ครบ 25 ปีโศกนาฏกรรมที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ซึ่งเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนช็อกไปทั้งโลก The Optimized ชวนอ่านเส้นทางที่แตกต่างของสามเพื่อนสนิท สองคนกลายเป็นมือปืนกราดยิง อีกคนกลายเป็นคนที่พยายามทำให้โลกดีขึ้น
ออกจากที่นี่ซะ กลับบ้านไป
20 เมษายน ปี 1999 เป็นวันธรรมดาหนึ่งวัน อากาศค่อนข้างดีเป็นพิเศษ จากปกติที่ฝนมักจะตกเฉอะแฉะในเดือนเมษายนที่รัฐโคโลราโด
17 วันก่อนจบการศึกษา Brooks Brown นักเรียนม.6 ชั้นปีสุดท้ายออกมาสูบบุหรี่ตรงบันไดข้างตึกก่อนเข้าสอบวิชาปรัชญาจีน
ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญ ยกเว้น Eric และ Dylan เพื่อนร่วมกลุ่มสองคนของเขาโดดเรียน เขานึกด่าเพื่อนอยู่ในใจว่าจะโดดวันไหนก็โดดไป แต่วันนี้มีสอบ…
หลังสอบเสร็จ บรูกส์ออกไปสูบบุหรี่ที่เดิมอีกครั้ง ครั้งนี้เขาเห็นเอริกขับรถมาจอดในที่ที่ไม่ใช่จุดจอดรถประจำ บรูกส์เดินเข้าไปหาอย่างแปลกใจหน่อยๆ ปากพร่ำบ่นที่เพื่อนโดดสอบการเก็บคะแนนครั้งสำคัญ
บรูกส์ บราวน์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC หลังเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์เมื่อ 25 ปีก่อน
Photo: ABC
“มันไม่สำคัญแล้วว่ะ” เอริกบอกกับบรูกส์ เขาได้ยินเสียงหัวเราะนิดๆติดมาในน้ำเสียงของเพื่อนสนิทด้วยซ้ำ ก่อนที่เอริกจะพูดกับเขาอย่างจริงจังว่า “ตอนนี้ฉันชอบนายแล้วว่ะ บรูกส์ ออกไปจากที่นี่ซะ กลับบ้านไป”
นั่นเป็นประโยคสุดท้ายที่เอริกพูดกับบรูกส์ และเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของโลกที่เอริก บรูกส์ ดีแลน หรือเราทุกคนเคยรู้จัก
หลังจากนั้นไม่กี่นาที บรูกส์ได้ยินเสียงห่ากระสุนดังไล่หลัง เขาหนี หนี หนีออกจาก โรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ สถานที่เกิดเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้กลุ่มเพื่อนสนิทที่รวมถึงบรูกส์ เอริกและดีแลนยังโดดเรียนไปกินแม็คโดนัลด์กันอยู่เลย พวกเขายิงมุขหัวร่องอหายใส่กัน แต่วันนี้เอริกและดีแลนโดดเรียนสองคาบแรก ก่อนจะขับรถขนอาวุธปืนเต็มกระเป๋ากีฬา ก็ใบที่บรูกส์เจอในลานจอดรถตอนหยุดคุยกับเอริกนั่นแหละ แต่เขาไม่เฉลียวใจเลยว่าในกระเป๋านั้น เพื่อนขนอะไรเข้าในโรงเรียน และเป็นเวลานานที่ช่วงเวลานั้นตามหลอกหลอนบรูกส์
หากเขาสะกิดใจสักนิด เขาอาจรักษาชีวิตครู 1 คนและเพื่อนนักเรียน 12 คนที่เอริกกับดีแลนไล่ยิงก็เป็นได้
หลังจากถือปืนกราดยิงคนไปทั่ว เอริกกับดีแลนทำตามแผนที่เตรียมการล่วงหน้ามานาน พวกเขาปลิดชีพตัวเองอย่างที่หวัง อำลาโลกห่วยแตกที่ไร้เหตุผล ไร้ความยุติธรรม ไร้ความหวังนี่ไปเสียทีตามที่สั่งเสียไว้ในวิดีโอที่ทั้งสองอัดคลิปก่อนก่อเหตุกราดยิง เอริกและดีแลนกล่าวลาทุกคนที่พวกเขารัก และตระหนักดีว่าเมื่อพ่อแม่รับรู้ข่าว พวกเขาคงช็อกเกินกว่าจะเชื่อได้ว่าลูกชายที่เป็นเด็กเรียนดี ชอบคอมพิวเตอร์ ชอบเล่นเกม และเป็นเด็กเงียบๆจะทำอะไรแบบนั้นลงไปได้
แต่พวกเขาได้ทำลงไปแล้ว
Marilyn Manson นักร้องเฮฟวีเมทัลให้สัมภาษณ์ในหนัง Bowling for Columbine ในกรณีที่ดนตรีร็อกถูกแปะป้ายว่าเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรง
Photo: tumblr.com
คนหนึ่งมองเห็นดาว คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
บรูกส์เป็นเพื่อนกับดีแลนมาตั้งแต่ป.1 เด็กชายทั้งสองเรียนชั้นเดียวกัน หลังเลิกเรียนก็ยังไปเล่นที่บ้านของกันและกัน โดนครูทำโทษอย่างไม่ยุติธรรมพร้อมกัน และโดนพวกแก๊งนักกีฬาโรงเรียนบูลลี่มาเหมือนๆกัน
หากบรูกส์มีอะไรก็จะเล่าให้พ่อแม่ฟังหมด และแม่ก็จะไปเฉ่งกับครูที่โรงเรียนให้ ได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง แต่ดีแลนกลืนทุกความเจ็บปวดไว้กับตัว เขาไม่เคยปริปากเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าโดนแกล้งที่โรงเรียนอย่างไรบ้าง แม้กับบรูกส์ที่เป็นเพื่อนสนิท ดีแลนก็ไม่เคยแสดงความรู้สึกให้เห็น ดังนั้นเมื่อดีแลนเจอกับเอริกตอนเข้าเรียนที่โคลัมไลน์ นิสัยช่างอมพะนำความรู้สึกได้ยึดโยงเด็กทั้งสองเข้าด้วยกัน
และร่วมกันก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนที่พวกเขาเกลียดนักหนา – ด้วยคิดว่าเป็นสถานที่ทำลายเด็กทุกคน
หลังเกิดเหตุ บรูกส์โดนประณามหยามเหยียด โดนสาปแช่งต่างๆนานา โดนไล่ให้ไปตาย เพราะเขาคือคนสุดท้ายที่เอริก หนึ่งในมือปืนพูดคุยด้วย และบรูกส์ยังเป็นเพื่อนสนิทของมือปืนทั้งสอง สื่อบางสำนักปั่นข่าวว่าบรูกส์คือมือปืนคนที่สาม และเป็นผู้ร่วมสมคบคิดเหตุกราดยิงที่ช็อกคนทั้งโลก
Photo: Freepik
บรูกส์โดนครูทำโทษอย่างไม่ยุติธรรมครั้งแรกตอนป.2 และโดนเพื่อนบูลลี่ตอนป.3 โดยแทบไม่มีวันไหนเลยที่ชีวิตนักเรียนของเขาจะไม่โดนกลั่นแกล้ง เช่นเดียวกับดีแลนที่โตมากับเขา และเอริกซึ่งย้ายโรงเรียนมา 7 ครั้งเนื่องจากพ่อเป็นนักบินแอร์ฟอร์ซวัน เขาเป็นเนิร์ดคอมพิวเตอร์ที่ตัวเล็กกว่าคนวัยเดียวกัน ร่างกายไม่สมประกอบจากช่องอกผิดรูป และเขาเป็นคนจากเมืองอื่น ทั้งหมดนี้ทำให้เอริกตกเป็นเป้าของแก๊งบูลลี่มาตลอด
เอริกกับบรูกส์เคยผิดใจกันถึงขั้นที่เอริกโพสต์ว่าจะฆ่าเขาอย่างไรบ้าง หากก็เป็นบรูกส์ที่เป็นฝ่ายเจรจาสงบศึกนี้ก่อน และทำให้ทั้งสองกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้ง
พวกเขาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดันไปตกอยู่ในดินเป็นพิษ ทว่า เพื่อนสนิทสามคนเลือกจะงอกงามในแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หนังสือ No Easy Answers : The Truth Behind Death at Columbine High School
Photo: Amazon
บรูกส์คิดเสมอว่าคนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ หากเอริกเชื่อฝังหัวในทางตรงกันข้าม และปลูกฝังแผนกราดยิงคนใส่ดีแลน
หลังฝันร้ายผ่านไป บรูกส์เขียนหนังสือ No Easy Answers : The Truth Behind Death at Columbine High School ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Michael Moore ผู้กำกับ Bowling for Columbine หนังสารคดีที่สำรวจที่มาที่ไปของเหตุกราดยิงอันเลวร้ายนี้ และเป็นกระบอกเสียงให้คนทำความเข้าใจถึงสาเหตุการกราดยิงและวิธีที่จะหยุดยั้งเรื่องเศร้านี้มาตลอดนับสิบๆปี แม้ต้องใช้เวลานานกว่าที่บรูกส์จะสามาถเอ่ยคำว่า “ดีแลน เพื่อนของผม” ออกมาได้อย่างสนิทใจและด้วยความเข้าใจ ขณะที่หลายคนเลือกจะไม่เอ่ยชื่อนี้ออกมาเพราะเท่ากับทำให้ฆาตกรเป็นที่จดจำ
“เราจะแค่นั่งมองและเรียกมือปืนว่าเป็น ‘ปีศาจร้ายจิตป่วยที่ไม่เหมือนกับคนอย่างพวกเรา’ หรือเราจะเลือกยอมรับว่ายังมีเอริกกับดีแลนอีกมากมายที่ค่อยๆเดินไปในเส้นทางเดียวกัน” บรูกส์กล่าว
Photo: Freepik
อย่าเปลี่ยนคนที่บูลลี่ แต่เปลี่ยนความคิดคนที่โดนบูลลี่
Stan Davis เป็นนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและครอบครัว เขาร่วมกับนักวิจัยในนอร์เวย์ไป พูดคุยกับนักเรียนที่โดนบูลลี่ 13,000 คน เพื่อพัฒนาเป็น โปรแกรมต่อต้านการบูลลี่ ที่ช่วยลดการบูลลี่ทางร่างกายในโรงเรียนได้ 93% และลดการล้อเลียนด้วยวาจาได้ 53%
สิ่งที่สแตนค้นพบจากการพูดคุยกับเด็กที่โดนบูลลี่นับหมื่นคนคือ กลยุทธ์ที่คนบอกต่อๆกันว่า เวลาเจอคนมาบูลลี่แล้วให้ทำแบบนี้ คือ
1.เดินหนี
2.ทำเป็นไม่สนใจ
3.บอกคนที่แกล้งเราให้หยุด
ทั้ง 3 วิธีนี้เป็นกลยุทธ์รับมือการโดนบูลลี่ที่ได้ผลน้อยที่สุด
บรูกส์ บราวน์ ในวัยผู้ใหญ่ที่ยังรณรงค์ยุติการกราดยิงต่อเนื่อง
Photo: Youtube
หัวใจสำคัญของโปรแกรมต่อต้านการบูลลี่ของสแตน เดวิสมีอยู่ 4 ข้อ ซึ่งสกัดมาจากประสบการณ์จริงของเด็กๆ ได้แก่
1.1 ใน 6 ของคนที่โดนบูลลี่กล่าวว่า พวกเขาจะอยากไปโรงเรียนมากกว่านี้ถ้าหากว่าไม่โดนปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมทั้งจากครูและเพื่อนนักเรียน
2.เราต้องเลิกลดจำนวนการบูลลี่ แล้วหันไปส่งเสริมให้คนที่โดนบูลลี่สามารถปรับตัว/ฟื้นตัวได้ในทุกสถานการณ์ (หรือมี resilience) พูดง่ายๆว่าต้องทำให้จิตใจแข็งแกร่งจึงจะลดภาวะจิตใจบอบช้ำลงได้มาก ซึ่ง resilience จะเกิดขึ้นได้หากเรารู้สึกว่าตนมีคุณค่าและได้รับความเคารพจากผู้คนรอบข้าง
3.การบอกให้คนมุง หรือผู้เห็นเหตุการณ์บูลลี่ไม่อยู่เฉย แต่ให้ลุกขึ้นห้าม ปกป้อง หรือทำอะไรสักอย่างก็ไม่ปลอดภัยสำหรับตัวพยานเอง และคนที่โดนบูลลี่ไม่ได้ต้องการด้วย สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ สังคมที่เปิดรับทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าพวกเขา-พวกเรา ไม่มีการแปะป้ายหรือจัดประเภทคน และสังคมที่เกื้อกูลกันและกัน
4.การบอกให้คนที่โดนบูลลี่ “เลิกทำตัวเหมือนตัวเองเป็นเหยื่อ” นั้นไม่ช่วยเปลี่ยนอะไรใครได้ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้คือการบอกคนที่โดนบูลลี่ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอไม่ใช่ความผิดของเธอ” นั่นต่างหากที่จะทำให้คนที่โดนบูลลี่เลิกแบกรับความรับผิดชอบว่าตัวเองจะต้องเปลี่ยนคนที่กลั่นแกล้งตน
หรือต้อง “เลิกคิดเหมือนตัวเองเป็นเหยื่อ” นั่นเอง
คนอย่างบรูกส์ บราวน์และสแตน เดวิสยังเดินหน้าทำบทบาทของตนต่อไป แม้ว่าหลังจากโศกนาฏกรรมที่โรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ในปี 1999 จะมีนักเรียน 370,000 รายที่ต้องเผชิญกับเหตุกราดยิงในโรงเรียน 404 แห่งก็ตาม
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- หนังสือ No Easy Answers : The Truth Behind Death at Columbine High School by Brooks Brown
- หนังสือ Mindset: The New Psychology of Success by Carol Dweck
- https://www.educationworld.com/a_curr/expert_interviews/stan_davis.shtml
- https://www.nytimes.com/2006/07/07/us/07columbine.html
- https://www.lenconnect.com/story/opinion/columns/2015/02/09/stan-davis-raising-stronger-kids/35251290007/
- https://www.washingtonpost.com/education/interactive/school-shootings-database/
- https://www.youtube.com/watch?v=EkJhoKt0ZTY&list=PLr3b1Q21Z-gyorkGnM-Cw-ZUHjF5Bp8W1&index=3
- https://www.youtube.com/watch?v=yvspyyKHj1U&t=633s