ศิลปินสร้างประติมากรรมหายตัวได้ของ ‘Satoshi Nakamoto’ ผู้สร้างบิตคอยน์ที่ไร้ตัวตน

ในงานสัมมนาคริปโตประจำปีของ Plan ₿ ที่เมืองลูกาโน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นฤกษ์งามยามดีที่ศิลปินบิทคอยน์ชาวอิตาเลียนเปิดตัวประติมากรรมชิ้นใหม่เป็นรูป Satoshi Nakamoto ผู้สร้างบิตคอยน์ที่มีทีเด็ด มองข้างเห็นว่ามี แต่พอเปลี่ยนไปมองจากด้านหน้า อ้าว คุณซาโตชิล่องหนหายไปไหนต่อหน้าต่อตา

ประติมากรรมชิ้นนี้สื่อความหมายอะไร และศิลปินบิตคอยน์ทำอะไร The Optimized พาไปทำความรู้จักกับ Valentina Picozzi ศิลปินผู้อุทิศศิลปะให้กับบิตคอยน์

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2024 วาเลนตินา ปิกอชชี เข็นประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงไปตั้งไว้หน้าสวนสวยของ Villa Ciani คฤหาสน์สมัยศตวรรษที่ 19

เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองลูกาโนเปิดผ้าคลุมออกมา ก็เผยให้เห็นประติมากรรมสแตนเลสสตีลและเหล็กคอร์เทนเป็นรูปของ ซาโตชิ นากาโมโต ที่จริงๆ แล้วเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนหรือไม่อาจรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ ‘ซาโตชิ นากาโมโต’ ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกของโลกที่ชื่อว่า ‘บิตคอยน์’

การเปิดตัวงานศิลปะชิ้นใหม่ของซาโตชิ นากาโมโต เกิดขึ้นในช่วงที่ราคาบิตคอยน์กระฉูดทะลุ 71,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซี

วาเลนตินาสร้างงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสดุดีซาโตชิ นากาโมโต ที่เธอเห็นว่าเป็น ‘บุคคล’ ที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค เธอตั้งคำถามว่า ผู้สร้างบิตคอยน์ทำตัวให้ไร้ตัวตนได้อย่างไรในยุคที่ทุกคนล้วนถูกแกะรอยสืบค้นได้หมด

Photo: X@mfermigo

ประติมากรรมชิ้นนี้จึงเป็นการยกย่องบุคคลเบื้องหลังบิตคอยน์ที่รักษาความเป็นปริศนาไว้ได้ วาเลนติน่าจึงตั้งใจเล่นสนุกกับการมองเห็นของผู้ชม เมื่อมองจากด้านข้าง ผู้ชมจะเห็นว่าซาโตชินั่งอยู่ในท่าสดุดีการทำงานของโปรแกรมเมอร์ คือนั่งขัดสมาธิ มีแล็ปทอปวางบนตัก ก้มหน้าก้มตาเขียนโค้ด สร้างระบบนิเวศของบิตคอยน์ขึ้นมา วาเลนติน่ามองว่าคนเหล่านี้คือเหมือนนักรบที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความโปร่งใสของระบบเงินตรา

Photo: X@mfermigo

แต่เมื่อเปลี่ยนมุมมอง ผู้ชมจะเห็นว่าชาโตชิค่อยๆ เลือนหายไป แต่เมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆ จะเห็นแต่เค้าโครงของคนที่ไร้ใบหน้า เปรียบได้กับการที่ซาโตชิล่องหนหายตัวไปจากโลกของเงินที่จับต้องได้ ไปดำรงอยู่ท่ามกลางรหัสบิตคอยน์ที่ไร้ตัวตน และเมื่อไปอยู่ด้านหลังงานศิลปะ ใครๆ ก็สามารถสวมรอยเป็นซาโตชิได้เพียงแต่แทนใบหน้าของตนกับส่วนหัวที่ไร้ใบหน้าของซาโตชิ นากาโมโต

Photo: X@RCasatta

วาเลนติน่าใช้เวลา 18 เดือนหาวิธีการว่าจะทำแนวคิด ‘การล่องหน’ ให้เป็นรูปธรรมและดึงผู้คนให้เข้ามาส่วนร่วมกับประติกรรมซาโตชิ ผู้ที่เธอศรัทธาได้อย่างไร ก่อนจะลงเอยด้วยการใช้โลหะตีเป็นแผ่นบางๆ แล้ววางเรียงกันโดยทิ้งระยะห่าง ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างคนนั่ง ดังนั้นเมื่อมองจากมุมต่างๆ จะเห็นงานศิลปะชิ้นนี้ไม่เหมือนกัน บางมุมก็เห็นเป็นตัวคนชัดๆ บางมุมก็หายตัวได้ มองดูคล้ายเป็นรหัสเป็นสายๆ แบบในหนัง The Matrix เหมือนกับซาโตชิที่เหมือนจะมีอยู่ แต่ไม่มีใครรู้จักใบหน้าของเขาแม้จะสร้างบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม

Photo: IG@valentinapicozzi

Valentina Picozzi ศิลปินผู้อุทิศศิลปะให้กับบิตคอยน์

วาเลนติน่าพบเจอบิตคอยน์เป็นครั้งแรกในปี 2012 จากเพื่อนที่ทำงานในแวดวงการเงิน เธอตกหลุมรักแนวคิดสกุลเงินดิจิทัลนี้ ด้วยมองว่าทำให้เงินเป็นประชาธิปไตย คือไร้ตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ผู้คนได้ทำธุรกรรมได้อย่างโปร่งใสและมีเสรีภาพมากกว่าเงินเฟียตที่ใช้กันอยู่

หลังจากตระเวนไปงานสัมมนาคริปโตเคอร์เรนซี และศึกษาเรื่องบิตคอยน์อย่างลุ่มหลง วาเลนติน่าอยากให้บิตคอยน์เข้าถึงผู้คนได้กว้างขึ้นและทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของบิตคอยน์ แต่ตัวเธอไม่ใช่โปรแกรมเมอร์หรือนักขุดเหมืองบิตคอยน์ ทักษะที่เธอมีอยู่คือสร้างสรรค์ศิลปะ ในปี 2015 วาเลนติน่าจึงสร้างผลงานศิลปะบิตคอยน์ชิ้นแรก และปีต่อมาได้ก่อตั้ง Satoshi Gallery ที่เหมือนเป็นจักรวาลงานศิลปะที่อุทิศแด่ซาโตชิ นากาโมโต และทำให้บิตคอยน์ก้าวข้ามจากโลกการเงิน ไปสู่โลกศิลปะที่เข้าใจง่ายขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าเบื้องหลังเพนติ้งแต่ละชิ้นของเธอจะสอดแทรกเรื่องราวของโลกคริปโตไว้เสมอ

นอกจากนี้วาเลนติน่ายังสนใจแนวคิดของบิตคอยน์ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน เธอเชื่อว่าบล็อกเชนจะช่วยพัฒนาวงการศิลปะให้ดีขึ้นได้ เพราะบล็อกเชนสามารถเก็บ ติดตาม และตรวจสอบงานศิลปะในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งอาจจะดีกว่างานศิลปะที่จับต้องได้ ซึ่งเปราะบางไปตามกาลเวลา ในแง่นี้บล็อกเชนจึงเป็นตัวบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะในรูปแบบใหม่ที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับศิลปินและคนเสพศิลปะมากขึ้น

 

Photo: IG@valentinapicozzi

งานศิลปะจัดวางรูปยาแคปซูลสีส้มปั๊มโลโก้บิตคอยน์เรียงต่อกันเป็นรูป Julian Assange ผู้ก่อตั้ง Wikileaks ที่งานสัมมนา Plan B ที่เมืองลูกาโน วาเลนติน่าสร้างงานศิลปะชิ้นนี้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในเดือนธันวาคม ปี 2010 ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ของโลกล้วนระงับการบริจาคให้แก่วิกิลีกส์ ในช่วงเวลานั้นเองที่ชุมชมชาวบิตคอยน์ได้รวมตัวกันบริจาคเงินให้กับวิกิลีกส์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบธุรกรรมการเงินแบบเดิมๆ ที่ต้องมีตัวกลาง

Photo: IG@valentinapicozzi

สัญลักษณ์ตัว B ของบิตคอยน์บนธนบัตรหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ หนึ่งในลายเซ็นของวาเลนติน่าที่แปรเป็นชิ้นงานหลากหลาย

Photo: IG@valentinapicozzi

วาเลนติน่าวาดภาพ Nayib Bukele ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ที่ในปี 2021 ประกาศให้เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศให้บิตคอยน์ชำระหนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย หรือใช้บิตคอยน์แทนเงินสดได้นั่นเอง วาเลนติน่ากล่าวว่าเป็นปลื้มมากสำหรับคนที่ฝันเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2012

Photo: IG@valentinapicozzi

I am one, I am done, 2022 งานแกะสลักโลหะด้วยกรด แล้วพิมพ์บนกระดาษด้วยมือเป็นธนบัตรที่ถูกตัดครึ่ง วาเลาติน่าได้แรงบันดาลใจจากคำกล่าวของซาโตชิ นากาโมโตที่ว่า “รากเหง้าปัญหาของสกุลเงินที่ใช้กันอยู่นี้คือความเชื่อมั่น ธนาคารกลางต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าจะไม่ทำให้เงินเสื่อมค่าลง แต่จากประวัติศาสตร์ของเงินเฟียตกลับเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นที่ถูกทำลาย”

Photo: IG@valentinapicozzi

หนึ่งในงานศิลปะชิ้นโปรดของวาเลนติน่าที่นำมาจากโควตคำพูดของซาโตชิ นากาโมโตในงานสัมมนา Bitcointalk ในปี 2010 ซึ่งเขาพยายามอธิบายบิตคอยน์ให้ผู้คนเข้าใจ แต่ดูเหมือนจะได้ผลในทางตรงกันข้าม เป็นที่มาของคำพูดที่สร้างความฮือฮาในหมู่แฮกเกอร์ โปรแกรมเมอร์และคนในแวดวงการเงินทั่วโลกในเวลานั้นว่า And if you don’t believe it or don’t get it, I don’t have the time to try to convince you. I am sorry.” ถ้าไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจ(บิตคอยน์) ผมก็ไม่มีเวลาจะมาพยายามทำให้คุณเชื่อหรอกนะ โทษที

นอกจากทำงานศิลปะบิตคอยน์แล้ว วาเลนติน่าเป็นศิลปินที่รณรงค์เพื่อสังคมในประเด็นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความยากจน และความไม่เท่าเทียมกันโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางอีกเช่นเคย

“ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่รอให้คนมาตีความ แต่ศิลปะพูดได้ มันบอกเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวมันเอง”

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top