‘คูณ-วัชรวิทย์ ยาอินตา’ จากเอ็มวี Lisa – ROCKSTAR สู่การยกระดับซอฟต์พาวเวอร์

คูณ-วัชรวิทย์ ยาอินตา กลายเป็นที่รู้จักและชื่นชมหลังจากลิซ่าบอกให้โลกรู้ว่า ฉันมีเพลงใหม่แล้วค่ะ ในเอ็มวี Rockstar ที่มีคูณเป็นผู้ควบคุมกล้องสเตดดี้แคม บันทึกเฟรมภาพเยาวราชไร้ผู้คน จนกลายเป็นหนึ่งในภาพที่จะเป็นที่จดจำไปอีกนาน

The Optimized พาไปสำรวจเส้นทางของคูณ ผู้ควบคุมกล้องชาวไทยที่ถ่ายหนังและซีรีส์ระดับสากลมาหลายสิบเรื่อง และเป็นคนไทยคนแรกในสมาคมโอเปอเรเตอร์อเมริกาและทั่วโลก Society of Camera Operators (SOC) ที่ได้รับเกียรติเลื่อนขั้นสมาชิกจาก Associate เป็น Active

ข้างหลังภาพคือ คนดนตรี

กว่าจะมาเป็นผู้ควบคุมกล้องระดับอินเตอร์อย่างทุกวันนี้ คูณร่ำเรียนดนตรีจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะได้ “ค้นพบตัวเองครั้งที่สอง” ว่าชอบการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ จากการได้ลองเล่นกล้อง DSLR ของ Nikon ตัวเล็กของบิดาที่ทำให้เขาได้ลองเรียนรู้การถ่ายภาพและตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

คูณสนุกกับงานภาพมากจนขอไปถ่ายมิวสิกวิดีโอให้ผองเพื่อนที่เป็นนักดนตรี หนึ่งก็เพื่อฝึกฝนฝีมือ และสอง มิวสิกวิดีโอเหล่านั้นได้กลายเป็นพอร์ตผลงานที่ทำให้เขาก้าวสู่โลกของงานถ่ายภาพดังที่ใฝ่ฝัน

คูณตัดสินใจไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ Academy of Art University ซานฟรานซิสโก ซึ่งอยู่ห่างฮอลลีวูด สถานที่ที่เขาใฝ่ฝันอยากไปหาประสบการณ์เพียงบิน 1 ชั่วโมง และพอร์ตของเขาก็ดีพอที่จะทำให้เขาได้ทุนการศึกษาจากสถาบันแห่งนั้นเสียด้วย

คูณสนใจงานผู้ควบคุมกล้องสเตดดี้แคม จึงไปลงเรียนคอร์สด้านนี้ ด้วยหลงใหลใคร่รู้ในอุปกรณ์ การเคลื่อนกล้อง และผลของภาพที่ออกมา กระทั่งเขาได้เป็น ‘Steadicam Operator’ สมดังใจ แม้จะต้องแลกมาด้วยความอึด ถึก ทนที่ต้องแบกกล้องรวมอุปกรณ์ต่างๆ รวมกัน 20-30 กิโลกรัมเลยทีเดียว

คูณบอกว่าเอ็มวีลิซ่า กล้องไม่หนักเท่าไร “แค่ 20 โล”

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

กลับไทยโตที่ไทย กลับมาทำให้ไทยเติบโต

ระหว่างอยู่อเมริกา คูณลองทำงานทั้งสองที่คือที่เมืองไทยและที่ฮอลลีวูด ซึ่งหากใครผลักดันตัวเองให้ไปไกลได้แล้วก็มักไม่อยากกลับบ้าน ผิดกับคูณที่ไม่อยากสมองไหล เขาจึงเลือกกลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะหากมองกันตามจริง หนังฮอลลีวูดทุกวันนี้ก็ยกกองไปถ่ายทำกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้ว เช่น โตรอนโตหรือแวนคูเวอร์ในแคนาดา หรือซิดนีย์ออสเตรเลีย ทำเอาโรงถ่ายใหญ่โตในแอลเอแทบจะร้าง และเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกเนื้อหอมของกองถ่ายระดับโลก

อีกใจหนึ่ง คุณกลับมาด้วยหวังใจว่า อยากจะใช้ความรู้และประสบการณ์มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

คนไทยคนแรก

ผลจากความมุ่งมั่น คูณจึงได้เป็น “ตัวแทนคนไทยคนแรกในสมาคมโอเปอเรเตอร์อเมริกาและทั่วโลก Society of Camera Operators (SOC) ที่ได้รับเกียรติเลื่อนขั้นสมาชิกจาก Associate เป็น Active” ดังที่คูณโพสต์ในเฟซบุ๊ก

“นี่คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตการทำงานของผมเลยครับ

บางท่านอาจจะสังสัยว่ามันคืออะไร สำหรับพี่ๆน้องๆที่ทำงานในวงการภาพยนตร์ อาจจะคุ้นกับตัวย่อ (ASC, DGA, ACO, PGA, และอื่นๆ)หลังชื่อผู้กำกับ, ผู้กำกับภาพ และโปรดิวเซอร์ เวลาดูเครดิตตอนหนังจบท้ายเรื่อง. SOCคือสมาคมนึงในนั้นที่ได้เป็นพันธมิตรกับอีกหลายๆสมาคม ซึ่งSOCให้อนุญาตเฉพาะสมาชิกแบบ (Active) ใช้ตัวย่อ”SOC” ต่อท้ายชื่อตัวเองได้เมื่อเอาไปใช้ในเครดิตหนัง หรือทำธุระต่างๆในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

หลังจากนี้ผมก็จะมีตัวย่อ “SOC” ต่อท้ายชื่อในเครดิตงานต่างๆนะครับ หวังว่าจะไม่งงกันว่ามันคืออะไร

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

SOC คือสมาคมของเฉพาะโอเปอเรเตอร์กล้องที่ได้รวมโอเปอเรเตอร์เก่งๆ ที่ทำงานในฮอลลีวูด อย่าง

  • Chris Haarhof: Birdman, Battleship, Pacific Rim, Saving Pirate Ryan, Jurasic World, Her
  • Scott P Sakamoto: The Revenant, Interstellar, The Irishman, A Star is Born
  • Geoff Harley: Fast&Furious, Jumanji, Avengers, The Hangover.
  • Greg Smith: Men in Black, R.I.P.D, Westworld, John Wick
  • David Emerich: Avatar, Transformer, Mulan, Green Mile, Catch Me If You Can

และอีกหลายๆท่านที่เป็นสมาชิกระดับ Active

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ครับที่ได้เป็นสมาชิกตัวแทนคนไทยคนแรกในระดับ Active

มีงานหนังต่างประเทศเข้ามาเมื่อไหร่

ผมยินดีให้บริการพร้อมความเป็นมาตรฐานสากลครับ”

ร่วมงานกับร็อกสตาร์ระดับโลก

คูณเล่าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำเอ็มวี Rockstar ของลิซ่าว่า ก็เช่นเดียวกับทีมงานคนอื่นๆ ที่เพิ่งรู้ว่าที่กำลังถ่ายอยู่คือเอ็มวีของลิซ่าเอาตอนที่เห็นลิซ่าเดินมาเข้าฉากท่ามกลางถนนโล่งไร้รถราและผู้คนในกลางดึกที่เยาวราช ซึ่งกั้นถนนไว้หนึ่งเลนเพื่อให้รถสัญจรผ่านได้ แต่ต่อเมื่อผู้กำกับสั่งคัตแล้วเท่านั้น ไม่ได้ปิดกั้นการจราจรโดยสิ้นเชิง

ถนนที่ต้องใช้รถมาฉีดน้ำ ก็เพื่อให้เกิดเงาสะท้อนของแสงไฟ ทำให้ภาพดูมิติมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเห็นแต่ภาพถนนมืดๆ สีดำ แต่ด้วยการทำ ‘wet down’ ฉีดน้ำบนถนน จึงเกิดเป็นภาพไอคอนิกที่ลิซ่ายืนเด่นอย่างท้าทายกลางถนนเยาวราชนั่นเอง

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

ความท้าทายในการถ่ายทำ 3 วัน ไม่ใช่เรื่องจำนวนทีมงานมหาศาล แต่เป็นเรื่องของการทำงานแข่งกับเวลา โดยเฉพาะฉากที่เยาวราชซึ่งถ่ายทำได้วันละ 6 ชั่วโมงเท่านั้น ยิ่งพอใกล้รุ่งสาง กองถ่ายก็ยิ่งว้าวุ่น ต้องมีทีมงานไปกางร่มบังไม่ให้รถราและผู้คนมองเห็นตัวลิซ่า ตามนโยบายปิดเป็นความลับสุดยอด โลกจะมารู้ก่อนวันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปิดตัวเอ็มวีไม่ได้เด็ดขาด ขนาดตอนถ่ายฉากเต้น ก็เปิดเพลงกลาวเยาวราชไม่ได้ จึงมีแต่ลิซ่า ผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นเท่านั้นที่ใส่หูฟัง ส่วนฉากที่ทีมแดนเซอร์ก็จะเปิด click track เพื่อให้จับจังหวะได้

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

ทีมงานฝ่ายสถานที่ต้องประสานงานกับร้านรวงทุกร้านที่จะเห็นในเอ็มวี เพื่อขอให้เปิดไฟค้างไว้ทั้งคืน ส่วนร้านสะดวกซื้อก็มีการไปทำซีจีช่วงโพสต์โพรดักชัน ไม่ให้เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นแบรนด์อะไร

วันสุดท้ายคือการถ่ายทำ 12 ชั่วโมงเต็มในสตูดิโอ พร้อมด้วยทีมแดนเซอร์ฮู้ดขาว 100 ชีวิต ซึ่งคูณชมเปาะว่าทุกคนรักษาความเป็นมืออาชีพได้ดีมาก ไม่มีการกรี๊ดลิซ่าหรือทำให้การถ่ายทำต้องสะดุดเลย

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

Photo: IG@lalalalisa_m

ส่วนที่อึดถึกทนที่สุดเห็นจะเป็นหนูลิที่ทุกฉากต้องมีเธอ แต่เธอก็ไม่เคยพลังตกเลย คูณบอกว่าลิซ่าปล่อยพลังเกินร้อยในทุกโมเมนต์ที่อยู่หน้ากล้อง สมกับที่เป็นร็อกสตาร์ระดับโลก

อยากจะเป็นตากล้องงานอินเตอร์บ้าง ต้องทำไง?

หากใครเห็นเอ็มวีของลิซ่าแล้วเกิดจุดประกายขึ้นมาว่า คนไทยทำถึง ทำได้ แล้วอยากทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้องในงานอินเตอร์บ้าง พี่คูณฝากถึงน้องๆ ที่สนใจทางนี้ว่า การเรียนให้ตรงสาย คือเรียนภาพยนตร์ก็เป็นทางหนึ่ง แต่อย่างคูณเอง จริงๆ แล้วเรียนมาทางดนตรี แต่เพราะลุ่มหลงสนใจงานภาพมาก จึงอาสาขอถ่ายเอ็มวีให้เพื่อนตั้งแต่สมัยเรียน ดังนั้น การเรียนไม่ตรงสายก็ทำงานเป็นตากล้องหรือผู้ควบคุมกล้องได้ โดยการ

  • เป็นอาสาขอทำงานในกองถ่าย ซึ่งอย่างที่บอกว่าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญในเอเชียสำหรับกองถ่ายจากต่างประเทศ จึงมีกองถ่ายมากมายให้พาตัวเองไปขอเรียนรู้งาน โดยอาจจะเริ่มจากตำแหน่ง PA – Production Assistant หรือแปลง่ายๆ ว่า ‘เบ๊’ ใครให้ทำอะไรก็ทำในกองถ่าย
  • ฝึกสกิลภาษาอังกฤษ คนที่พูดภาษาอังกฤษได้จะได้เปรียบ เพราะอันที่จริง บุคลากรงานกองโพรดักชันของไทย คุณมองว่ามีฝีมือเทียบชั้นระดับโลกได้สบาย แต่ที่ขาดคือความพร่องด้านภาษาอังกฤษที่ยังต้องพึ่งพาล่ามให้ช่วยแปลให้อยู่ และบางทีล่ามก็ไม่รู้ศัพท์เทคนิค จึงแปลตกหล่นคลาดเคลื่อนไปบ้าง หากใครสนใจงานอินเตอร์ก็ต้องพัฒนาทักษะสื่อสารให้เป็นสากลด้วย

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

ยกระดับคุณภาพของกองถ่ายไทย

จากความตั้งแต่แรกเริ่มของคูณที่อยากกลับมาทำงานที่ไทย เพราะอยากมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยเฉพาะด้านโพรดักชันให้ดีขึ้น คูณกล่าวว่า คุณภาพเรื่องงาน คนไทยเราทำถึง ทำเกินอยู่แล้ว แต่ที่น่าห่วงคือคุณภาพชีวิตของคนทำงานเบื้องหลังกองถ่ายทั้งหลาย

กองถ่ายอินเตอร์จะกำหนดให้คนทำงานต้องได้พักต่อวัน 10-12 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงที่เกิดมาเรื่อยๆ ของกองถ่ายไทยคือ ถ่ายทำกัน 16 ชั่วโมงบ้าง หรือบางกอง 24 ชั่วโมงยาวไป

ใครทนไม่ได้ก็ออกไป แล้วคนใหม่ๆ ก็เข้ามาให้เครื่องจักรของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเคี้ยวแล้วคายซากศพออกมาคนแล้วคนเล่า

ด้วยความที่คูณเรียนและทำงานในต่างประเทศ จึงไม่ได้เติบโตในสายงานด้วยระบบอุปถัมภ์อย่างคนทำงานในเมืองไทยที่เด็กต้องวิ่งเข้าไปฝากตัวกับผู้ใหญ่ เห็นอะไรไม่ถูกต้องก็ต้องกลืนมันลงไป ไม่กล้าทักท้วง กลัวว่าเดี๋ยวพี่เค้าไม่จ้าง เพราะทุกคนเป็นฟรีแลนซ์กันทั้งนั้น แต่คูณไม่ได้อิงกับระบบนี้ เขาจึงเริ่มโพสต์ทักท้วงถึงคุณภาพชีวิตของคนทำงานเบื้องหลังในกองถ่าย และมีคนมากมายที่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าออกมาพูด

คูณกลับมาเพื่อที่อย่างน้อยได้เป็นกระบอกเสียงให้คนทำงานตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ที่ไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง ล่าสุดคูณได้โพสต์ FB อัปเดตค่าตัวดังนี้

อัปเดตเรตการ์ดครับ เพิ่มเงื่อนไขการทำงาน มีผลบังคับใช้เดือนกรกฏาคม 2024

-Turnaround น้อยกว่า 8 ชั่วโมง คิดค่าแรงเพิ่ม 1 คิว [จากเดิม 6 ชั่วโมง]

-ทำงานวันหยุดต่างๆคิดค่าแรง 2X, ปีใหม่ 3X [จากเดิม 1.5x และ 2x]

-คิวกลางคืน (call time หลัง15.00) คิดค่าแรงเพิ่ม 20%

ทำไม่ไหวครับ ผู้ช่วยในทีมผมขับรถกลับบ้านไกลหลังจากเสร็จงาน แล้วต้องออกบ้านมาตั้งแต่เช้าก่อนเวลา 2 ชั่วโมง เสี่ยงตายมาก เงินที่ชาร์จเพิ่มส่วนนึงจะนำไปเป็นค่าโรงแรมให้น้องๆ นอนใกล้บ้านผมครับ และเพื่อลดงานคิวกลางคืนลง

Photo: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

อันนี้ขอปรบมือให้จริงๆ เพราะจากประสบการณ์ในกองถ่ายโฆษณา ผู้กำกับบินมาจากฮ่องกงได้ค่าตัวถ่ายงานสกินแคร์วันเดียว 5 ล้าน แต่พี่ฝ่ายสวัสดิการกองถ่ายที่เดี๋ยวก็ชงน้ำ เสิร์ฟน้ำ เก็บแก้ว ทำกับข้าว ล้างจาน วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกกอง เบ็ดเสร็จได้ค่าตัววันละไม่กี่ร้อยบาท แต่ต้องทำงาน 16 ชั่วโมง

ออกกองถ่ายโฆษณาสลับกับทำหนังไทย ก็คือออกกองตี 5 ต้องไปเตรียมของตั้งแต่ตี 2 เลิกกอง 7 โมงเช้าของอีกวัน ทำแบบนี้วนไป 6 เดือน ได้เงิน 50,000 บาทถ้วนในตำแหน่งผู้ช่วยคอสตูม จนคุณหญิงแม่นำเรียนว่า กรุณาหางานประจำด้วยค่ะ กลัวลูกตายก่อน T T

รัฐบาลมาแคร์เรื่องซอฟต์พาวเวอร์นั้นก็ดี แต่ก่อนจะได้ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือคนทำงานที่ลงหงาดเหงื่อแรงกายผลิตผลงานเหล่านั้นออกมา เป็นคนที่มาก่อนใครและกลับหลังเพื่อน ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงน้อยนิด ไม่มีสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีหลักประกันว่าจบงานนี้แล้วจะมีงานหน้าหรือเปล่า

ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดคือ คน – People อยากได้งานที่ดี ต้องดูแลคนทำงานให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีเสียก่อน แล้วคอยดูสิ ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะไปไกลมากๆๆๆๆๆ

ก็ขนาดที่ผ่านมารัฐบาลไม่แคร์ ภาคเอกชนดิ้นรนทำกันเองยังได้ตั้งเท่านี้

Photos: FB: Koon Ya-inta Soc Aco

คูณยังช่วยพูดแทนคนทำงานเบื้องหลังในโซเชียลมีเดียของตนเองด้วยว่า

ผมอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้คนทำงานในอุตสาหกรรมนี้อีกอย่างหนึ่งคือ อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนแรงงานของเรามากขึ้น จากประสบการณ์ตรงของผมที่เรียนจบฟิล์มและทำงานในอเมริกามาก่อน ทีมงานคนไทยมีทักษะที่เก่งเทียบเท่าฮอลลีวูดเลยครับ แต่เราขาดการดูแลสนับสนุนเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงาน การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิ์สิทธิ์ประโยชน์อย่างประกันสังคมจากรัฐบาลครับ ขอบคุณครับ”  

นอกจากเอ็มวี Lisa – Rockstar แล้ว ผลงานใหม่ของคูณที่คือหนังมาร์เวล Thunderbolts (2025) นำแสดงโดย Florence Pugh และ Alien (2025) ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวก่อนเกิดเหตุการณ์เอเลียนบุกโลกในหนังเมื่อปี 1979

รอติดตามผลงานคนไทยที่ทำถึง ทำเกินคนนี้กันต่อไป

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top