รู้จักภาวะตีบตันในอาชีพผ่าน Simone Biles นักยิมนาสติกโอลิมปิกที่จู่ๆก็หลงลืมทักษะ

Simone Biles (ซีโมน ไบล์ส) จากทีมชาติสหรัฐอาจเป็นนักยิมนาสติกที่เก่งที่สุดที่โลกเคยมีมา แต่ระหว่างแข่งม้ากระโดดในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 เธอเทคตัวขึ้นไปกลางอากาศและต้องหมุนตัว 2 รอบครึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางสายตาผู้ชมนับล้านทั่วโลกก็คือ ซีโมนหมุนตัวรอบครึ่งและลงสู่พื้นแบบเจื่อนอย่างยิ่ง

ไม่กี่นาทีถัดมา ซีโมน ไบล์สประกาศถอนตัวจากทุกการแข่งขันเพื่อไปพักรักษาสิ่งที่เธอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “อาการทวิสตี้ส์” ภาวะหาที่แลนดิ้งไม่เจอ ไม่รู้จะลงพื้นยังไงดีที่พบได้ในหมู่นักยิมนาสติก

แต่ภาวะไปไม่เป็น จู่ๆก็ทำไม่เป็นในสิ่งที่เคยทำได้มาตลอดก็เกิดขึ้นได้กับ “คุณ” เช่นกัน

ภาวะถูกสาป   

อาการทวิสตี้ส์ (twisties) ที่เกิดขึ้นกับซีโมน ไบล์สนั้นมีคำอธิบายทางจิตวิทยาว่าเป็น “ภาวะสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวขณะอยู่กลางอากาศ” หรือ Proprioception ซึ่งส่งผลให้นักกีฬาพลาดท่าล้มหรือลงพื้นผิดกระบวนท่าไปหมดดังที่ Jamie Shapiro อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Denver กล่าว ซึ่งตรงกับสิ่งที่ซีโมนค้นพบเมื่อกลับมารีเพลย์วิดีโอการฝึกซ้อมของเธอในภายหลังว่า “ร่างกายกับจิตใจฉันไม่สัมพันธ์กัน”

ก่อนจะโดดเทคตัวขึ้นกลางอากาศ เธอคิดว่าเดี๋ยวต้องหมุนตัว 2 รอบครึ่ง แต่พอขึ้นไปลอยอยู่เหนือพื้นจริงๆ ร่างกายของเธอกลับชะงักค้างกะทันหันจนไม่สามารถหมุนตัวได้ดังที่ใจคิด นั่นทำให้วินาทีที่เท้าแตะพื้น ซีโมนหน้าตาเหวอ ตกตะลึง ปนช็อกอย่างใหญ่หลวงว่า ทำไมจู่ๆ ทักษะระดับนักยิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิกอย่างฉันถึงทำผลงานได้แย่อย่างกับมือใหม่

แต่นั่นละคือประเด็น จนทุกวันนี้ก็ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการทวิสตี้ส์ จะเป็นนานเท่าไร ใช้เวลารักษานานแค่ไหน แต่อาจมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าชักจะอาการไม่ค่อยดี เช่น ยุกยิกอยู่ไม่สุข กัดเล็บ เหงื่อแตก ใจเต้นรัว คิดลบ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ

Photo: Freepik

เริ่มใหม่ในก้าวเล็กๆ

ในซีรีส์ Ted Lasso ซึ่งมีตอนที่กล่าวถึงภาวะลืมทักษะในนักฟุตบอล โค้ชบอกคาถาแก้กับลูกทีมว่า “ทำตัวเป็นปลาทอง” คือวางความคิดลบหรือความคิดอื่นใดไว้ข้างสนาม แล้วเอ็นจอยกับเกมให้เต็มที่

ส่วนโค้ชอีกรายแย่กว่าคือแนะนำวิธีกระตุ้นนักกีฬาที่ทำผลงานแย่จ่อมจมแบบกู่ไม่กลับด้วยการ “เอาเช็กเงินเดือนมาล่อ” เพื่อสร้างแรงจูงใจ…เหรอ

ดร.เจมี ชาพิโร อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Denver แนะนำเทคนิคให้คุณก้าวข้ามภาวะลืมทักษะและอาการเครียดหรือความวิตกกังวลที่ถาโถมเข้ามา ดังนี้

  • เริ่มต้นใหม่จากเบสิก

เริ่มต้นฝึกฝนใหม่จากทักษะพื้นฐานง่ายๆ แล้วค่อยๆไต่ระดับไปฝึกทักษะที่ยากหรือซับซ้อนขึ้นทีละนิด เช่น ถ้าคุณมีปัญหากับท่าหมุนตัวสองรอบ ก็ให้ฝึกจากการหมุนตัวครึ่งรอบ – หมุนหนึ่งรอบ – หมุนสองรอบ – หมุนตัวสองรอบครึ่ง เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ รับรู้ได้ถึงความมั่นใจเมื่อลอยตัวกลางอากาศที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย

  • พูดคุยกับคนที่รับฟัง

หาคนที่มีทักษะในการเป็นผู้ฟังที่ดี คือฟังโดยไม่ตัดสินใจหรือไม่แม้กระทั่งให้คำแนะนำ เพียงแต่อยู่ตรงนั้นเพื่อคุณ หากคนแบบนี้หาได้ยากในชีวิต แนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ พูดถึงความเปราะบางของคุณกับคนที่พยายามจะแนะนำให้คุณทำแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ หรือแย่ที่สุดคือคนที่ตัดสินใจคุณจนทำให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิม

  • ฝึกจินตนาการภาพ

การวิชวลไลซ์หรือหัดนึกภาพในหัวคือตัวช่วยที่ดี เช่น นึกภาพว่าทักษะที่คุณอยากทำให้ได้มีท่าทางแบบใด นึกภาพตัวเองกำลังทำสิ่งนั้นอยู่ทีละขั้นตอน ลงรายละเอียดอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นราวกับได้ลงมือทำจริงๆ

คีย์เวิร์ดสำคัญของกระบวนการฟื้นฟูจิตใจคือ “ก้าวเล็กๆ” “ทำทีละอย่าง” และ “โฟกัสแค่วันนี้” หากเมื่อวานทำได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะหากผลีผลามพยายามจะก้าวหน้าเร็วๆ ความเครียด แรงกดดันและความคิดลบจะทำให้คุณไม่อาจแม้กระทั่งขยับตัวได้ด้วยซ้ำ

ซีโมนกลับคืนสนามแข่งด้วยอันดับ 1 ใน U.S. Gymnastics Championships 2024 ตั้งแต่วันแรก

YouTube : NBC Sports

หัดล้มอย่างสง่างาม

ซีโมน ไบล์สก้าวข้ามทวิสตี้ส์มาได้อย่างไร?

เธอให้สัมภาษณ์ในช่องยูทูบ Call Her Daddy ในเดือนเมษายน 2024 ว่า สิ่งแรกที่เธอคิดตอนลงพื้นแบบผิดท่าก็คือ “คนในทวิตเตอร์จะพูดถึงฉันว่ายังไง” “คนทั้งอเมริกาคงเกลียดฉัน” “ฉันจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศหรือเปล่านะ เพราะมีคนบอกว่าถ้าฉันไม่ได้เหรียญทองก็ไม่ต้องกลับมา” ฯลฯ

ความคิดเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่า ความคาดหวังมหาศาลที่ผู้คนมีต่อเธอกลายเป็นแรงกดดันที่ซีโมนกล่าวว่า “ทับถมกันมานาน” ซึ่งมาออกฤทธิ์เอาในวินาทีที่เธอลอยคว้างอยู่กลางอากาศในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020

มิหนำซ้ำการตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันที่เหลือแล้วไปพักรักษาสภาพจิตใจกลับกลายเป็นว่าทำให้เธอโดนด่าหาว่าเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประเทศชาติ (!?!)

ทว่า นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ย่อมรู้จัก “ล้มอย่างสง่างาม” (falling gracefully) เพื่อจะกลับมายืนหยัดอย่างสง่างามยิ่งกว่าได้อีกครา

และในวันแรกของการแข่งขัน U.S. Gymnastics Championships เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซีโมน ไบล์สทำผลงานได้ดีกว่าก่อนหน้าที่เธอจะมีอาการทวิสตี้ส์เสียอีก อีกทั้งในการแข่งม้ากระโดด เธอยังทำท่า Yurchenko double pike หรือกระโดดแล้วกลับหลังหมุนตัว 2 รอบเต็มกลางอากาศ นับว่าเป็นท่าที่ยากที่สุดและได้คะแนนสูงสุด (6.4 คะแนน) สำหรับนักยิมนาสติกหญิง

ท่านี้หากหมุนตัวไม่ครบรอบก็อาจแลนดิ้งในท่าหัวโหม่งพื้น ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งถึงกับคอหักได้ เพราะเป็นท่าที่ต้องใช้แรงมาก ใน U.S. Gymnastics Championships 2024 รอบแข่งจริง ซีโมนใช้พลังมากเกินไปจนตอนเท้าแตะพื้นแล้วตัวเธอถึงกับล้มหลังฟาดพื้นแล้วกระเด้งไปจนเกือบตกเบาะรองเลยทีเดียว

Photo: Freepik

ภาวะตีบตันในอาชีพต่างๆ

ทวิสตี้ส์คือภาวะไปไม่เป็นของนักยิมนาสติก อาชีพอื่นๆก็มีภาวะแบบนี้แต่เรียกชื่อต่างกันไป เช่น

  • Yips นักกอล์ฟหรือนักเบสบอลที่จู่ๆก็ตีพลาด หวดวงสวิงไม่ได้
  • Cueitis นักสนุกเกอร์ที่เกิดเล่นห่วยขึ้นมาดื้อๆ
  • Target panic ในนักยิงธนูที่เล็งพลาดเป้าอย่างเหลือเชื่อ
  • the creature, the monster, Steve Blass disease ในนักเบสบอลที่ขว้างลูกยังไงก็ไม่สไตร์กเสียที

ภาวะไปไม่เป็นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเหล่านี้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมทางอาชีพแก่ผู้คนมาแล้วมากมาย อาทิ Chuck Knoblauch นักเบสบอลของทีม New York Yankees ซึ่งในปี 1999 ตีพลาด 26 ครั้ง ส่วนในปี 2000 ก็ขว้างลูกพลาดไปโดนหน้าแม่ของคอมเมนเตเตอร์ที่นั่งชมอยู่บนสแตนด์เชียร์จนแว่นแตก

นอกจากนักกีฬาแล้วอาชีพอื่นๆก็ไปไม่เป็นได้ เช่น Carly Simon นักร้องสาวชาวอเมริกันที่ในปี 1981 จู่ๆก็ยืนตัวแข็งทื่อร้องเพลงไม่เป็นขณะอยู่บนเวที จนแฟนเพลงต้องปีนขึ้นไปนวดแขนขาปลอบประโลมให้เธอใจเย็นลง

หรือ writers’ block ภาวะเขียนไม่ออกของนักเขียนที่อาจสาหัสถึงขั้นไม่สามารถนั่งลงที่โต๊ะทำงานได้ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดภาวะนี้กับผู้เขียนแทบทุกวัน (ฮ่า ฮ่า)

ใครทำอาชีพไหนแล้วเกิดมีอาการทำไม่เป็นหรือลืมทักษะที่ตนเองเคยทำได้อย่างช่ำชอง ลองมาบอกเล่ากันบ้าง

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top