ในวัยเด็กของฟุจิโนะ โทมิยะป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ แพทย์เจ้าของไข้ไม่อาจบอกเด็กชายและครอบครัวได้ว่า เขาจะมีชีวิตอยู่จนโตเป็นผู้ใหญ่ได้หรือเปล่า
หากเขาก็โตมากับ ‘ข้อห้ามทำ’ มากมาย ห้ามวิ่ง ห้ามออกกำลังกาย ขณะเดียวกันก็มี ‘เรื่องที่ต้องทำ’ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ เขาต้องกินยาต่อเนื่อง
โรคประจำตัวนี้อาจเป็นคำสาป หากก็มีพร้อมพรวิเศษที่ทำให้เขาคิดอยู่เสมอว่า “เราอาจจะมีชีวิตสั้นกว่าคนอื่น” การตระหนักว่าเราไม่ได้เป็นอมตะ และเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางที่จะตายเมื่อไรก็ได้นั้น ยิ่งผลักดันให้เขาโฟกัสกับสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่มีค่า มีความหมายต่อเขาให้มากที่สุด…ตราบเท่าที่ชีวิตจะอนุญาต
เมื่อโฟกัสกับสิ่งที่อยากทำ ตรงกันข้าม เขาก็ยิ่งตัดไปเลยกับสิ่งที่เสียเวลา เขาถอยห่างจากคนที่ไม่อยากคุยด้วย ไม่ทำตามคำพูดของคนที่เขาไม่ชอบ และหากรู้สึกอึดอัดหรือทุกข์ใจ คนแรกที่เขาจะรับฟังและรับรู้ความรู้สึกก็คือ ‘ตัวเอง’ ก่อนเสมอ
Photo: FB: amarin.howto
เพราะคนป่วยเรื้อรังอย่างเขารู้ดีว่า ความเจ็บป่วยไม่ได้เกิดขึ้นกับร่างกายเท่านั้น แต่เมื่อเราปล่อยให้ตัวเองทุกข์ใจบ่อยเข้า เราอาจเกิด ‘อาการป่วยทางใจ’ ได้เหมือนกัน เขาถ่ายทอดคำพูดต่างๆที่ใช้ปลอบประโลมตัวเองและคนไข้ลงในโซเชียลมีเดีย เขียนสั้นๆวันละนิดหน่อย จนรวบรวมออกมาเป็น ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ หนังสือแด่เธอผู้พยายามมากเกินไป ใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นมากเกินไป กำลังทรมานตัวเองเกินไป ให้หันมาใส่ใจตัวเองให้เหมือนกับว่า คุณคือเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง
แล้วเราจะทำแบบนั้นได้อย่างไรบ้างล่ะ? คุณหมอโทมิยะบอกให้ลองทำตามนี้ดู
ชมตัวเองในเรื่องธรรมดาๆ ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใหม่ๆหรือเรื่องยิ่งใหญ่ แค่ตื่นนอน ล้างหน้า แต่งตัว ไปทำงาน ผืนยิ้ม คุยกับคนที่ไม่ชอบหน้า นั่งพิมพ์งาน ลุกไปชงกาแฟ ฯลฯ แค่นี้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว เพราะเป็นคุณที่ควรกำหนดนิยามของคำว่า ‘เก่ง’ ‘สำเร็จ’ ‘เจ๋ง’ ‘สุดยอด’ ฯลฯ ด้วยตัวคุณเอง
เจ้าหมามาสคอตของหนังสือ ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’
Photo: @tomoya_fujino0904
คุณหมอโทมิยะยังเจอเคสแบบนี้บ่อยมากที่มีคนมาหาหมอและบอกหมอว่าตัวเองเป็น “โรคซึมเศร้า” แต่จริงๆแล้ว “โรคซึมเศร้า” กับ “สภาวะซึมเศร้า” เป็นสองคำที่แยกกัน และมีความหมายต่างกัน
“โรคซึมเศร้า” เป็นชื่อโรคที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
“สภาวะซึมเศร้า” ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการหดหู่และอ่อนล้าทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้เสียใจอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น ถูกบอกเลิก ตกงาน สัตว์เลี้ยงตายจากไป สูญเสียสิ่งที่รักหรือคนสำคัญในชีวิต ฯลฯ เมื่อตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า จะแสดงอาการต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร สิ่งที่เคยชอบทำก็ไม่ชอบแล้ว ฯลฯ ซึ่งย้ำว่าเป็นสภาวะที่เกิดกับใครก็ได้ทั้งสิ้น ถือเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น คนที่มีสภาวะซึมเศร้าจึงไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้ากันทุกคน
สิ่งที่ต้องทำเมื่อสภาวะซึมเศร้ามาเคาะประตูขอเข้ามาในชีวิตคุณก็คือ “พักผ่อน” เพราะจิตใจของคุณเหนื่อยล้าอ่อนแรงหลังจากเผชิญความผิดหวังเสียใจอย่างรุนแรง
“ถ้าคุณรักตัวเองในแบบที่เป็น คุณเป็นคนเข้มแข็งที่สุดแล้ว แม้ว่าจะไม่เพอร์เฟกต์ก็ตาม” ฟุจิโนะ โทมิยะ
Photo: @tomoya_fujino0904
การพักผ่อนนั้นง่ายมาก เป็นได้ตั้งแต่กินของอร่อยๆ หรือถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกว่าดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ดูไลฟ์ติ๊กต่อกไม่เข้าหัวแล้ว ให้ปิดกิจกรรมทุกอย่างแล้วไปนอนได้เลย ไม่ต้องฝืนตัวเอง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้มีเวลาฟื้นตัว ก่อนจะพร้อมเปิดรับความสุขได้อีกครั้ง
แม้ว่าจะเหนื่อยหรือเจอสภาวะซึมเศร้ามากแค่ไหน แต่บางคนไม่กล้าหรือรู้สึกผิดหากจะหยุดพัก เพราะคิดว่าเพื่อนร่วมงานอาจจะต้องทำงานหนักขึ้น หรืออาจโดนหัวหน้างานตำหนิได้ แต่หากยังฝืนทำ แสร้งว่าไม่มีเกิดขึ้น ฉันไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเรื่องนี้ก็จะผ่านไป ฯลฯ
หรือคนที่ต้องเลี้ยงลูกแล้วลูกป่วยก็ไม่กล้าลางาน เพราะกลัวคนหาว่าเอาลูกมาเป็นข้ออ้าง ดังนั้น คนที่คิดแบบนี้จึงเฝ้าบอกตัวเองให้ “ฮึบ! เหนื่อยแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย สู้ต่อไป สู้ๆ” แทนที่จะคิดว่า “เรารู้สึกอ่อนเพลียจังเลย งั้นพักสักหน่อยดีกว่า”
จิตใจคุณได้ล้มป่วยไปก่อนหน้านี้แล้ว และร่างกายคุณส่งสัญญาณเตือนต่างๆนานา เป็นต้นว่า เวียนหัว ปวดหัวบ่อยๆ รู้สึกวิ้งๆเหมือนบ้านหมุน วีนแตกกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ร้องไห้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หงุดหงิดง่าย ทำงานผิดพลาดบ่อย ขี้หลงขี้ลืม ดูทีวีไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ล้วนเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าระดับความเหนื่อยล้าทางกายใจของคุณเพิ่มขึ้น และคุณใกล้จะล้มป่วยแล้วนะ
Photo: FB: @tomoya_fujino0904, FB: amarin.howto
ดังนั้น ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง หากผิดปกติไปดังที่ยกตัวอย่าง หรือรู้สึกว่าแบบนี้จริงๆว่า
“เกลียดเช้าวันจันทร์”
“ไม่อยากไปทำงานเลย”
“ไม่อยากตื่นเลย”
“ไม่อยากขยับตัวทำอะไรทั้งนั้น”
เลิกพยายามมากเกินไป อย่าหักโหมหรือกดดันตัวเอง ถึงเวลาแล้วที่คุณจะอนุญาตให้ตัวเองได้ “พักก่อนเพื่อพักผ่อน” เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณต้องการที่สุดในเวลานี้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือคิดว่า “ต้องรีบฟื้นตัวให้กลับไปทำงานได้เร็วๆ”
เพราะหากคุณฝืนมากเข้า ก็จะล้มป่วยหนักกว่าเดิม ถึงตอนนั้น “ทุกอย่างที่ฉันพยายามทำมาตลอด” ก็สูญเปล่าอยู่ดี
มอบของขวัญให้วันที่เหนื่อยล้าอ่อนแรงด้วยการ “หยุดให้เป็น พักผ่อนก่อนก็ได้”
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- หนังสือ ช่างมันเถอะอีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว โดย ฟุจิโนะ โทมิยะ สำนักพิมพ์ อมรินทร์ How to