โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ กับ ‘3 บทเรียนเทนนิส’ ที่ไม่มีสอนในชั้นเรียน แด่บัณฑิตจบใหม่

สวัสดีครับ บัณฑิตปี 2024 ทั้งหลายแห่งดาร์ทมัทคอลเลจ ผมตื่นเต้นมากที่ได้มาอยู่กับทุกคนในวันนี้

คุณคงนึกไม่ออกหรอกว่าผมตื่นเต้นมากเพียงไร เพราะนี่คือการเหยียบเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ครั้งที่ 2 เองนะครับ

ด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ คุณได้มอบปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับผม

ผมแค่มากล่าวปัจฉิมนิเทศกับบัณฑิตจบใหม่ แต่ตอนขากลับ ผมได้เป็น “ดร.โรเจอร์” เฉยเลย เป็นกำไรงามมากๆ

และเป็นชัยชนะที่เหนือความคาดหมายที่สุด!

ผมอยู่นอกพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองเล็กน้อยในวันนี้ ภาพนี้ไม่ใช่ภาพที่คุ้นเคยของผมเท่าไรนัก

และที่ใส่อยู่นี่ก็ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ผมมักคุ้น

เสื้อคลุมรับปริญญานี่ใส่แล้วไม่คล่องตัวนัก ต้องบอกก่อนว่าผมใส่แต่กางเกงขาสั้นเกือบทุกวันตลอด 35 ปีที่ผ่านมา

ผมไม่ใช่คนประเภทที่จะมากล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าคนเยอะๆ แบบนี้ สุนทรพจน์ที่แย่ที่สุด…แต่เป็นครั้งสำคัญที่สุด…คือตอนที่ผมติดทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้นผมอายุ 17 แล้วก็กังวลมากจนไม่อาจหลุดคำพูดออกมาได้มากกว่า 4 คำ

“ยินดี…ที่…ได้…มา”

Photo: IG @rogerfederer

แล้วเรามาอยู่ที่นี่ในอีก 25 ปีถัดมา ผมยังคงกังวลเล็กน้อย แต่ก็พูดได้มากกว่า 4 คำกับทุกๆ ได้แน่ งั้นขอเริ่มต้นด้วยการพูดว่า ผมยินดีที่ได้มาที่นี่ ยินดีที่ได้เจอกับทุกคน บนสนามหญ้าแห่งนี้

คุณอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า…หญ้าเป็นสนามโปรดของผม

ทุกคนขยันมากเพื่อจะได้เรียนที่นี่ ผมนับถือพวกคุณมากๆ สำหรับความสำเร็จที่คุณได้รับ

ผมยิ่งประทับใจมากขึ้นไปอีก เพราะผมออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 เพื่อแข่งเทนนิสเต็มเวลา

ผมจึงไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย แต่ผมเพิ่งจะจบการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้

ผมจบการศึกษาวิชาเทนนิส

ผมรู้หรอกน่ะว่าต้องใช้คำว่า “เกษียณ” “โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์เกษียณจากเทนนิส” เกษียณ…คำนี้ช่างน่าสยอง

คุณคงไม่พูดว่าคุณเกษียณตากมหาวิทยาลัยหรอกใช่ไหม ฟังดูแย่เชียว

เช่นเดียวกับทุกคน ผมเพิ่งเสร็จสิ้นสิ่งหนึ่งที่ใหญ่มากๆ และผมกำลังไปต่อกับสิ่งอื่น

เช่นเดียวกับทุกคน ผมกำลังค้นหาว่าสิ่งนั้นคืออะไร

จบการศึกษา…ผมรับรู้ความเจ็บปวดของคุณได้

ผมรู้ว่ามันเป็นเช่นไรเวลามีคนคอยถามไปตลอดชีวิตว่า คุณมีแผนการอะไร

มีคนถามผมว่า “ตอนนี้คุณไม่ได้เป็นนักเทนนิสอาชีพแล้ว คุณทำอาชีพอะไรอยู่”

ผมไม่รู้…และมันโอเคที่จะไม่รู้

ว่ากันตามตรง ผมรักชีวิตที่ผมจบการศึกษาจากเทนนิสนะ ผมจบวิชาเทนนิสในปี 2022 และพวกคุณจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี 2024 ผมก็เลยได้เริ่มต้นตอบคำถามที่ว่าจะทำอะไรต่อไปก่อนพวกคุณ

วันนี้ผมอยากจะมาแชร์บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้สักเล็กน้อย

ขอเรียกว่า…บทเรียนเทนนิสก็แล้วกัน

ผมหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในโลกนอกรั้วมหาวิทยาลัย

Photo: IG @rogerfederer

บทเรียนที่ 1 “พยายามแบบไม่ดูพยายาม” คือมายาคติ

ผมหมายความตามนั้นจริงๆ นะ

ผมพูดคำนี้ในฐานะคนที่เคยได้ยินคำนี้มาเยอะมากๆ

คนชอบพูดกันว่า เวลาผมเล่นเทนนิสมันดูไม่พยายามดี ส่วนใหญ่แล้วคนที่พูดอยากจะชมผมนั่นแหละ…แต่คำนี้เคยทำให้ผมหงุดหงิดเวลาคนพูดว่า “เหงื่อเขาแทบไม่ออกเลยนะนั่น! หรือพูดว่า “เขาต้องพยายามหรือเปล่าน่ะ”

ความจริงก็คือ ผมต้องพยายามมากๆ…เพื่อจะทำให้มันดูเหมือนง่าย

ผมหมดเวลาไปหลายปีกับการพร่ำบ่น ก่นด่า ปาแร็กเกต ก่อนจะเรียนรู้ที่จะสงบใจตัวเองได้

สัญญาณเตือนดังตั้งแต่ช่วงที่ผมเริ่มตีเทนนิสอาชีพแรกๆ ตอนที่คู่ต่อสู้ในการแข่งขันในรายการอิตาเลียนโอเพ่นตั้งคำถามต่อวินัยทางจิตใจของผม เขาพูดว่า “โรเจอร์จะเป็นคนโปรดของคนดูช่วงสองชั่วโมงแรก จากนั้นผมจะกลายเป็นขวัญใจคนดูแทนเขา”

ตอนแรกผมก็งงครับ แต่สุดท้ายแล้วผมก็ตระหนักได้ว่าเขาพยายามจะบอกอะไร ทุกคนสามารถเล่นเทนนิสได้ดีช่วงสองชั่วโมงแรกกันทั้งนั้น เพราะแรงกำลังดี เร็ว วิสัยทัศน์ชัดเจน แต่หลังจากสองชั่วโมงผ่านไป ขาแข้งคุณเริ่มอ่อนแรง จิตใจเริ่มว่อกแว่ก วินัยในตัวก็เริ่มเลือนหาย

มันทำให้ผมเข้าใจว่า…มีเรื่องที่ผมต้องทำอีกเยอะรออยู่ และผมพร้อมที่เดินไปในเส้นทางนี้แล้ว ผมเข้าใจแล้ว

พ่อแม่ โค้ช เทรนเนอร์ ทุกคนเคยพยายามเตือนสติผม จนตอนนี้คู่ต่อสู้ยังต้องมาเตือนเลย ขอบคุณมากๆ! ผมขอขอบคุณกับสิ่งที่คุณทำไปตลอดกาล

ผมจึงเริ่มฝึกฝนอย่างหนักแบบหนักกว่าเดิมมากๆ

แต่แล้วผมก็ตระหนักว่า การชนะแบบไม่ต้องพยายามคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ผมมีชื่อเสียงว่าเล่นเทนนิสแบบดูไม่พยายาม ก็เพราะผมวอร์มอัปก่อนลงแข่งจริงแบบสบายๆ จนคนไม่ทันฉุกคิดกันเลยว่าเพราะผมฝึกมาหนักแค่ไหน แต่ผมฝึกมาหนักๆ…ก่อนลงแข่งจริงไงครับ ฝึกตอนที่ไม่มีใครเห็น

คุณเองก็อาจจะเคยคนแบบนี้ในคลาสเรียน

มีกี่ครั้งกันที่คุณรู้สึกว่าเพื่อนร่วมชั้นได้ A มาโดยไม่แม้แต่จะต้องพยายาม…ในขณะที่คุณอดตาหลับขับตานอนไม่รู้กี่คืน…ต้องซัดกาแฟไม่รู้กี่แก้ว…ไปหลบมุมร้องไห้ในห้องสมุด

Photo: IG @rogerfederer

หวังเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ผมเคยผ่านมาว่าคุณจะเรียนรู้ว่า “การดูเหมือนไม่ต้องพยายาม” นั้นเป็นแค่มายา

ผมไม่ได้มาถึงจุดนี้ได้ด้วยพรสวรรค์ล้วนๆ เสียเมื่อไร ผมมาอยู่จุดนี้ด้วยความทุ่มเทพยายามให้มากกว่าคู่แข่งต่างหาก

ผมเชื่อในตัวเอง แต่การเชื่อในตัวเองก็เป็นสิ่งที่คุณต้องสร้างขึ้นมาเช่นกัน

มีช่วงเวลาหนึ่งในปี 2003 ที่ผมความเชื่อในตัวเองของผมเริ่มเข้าที่

ตอนนั้นเป็นรอบชิงชนะเลิศรายการ ATP ที่นักเทนนิสฝีมือเยี่ยมที่สุด 8 คนผ่านเข้ารอบ

ผมเอาชนะนักเทนนิสเก่งๆ หลายคนที่ผมชื่นชม ด้วยการพุ่งเป้าไปที่จุดแข็งของพวกเขา ก่อนหน้านั้น ผมเอาแต่วิ่งหนีไปจากจุดแข็งของพวกเขา ถ้าคู่แข่งตีโฟร์แฮนด์ได้ดี ผมจะพยายามตีแบ็กแฮนด์ แต่ตอนนี้…ผมจะพยายามสู้กับเขาด้วยการตีโฟร์แฮนด์ที่เขาถนัด ผมพยายามเอาชนะแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน พยายามเอาชนะการโจมตีด้วยการโจมตีกลับ ผมพยายามเอาชนะคนที่ชอบเล่นลูกหน้าเน็ตด้วยการวิ่งไปเล่นที่หน้าเนต

ผมได้แต้มมาจากการเล่นลูกแบบนั้น แล้วทำไมผมจึงทำแบบนั้นหรือ

เพื่อจะพัฒนาเกมการเล่นและทางเลือกในการเล่นของผม เราต้องเก็บสะสมท่าไม้ตายไว้ทุกรูปแบบ…ถ้าคู่แข่งเล่นพลาด ทีนี้ละ จะเป็นทีของเราแล้ว

เมื่อแต้มของคุณไหลไปด้วยการทำแบบนั้น ชัยชนะก็เป็นเรื่องที่จะได้มาแน่ๆ และง่ายๆ เลยด้วย

แต่คงมีสักวันที่คุณเป็นฝ่ายพลาดบ้าง

คุณอาจจะปวดหลัง เจ็บเข่า อาจจะป่วย หรือว่ากลัว

แต่คุณยังคงหาทางไปสู่ชัยชนะ

และชัยชนะแบบนั้นละที่เรารู้สึกภูมิใจที่สุด

เพราะมันได้พิสูจน์ว่าคุณสามารถชนะได้ไม่ใช่แค่ตอนที่คุณฟอร์มดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังชนะได้แม้ในยามที่ไม่ได้พร้อมเต็มร้อยด้วย

Photo: IG @rogerfederer

แน่ละว่าพรสวรรค์นั้นสำคัญ ผมไม่ได้มาอยู่ที่นี่และบอกคุณว่ามันไม่สำคัญ

แต่พรสวรรค์นั้นมีนิยามที่กว้างมาก

โดยมากแล้วมันไม่ใช่เรื่องของการมีพรสวรรค์ แต่เป็นเรื่องของการมีความเพียร

ในเทนนิสนั้น การตีโฟร์แฮนด์ที่ยอดเยี่ยมได้ด้วยแร็กเกตห่วยๆ จึงจะได้เรียกได้ว่ามีพรสวรรค์

แต่ในเทนนิสก็เหมือนกับในชีวิตคนเราที่การมีวินัยก็เรียกว่าเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการมีความอดทน

การเชื่อมั่นในตัวเองก็เป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง การโอบรับกระบวนการ รักในกระบวนการ ก็เป็นพรสวรรค์

การบริหารจัดการชีวิตและตัวเอง…นี่ก็นับเป็นพรสวรรค์ได้เหมือนกัน

บางคนอาจจะเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์เหล่านี้ แต่เราทุกคนต้องฝึกฝนให้มันดีขึ้นทั้งสิ้น

นับแต่วันนี้ไป จะมีคนที่คิดว่าการที่คุณเรียนจบจากสถาบันดีๆ อะไรๆ มันเลยง่ายไปหมดสำหรับคุณ

แต่รู้อะไรไหม ปล่อยให้คนเขาคิดไปเถอะ ตราบใดที่คุณรู้อยู่แก่ใจว่าคุณไม่ได้มาแบบง่ายๆ

Photo: IG @rogerfederer

บทเรียนที่ 2 “มันก็แต้มเดียว”

 

คุณอาจทำมุ่งมั่นขยันสุดๆ มากไปกว่าที่คุณคิดว่าจะทำได้ถึงขนาดนั้นเลย แต่คุณก็ยังแพ้อยู่ดี ผมเคยผ่านมาก่อนครับ

เทนนิสเป็นกีฬาที่โหดมาก ทุกการแข่งขันจะจบลงเหมือนๆ กันคือจะมีนักเทนนิสหนึ่งคนได้ถ้วย แล้วคนอื่นๆ ก็ขึ้นเครื่องบินกลับบ้านไป นั่งเหม่อไปนอกหน้าต่าง แล้วก็คิดว่า “นี่ตูตีช็อตนั้นพลาดไปได้ยังไงฟระ”

ลองคิดดูว่าถ้าวันนี้ มีแค่คนเดียวที่ได้ปริญญา

ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับปริญญาคนเดียวของปีนี้ เอ้า ทุกคนปรบมือให้เขาหน่อย

ทีนี้คนที่เหลือ คนที่เหลือนับพันเช่นพวกคุณ…คราวหน้าก็ขอให้โชคดีละกัน!

มันใช่แบบนั้นหรือ เพราะงี้ผมก็เลยพยายามจะไม่แพ้ไงครับ

แต่ผมก็แพ้อยู่ดี บางทีก็แพ้โหลยโท่ยเลยด้วย สำหรับผมแล้ว การแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดคือรอบชิงชนะเลิศในวิมเบิลดันปี 2008 ที่ผมแข่งกับ(ราฟาเอล)นาดาล มีคนเรียกเกมนี้ว่าเกมเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โอเค ก็ต้องยกให้ราฟาเขาไปนะครับที่ชนะเกมนั้น แต่ผมคิดว่ามันคงจะดีกว่านี้มากๆ แบบมากๆ เลยถ้าหากว่าผมเป็นฝ่ายชนะ

ความพ่ายแพ้ในวิมเบิลดันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะการชนะวิมเบิลดันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง

ผมได้เล่นในสนามที่สุดยอดมากทั่วโลก แต่เมื่อคุณได้มีโอกาสเดินเข้าสู่สนามเซนเตอร์คอร์ตที่วิมเบิลดัน ที่เปรียบเสมือนมหาวิหารแห่งวงการเทนนิส และคุณจบเกมด้วยการเป็นแชมป์ คุณรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมันสุดยอดมากๆ อย่างไม่มีอะไรเทียบเคียงได้

ในปี 2008 ผมจวนจะได้ตำแหน่งแชมป์วิมเบิลดัน 6 สมัยติดต่อกันอยู่แล้วเชียว ผมกำลังเล่นเกมเพื่อเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่

ผมไม่ขอเล่าการตีแต่ละแต้มหรอกนะ ขืนทำแบบนั้น เราได้อยู่ที่นี่กันอีกหลายชั่วโมงแน่ๆ

แต่เกมนั้น เราเล่นกันเกือบ 5 ชั่วโมงครับ

เกมต้องเลื่อนออกไปเพราะฝนตก พระอาทิตย์ตก ราฟาชนะ 2 เซต ผมชนะอีก 2 เซตช่วงไทเบรก แล้วก็ต้องมาเล่นกันถึงแต้มที่ 7 ในเซตที่ 5

Photo: IG @rogerfederer

ผมเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงชอบโฟกัสที่ตอนสุดท้ายกันนัก ในนาทีของแต้มสุดท้ายมันมืดมากจนผมมองแทบไม่เห็นเส้นชอล์กขีดบนพื้นหญ้า แต่เมื่อมองย้อนกลับไป…ผมรู้สึกว่าผมแพ้ตั้งแต่แต้มแรกแล้ว

ผมมองข้ามเนตไป ได้เห็นชายคนหนึ่งที่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้เอาชนะผมแบบไม่เสียเซตเลยในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน และตอนนั้นผมก็คิดว่า ชายคนนี้อาจจะหิวกระหายมากกว่าผม และเขาก็ได้แต้มจากผมไปในที่สุด

ความคิดวนเวียนอยู่ในหัวผมจนมาถึงเซตที่ 3 ก่อนที่ผมจะนึกขึ้นมาได้ว่า เฮ้ หนุ่ม นายเป็นแชมป์ 5 สมัยที่กำลังเล่นป้องกันแชมป์ของตัวเองอยู่นี่หว่า! แล้วนายก็เล่นในสนามหญ้าที่นายถนัดด้วย นายรู้ว่าต้องเล่นยังไง แต่ผมคิดได้สายเกินไป และราฟาก็ชนะแบบที่สมควรอย่างยิ่งทุกประการ

ความพ่ายแพ้ในบางครั้งมันเจ็บปวดมากกว่าการแพ้ครั้งอื่น
ผมแพ้วิมเบิลดัน ผมเสียอันดับ 1 ของโลกไป

แต่ผมรู้ดีว่าสิ่งที่ผมต้องทำก็คือ…ฝึกต่อไป และพยายามแข่งขันต่อไป

ในเทนนิสนั้นจะหาความสมบูรณ์แบบไม่ได้หรอกครับ ในเกม 1,526 เกมที่ผมเล่นมาทั้งหมดในอาชีพ ผมชนะเกือบ 80% ตอนนี้ผมมีคำถามว่า คุณคิดว่าจากแต้มที่ผมชนะมา คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

คำตอบคือแค่ 54%

พูดอีกแบบคือ แม้แต่นักเทนนิสเบอร์ต้นของโลกชนะแบบฉิวเฉียดมาก แต้มที่ชนะแทบจะไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

Photo: IG @rogerfederer

เมื่อโดยเฉลี่ยแล้วคุณเสียแต้มได้ทุกวินาที คุณจะเรียนรู้ว่าอย่าไปยึดติดกับทุกช็อตมากเกินไป

คุณจะสอนตัวเองให้คิดว่า โอเค ฉันเสิร์ฟเสียสองลูกจนคู่แข่งได้แต้มไปฟรีๆ มันก็แค่แต้มเดียว

โอเค ฉันวิ่งไปเล่นหน้าเนต แต่ลูกดันเลยไปข้างหลัง มันก็แค่แต้มเดียว

แม้แต่แต้มเจ๋งๆ อย่างการตีแบ็กแฮนด์เหนือหัวแรงๆ ที่จะได้ติดอันดับ 10 ช็อตสุดยอดตามช่องข่าวกีฬาแบบนั้นก็เหอะ มันก็แค่แต้มเดียว

ทำไมผมจึงบอกคุณเรื่องนี้หรือ

เมื่อคุณโฟกัสที่การเล่นแบบแต้มต่อแต้ม มันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก

แต่เมื่อเลยแต้มนั้นไปแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว มายด์เซตแบบนี้จำเป็นมากๆ เพราะมันจะปลดปล่อยให้คุณหันไปจดจ่อกับแต้มต่อไป และแต้มต่อไป ด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง เข้มข้น และกระจ่างชัด

และเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆที่เมื่อคุณรู้สึกดิ่ง คุณก็จะเริ่มสงสัยตัวเอง รู้สึกสงสารตัวเอง

แต่จะบอกว่า คู่แข่งของคุณก็สงสัยตัวเองเหมือนกันแหละน่า อย่าลืมข้อเท็จจริงนี้ซะล่ะ

แต่พลังลบคือการเสียพลังไปโดยเปล่าประโยชน์

คุณอยากจะกลายเป็นคนที่เก่งกับการก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากได้ ซึ่งสำหรับผมแล้ว นั่นคือสัญญาณของการเป็นแชมป์

คำว่าเก่งที่สุดที่ในโลกไม่ใช่ที่สุดเพราะว่าคนคนนั้นชนะได้ทุกแต้ม…แต่เพราะคนคนนั้นรู้ว่าเขาจะแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า…และได้เรียนรู้ว่าจะรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างไร

คุณก็แค่ยอมรับว่าแพ้ ร้องไห้ออกมาก็ได้ถ้าอยากร้อง…ฝืนยิ้มซะ

แล้วเดินหน้าต่อ อย่าย่อท้อ ปรับตัวและเติบโต

ทุ่มเทให้มากขึ้น ขยันแบบฉลาดขึ้น จำไว้ว่า จงขยันในทางที่ฉลาด

Photo: IG @rogerfederer

บทเรียนที่ 3 “ชีวิตมีมากแค่สนามแข่ง”

สนามเทนนิสเป็นพื้นที่เล็กๆ แค่ 2,106 ตารางฟุต

ผมทุ่มเทหนัก เรียนรู้มาก และวิ่งเป็นกิโลๆ ในพื้นที่เล็กๆ นั่น แต่โลกนั้นกว้างใหญ่กว่านั้นไปอีกมาก แม้เมื่อตอนที่ผมเริ่มอาชีพนี้ใหม่ๆ ผมรู้ว่าเทนนิสจะเปิดโลกให้ผม แต่เทนนิสจะไม่มีวันเป็นโลกทั้งใบของผม

ผมรู้ว่าถ้าโชคดีหน่อย ผมอาจได้ลงแข่งไปจนถึงอายุปลาย 30 หรืออาจจะถึงวัย 41!

แต่แม้ตอนที่ผมติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก มันสำคัญมากๆ ที่ผมต้องมีชีวิตของตัวเองด้วย ได้ใช้ชีวิต ได้เดินทาง ได้สัมผัสวัฒนธรรมต่างๆ มีมิตรภาพ และที่สำคัญคือมีครอบครัว ผมไม่เคยละทิ้งรากเหง้าของตัวเองและไม่เคยลืมว่าตัวเองมาจากไหน หากก็ไม่เคยหมดความกระหายอยากจะเห็นโลกกว้าง

ผมจากบ้านตอนอายุ 14 แล้วไปเข้าโรงเรียนฝรั่งเศสที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ 2 ปี ตอนแรกผมคิดถึงบ้านมาก แต่ก็ได้เรียนรู่ที่จะรักชีวิตที่ต้องชีพจรลงเท้าด้วย

นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดผมจึงไม่เคยเบิร์นเอาต์เลย

ผมตื่นเต้นที่ได้ออกเดินทางไปรอบโลก แต่ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว ผมตระหนักได้ตั้งแต่แรกๆ ว่าอยากจะรับใช้ผู้คนในประเทศต่างๆ เป็นแรงขับจากแม่ชาวเซาท์แอฟริกันของผม ผมจึงก่อตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมเด็กๆ ด้วยการศึกษา

ตอนนั้นผมอายุ 22 เท่ากับหลายคนในที่นี้ ผมไม่พร้อมเรื่องอะไรเลยนอกจากเทนนิส แต่บางครั้ง คุณก็ต้องคว้าโอกาสไว้ก่อนและหาทางทำมันให้ได้ทีหลัง

เทนนิสก็เหมือนกับชีวิต ในแง่ที่ว่าเป็นกีฬาแบบทีม แน่ละว่าคุณอาจยืนเดียวดายข้างตาข่าย แต่ความสำเร็จของคุณขึ้นอยู่ทีม ขึ้นอยู่กับโค้ช เพื่อนร่วมทีม หรือแม้แต่คู่แข่ง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้คุณกลายเป็นคนอย่างที่คุณเป็น

จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บริษัทที่ผมร่วมทำกับหุ้นส่วนของผมใช้ชื่อว่า “TEAM8” ที่เล่นเสียงกับคำว่า “Teammate”

ตอนที่ผมเลิกเล่นเทนนิสอาชีพ ผมกลายเป็นอดีตนักเทนนิส แต่คุณยังไม่เคยเป็น “อดีต” ในอาชีพใด

คุณคือว่าที่ผู้ทำลายสถิติ ว่าที่นักเดินทางรอบโลก ว่าที่อาสาสมัคร ว่าที่นักสังคมสงเคราะห์ ว่าที่ผู้ชนะ และว่าที่ผู้นำ

ผมขอย้ำบทเรียนจากเทนนิสอีกครั้ง

ความดูเหมือนไม่พยายามคือมายาคติ

คะแนนก็เป็นแค่คะแนน

ชีวิตใหญ่เกินกว่าสนามแข่ง

เดี๋ยวก่อนนะ ผมเพิ่งนึกอะไรขึ้นมาได้อีกอย่าง ผมขอหยิบไม้แร็กเกตหน่อยนะครับ

Photo: Youtube Dartmouth

เวลาคุณจะตีลูกโฟร์แฮนด์ คุณจะอยากจับไม้แบบอีสเทิร์นกริป วิธีการก็คือจับไม้โดยให้ข้อมือคลายห่างกันเล็กน้อย อย่าจับไม้แน่นเกินไป แล้วคุณจะสลับไปตีลูกจากโฟร์แฮนด์ไปตีแบ็กแฮนด์ได้ง่ายขึ้น แล้วก็จำไว้ว่าทุกอย่างเริ่มต้นด้วยฟุตเวิร์ก และการก้าวถอยหลังก็สำคัญพอๆ กับการก้าวไปข้างหน้า

ไม่ว่าเกมใดที่คุณเลือกเล่น ขอให้เล่นให้เต็มที่

โฟกัสทุกช็อต มีอิสระ พยายามทุกวิถีทาง

และเหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมใจดีกับคนอื่น และสนุกกับการเล่นในโลกกว้าง

ยินดีด้วยกับคลาส 2024

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top