หลายคนบอกว่าปัญหาของประเทศไทย คือเศรษฐกิจที่โตน้อย เพราะติดกับดับรายได้ปานกลาง ต้องก้าวข้ามไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยมีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาการต่อยอดงานวิจัยจาก “หิ้งไปสู่ห้าง” แต่ปัจจุบันปัญหาเริ่มคลี่คลาย เพราะมีนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มองเห็นโอกาสสร้างธุรกิจจากงานวิจัยได้
อย่างดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีนิว อินโนเวชันส์ จำกัด หรือ Renew สตาร์ทอัพ Deep Tech สายไบโอเทคสัญชาติไทย ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ “เซลลูเนท” หรือ “CELLUNATE™” นวัตกรรมที่ช่วยปกป้องประวัติศาสตร์
“ที่มาของ เซลลูเนท เป็นงานวิจัยตอนเรียนปริญญาเอก ที่ประเทศออสเตรีย ได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาวัสดุเพื่อการปกป้องรักษากระดาษเก่า ซึ่งที่ออสเตรีย มีเอกสารมีคุณค่าประวัติศาสตร์จำนวนมาก และย่อยสลายไปตามกาลเวลา พอกลับมาเมืองไทย จึงมีความคิดที่จะนำองค์ความรู้ของตัวเองมาใช้ประโยชน์มาใช้ในประเทศไทย” ดร.ลัญจกรกล่าวถึงที่มาของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเทคโนโลยีน้ำยาเคลือบกระดาษนาโน หรือ Nano Coating
ขยายธุรกิจในไทยต่อยอดสู่บรรจุภัณฑ์
ดร.ลัญจกร กล่าวว่า “CELLUNATE™ ผลิตจากธรรมชาติ ทั้งจากเส้นใยพืชและแหล่งสารชีวภาพอย่างเปลือกหอย ออร์แกนิค 100%ไปต่อยอดพัฒนาด้วยวิทยสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ สกัดจากสารธรรมชาติ สามารถช่วยปกป้องงานศิลปะโดยเฉพาะภาพวาด และ 2. Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษ สามารถช่วยยืดอายุหนังสือและกระดาษได้ 15 – 20 ปี ต่อการใช้งาน
สำหรับแนวคิดแรกของผลิตภัณฑ์ ReNew มีเป้าหมายคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของโลก ในเชิงของการอนุรักษ์กระดาษ ผ้า เพื่อไม่ให้เสียหาย เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน ยังขาดวิธีปกป้องและดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถต่อยอดพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายรูปแบบเพื่อให้จับตลาดหลายกลุ่มขึ้น ต่อมาเริ่มเห็นโอกาสว่านวัตกรรมของเราสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สารเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนพลาสติกจึงมีเป้าหมายต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร และ ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในตลาด B2C และตลาด B2B เพื่อขยายตลาดออกไปมากขึ้น โดยวางจำหน่ายทั้งทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ปัจจุบัน ReNew จำหน่ายทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานราชการที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการเก็บรักษาศิลปะ หนังสือ หรือเอกสาร เช่น หอสมุดกลาง และหอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ เป็นต้น โดยวางแผนการตลาดนำผลิตภัณฑ์บุกตลาด B2B อย่างหอสมุดมหาวิทยาลัย หอหนังสือ หอศิลป์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งรุกตลาด B2C เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักงานศิลปะ สะสมหนังสือหรือเอกสารเก่าที่ทรงคุณค่า
นอกจากนี้ ReNew กำลังอยู่ในกระบวนการทำการวิจัยและพัฒนาไบโอโพลิเมอร์จากขยะชีวภาพ ทดแทนการนำเข้าไบโอโพลิเมอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ ReNew สามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้มหาศาล ช่วยให้สามารถเร่งการขยายธุรกิจให้ก้าวกระโดด หรือแบบทวีคูณ (Exponential growth) และมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความต้องใช้ Nano Coating รวมทั้งนำไปใช้ทดแทนการเคลือบด้วยพลาสติกในหลายอุตสาหกรรม โดย ReNew ตั้งเป้าสร้างรายได้จากธุรกิจไบโอเทค 800 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
“ปัจจุบันการปฏิวัติทางชีวภาพ หรือ Bio Revolution เป็น 1 ใน 10 เทรนด์เทคโนโลยีดาวรุ่งแห่งทศวรรษหน้า เนื่องจากวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological science) จะมีอิทธิพลอย่างมากกับเศรษฐกิจและใช้ชีวิตของผู้คน” ดร.ลัญจกรระบุ ซึ่งสตาร์ทอัพกลุ่ม Deep Tech แม้จะใช้เวลาในการพัฒนา แต่มีโอกาสทางการตลาดสูง เพราะคู่แข่งขันน้อย
ปรับแนวคิดสู่ผู้ประกอบการ
ดร.ลัญจกร กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักวิจัยไม่ค่อยได้คิดต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การค้า งานวิจัยจึงอยู่บนหิ้งเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน มีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ให้นักวิจัยเป็นสตาร์ทอัพ จัดการแข่งขัน เวิร์คช้อป สร้างความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอดงานวิจัยมาสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้
“นักวิจัยต้องมีมายด์เซ็ทในการเป็นผู้ประกอบการ ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัด ต้องมีกลไกเอื้อต่อการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย เช่น การเข้ามาถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้นักวิจัยผลักดันงานออกมาให้เต็มที่” ดร.ลัญจกรกล่าว
สำหรับ 5 ปีแรก ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Renewมุ่งทำการตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีแผนระดมทุนเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีแผนผลักดันออกสู่ตลาดโลกด้วย เพราะตลาดบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก จากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในต่างประเทศอาจจะอยู่ในรูปแบบของการขายไลเซ่นส์ให้กับพันธมิตร จะสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของนักวิจัยที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมจากหิ้งลงมาสู่ห้างได้ และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน จัดอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพ Deep Tech ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตจากฐานนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาศาล