก็คือ “ดูหนังแล้วฉันลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองผลัดวันประกันพรุ่งมานานทันที” “ฉันลองทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำแต่ไม่เคยลงมือเสียที” อเล็กซ์กล่าวว่าไม่มีสักคนเลยที่จะเดินตามรอยเป็นนักปีนผาด้วยมือเปล่าเหมือนเขา เพราะนั่นไม่ใช่แมสเสจที่ Free Solo ทั้งในแง่ของความเป็นหนังสารคดีและอาชีพของเขาต้องการจะสื่อ
Photo: IG @alexhonnold
“มันฟังดูคลิเช่ แต่ผมคิดว่าการปีนผาสอนให้คุณฝึกตั้งเป้าหมาย มีวินัยในการทำงาน และมีความพากเพียร เวลาส่วนใหญ่ที่คุณใช้ไปกับกีฬาปีนผาก็คือความล้มเหลว คุณจะร่วงตกลงไปและต้องพยายามหาทางว่าจะทำยังไงไม่ให้ตัวเองร่วงลงไป การปีนผาจะคอยเตือนให้คุณพัฒนาตนเองไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องให้เวลาและทุ่มเทอย่างมหาศาล ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาทางแก้ได้
Photo: IG @alexhonnold
“ผมอาศัยอยู่ในรถแวนมาเป็นสิบปี ผมตั้งใจทำแบบนั้น เพราะอยากจะเป็นนักปีนผาที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมจะเป็นได้ ผมจึงไม่จำเป็นต้องครอบครองวัตถุสิ่งของ และผมก็อาจจะมีความสุขมากกว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นได้ เพราะผมได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักในระดับที่เข้มข้นที่สุด ยิ่งคุณมีข้าวของน้อย คุณจะโฟกัสได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริงๆ และนั่นเป็นสิ่งที่ดีด้วย เพราะเราอยู่อาศัยบนดาวที่มีทรัพยากรจำกัด ตอนนี้ผมมีบ้านและมีข้าวของมากขึ้นเพราะมีครอบครัว แต่ผมยังดำเนินชีวิตตามปรัชญาเดิม”
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://hbr.org/2021/05/lifes-work-an-interview-with-alex-honnold
- https://student-learning.in/2024/01/10/what-does-the-fearless-brain-of-alex-honnold-tell-us-about-our-wellbeing-and-happiness/comment-page-1/
- https://www.ted.com/podcasts/how-free-solo-climber-alex-honnold-faces-fear-transcript