‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ เสนอ ‘COOKIE’ เทคฯ แก้ปัญหาธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมายในไทย  

นานมาแล้วที่สินค้าและบริการที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน แทบจะเหลือไม่กี่อย่างที่พะยี่ห้อ Made in Thailand

ไม่ว่าจะเป็นหม่าล่าที่กิน รถที่ขับ แอปที่ใช้ แพลตฟอร์มที่ดูซีรีส์-คลิปต่างๆ หรือ ‘ตลาด’ ที่เรากดซื้อของในวันโปรเด็ด 9.9 ฯลฯ

ท่ามกลางธุรกิจต่างชาติที่มาทำการค้ากับคนไทยเหล่านี้ แทรกซ่อนไปด้วยธุรกิจต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย นอกจากเงินจะไม่เข้าระบบเศรษฐกิจของไทยแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการไทยค่อยๆ หมดแรงหมดลมไปเรื่อยๆ

‘ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ผู้ก่อตั้ง ‘ตลาดดอทคอม’ คนแรกๆ ที่ทำการซื้อขายออนไลน์ จนถึงทุกวันนี้ยังผลักดันผู้ประกอบการหน้าใหม่ จนสมควรยกสมญา ‘พ่อทูนหัวของอีคอมเมิร์ซไทย’

ในฐานะของคนที่เรียกได้ว่าสร้างอีคอมเมิร์ซไทยขึ้นมา เขาจึงมองเห็นความเป็นมาเป็นไปของอุตสาหกรรมและความดิ้นรนของผู้ประกอบการไทย

ระยะหลังเขาจึงเดินหน้าไปพูด บรรยาย ชี้แจง ให้ความรู้ กับรัฐบาล ฝ่ายค้าน  ข้าราชการ เอกชน ไปจนถึงสื่อ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมายรุกไทย ที่เขากางแผนเบ็ดเสร็จให้หน่วยงานรัฐนำไปทำได้เลย หรือสุดท้ายแล้ว เขาประกาศว่า ถ้าไม่มีใคร เขาก็พร้อมจะทำเอง

“ดีกว่าคิดร้อยอย่าง แต่ไม่ทำเลยสักอย่าง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่ถ้าลงมือทำ จะเกิดผล 0.1% ให้ไปต่อและต่อยอดได้”

Photo: Freepik

ภาวุธ สรุปความท้าทายของธุรกิจไทย ไว้ดังนี้

1.คนไทยซื้อของ Marketplace มากขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์คุมตลาดออนไลน์ไว้หมดแล้ว พอถึงวันมีแคมเปญโปรโมชันใหญ่ๆ เช่น 9.9 คนไทยจะเริ่มเก็บเงินไว้ซื้อของในวันนั้น ทำให้ระหว่างนั้น กำลังซื้อชะลอลง เพื่อรอคูปองลดราคา รอส่งฟรี รอสินค้าลดราคากระหน่ำ

คนจะไม่มาซื้อของหน้าร้าน ร้านค้าในชุมชนจะได้รับผลกระทบ เพราะคนรอซื้อออนไลน์ จึงบังคับให้คนทำธุรกิจต้องโดดเข้าไปในออนไลน์ ต้องเปิดร้านบนแพลตฟอร์ม

2.การแข่งขันที่ดุเดือดใน Marketplace ที่ยิ่งขายยิ่งขาดทุน

เมื่อก่อนร้านในชุมชนขายแข่งกันอยู่ไม่กี่ร้าน ตอนนี้สมรภูมิเปลี่ยนไปอยู่ในมือถือเครื่องเล็กๆ ที่เปิดมาเจอร้านค้านับพันแข่งกัน

วันนี้ถ้าเราอยากซื้อมือถือสักเครื่อง เราจะเดินไปซื้อที่ร้านหรือไม่ คนอาจจะเดินไปดูของจริงหรือเช็กรุ่นที่หน้าร้าน แล้วกลับมากดซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีโปรโมชันมากกว่า

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คู่แข่งของผู้ประกอบการกลายเป็นผู้ผลิตสินค้า เช่น ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆ แต่วันนี้แบรนด์ต่างๆ โดดไปขายแข่งในออนไลน์ เปิด official store ดีลเลอร์จึงเจอเจ้าของแบรนด์มาขายแข่งเสียเอง

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้ประกอบการไทยเจอสินค้าต่างชาติราคาถูกเข้ามาทุบอีก

3.Marketplace ขึ้นราคาค่าบริการ

ภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี มาร์เก็ตเพลซต่างชาติขึ้นราคาค่าบริการไปแล้ว 200% โดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ และทุกเจ้ายังขึ้นราคาวันเดียวกันด้วย มาร์เก็ตเพลซเหล่านี้ยังปิดข้อมูลลูกค้า (กักลูกค้าไว้กับตัวเอง)

4.สรรพากรรุกเก็บภาษีผ่านแพลตฟอร์ม

คนที่ขายของในแพลตฟอร์มจะถูกเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมดส่งให้สรรพากร เพื่อเสียภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทว่าผู้ค้าบางรายอาจจะไม่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ระบบภาษี เช่น ไม่รู้ตัวว่าต้องเข้าระบบภาษีในปี 2025 เพราะสรรพากรจะรู้ยอดขายของผู้ค้าในทุกแพลตฟอร์ม, ไม่รู้ว่าหากยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีสูงสุด 35% ซึ่งมากกว่านิติบุคคล เป็นต้น

5.สินค้าต่างชาติรุกตลาดออนไลน์เต็มสูบโดยไม่เสียภาษี

6.รัฐบาลไม่เหลียวแล

แม้จะตอบรับ แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน สถานการณ์ SME ไทยจึงหนักมาก ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลางในต่างจังหวัดจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป

Photo: Freepik

นอกจากนี้ภาวุธยังนำเสนอ แผนรับมือธุรกิจต่างชาติรุกไทย ด้วยกลยุทธ์ ‘ตั้งรับ-จับมือ-รุกกลับ’ ดังนี้

ตั้งรับ
  • ศึกษาผลที่เกิดขึ้น

ธนาคารทุกแห่งมีสถาบันวิจัยของตัวเอง หากสมาคมธนาคารชวนธนาคารทุกแห่ง แล้วแบ่งหัวข้อกันไปศึกษาวิจัยว่าการที่ทุนต่างชาติเข้ามาในไทยส่งผลกระทบด้านไหนบ้าง แล้วนำผลการวิจัยมารวมกัน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่

  • Single Dashboard

การทำงานของหน่วยงานรัฐไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีการบูรณาการ จึงควรเชื่อมต่อข้อมูลรัฐแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน รวมทั้งเอกชนด้วย เพื่อนำข้อมูลของแต่ละกระทรวงมารวมกันให้อยู่ในหน้าจอเดียวกัน หรือ Single Dashboard เพื่อให้เห็นภาพทั้งกระดาน ตั้งแต่สินค้านำเข้ามา เสียภาษีเท่าไร วิ่งไปต่อหน่วยงานใด ฯลฯ โดยที่ประชาชนและภาครัฐดูข้อมูลเหล่านี้ได้

ทุกวันนี้ภาครัฐมีหน่วยงาน DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร.) ทำเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่จะดึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด แสดงผลไว้ในเว็บไซต์ https://data.go.th แต่เป็นข้อมูลดิบ ยังไม่ได้ถูกนำมาแปรรูปให้ใช้งานต่อได้

หากผู้มีอำนาจสั่งการให้ DGA รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมายในไทย จะทำให้เรามีข้อมูลมาวิเคราะห์มากขึ้น

  • เข้มงวดกับกฎหมาย เมื่อได้ big data จากทุกหน่วยงานมาแล้ว ต้องเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ทำไมสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตจีนบางตัวไม่มีอย. เข้ามาได้อย่างไร เสียภาษีหรือไม่
  • ผลักดัน Marketplace ของประเทศไทย เช่น D Market ที่มีอยู่แล้วในแอปเป๋าตัง
จับมือ
  • จับมือกับเอกชน รัฐบาล ผู้ประกอบการ สมาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จับมือ ปรึกษา หาแนวทางกับรัฐบาลจีน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
  • สร้างความแข็งแกร่งของเอกชนไทย ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีไทยมาสนับสนุนคนไทย จริงๆ แล้วคนไทยมีเทคโนโลยีดีๆ มากมาย เช่น สตาร์ตอัปต่างๆ
รุกกลับ
  • สนับสนุนธุรกิจไทยให้รุกออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน ผ่านทางออนไลน์ ร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ (Cross border)
  • พัฒนานักรบดิจิทัล กลุ่มบริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญนำพาสินค้าไทยออกนอกประเทศ
  • ผลักดันสินค้าไทยผ่านทางออนไลน์ โดยสนับสนุน ปรับกฎหมาย ใช้ทรัพยากรที่มีให้ขายออนไลน์แบบ E-crossborder

แล้วประชาชนอย่างเราๆ ล่ะ จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมายในไทยได้อย่างไร? หนึ่งในคีย์สำคัญของแผนแก้ไขปัญหาคือ ศูนย์แจ้งธุรกิจผิดกฎหมาย (Coordination Office for Offensive and Illegal Enterprises) หรือ COOKIE มีหน้าที่รับเรื่องราว ร้องเรียน ธุรกิจผิดกฎหมาย (ในช่วงแรกเน้นไปที่ธุรกิจต่างด้าวที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทย) และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานราชการ

Photo: FB – Pawoot Pom Pongvitayapanu

แนวคิดมาจากกทม. ที่ใช้เทคโนโลยี Traffy Fongdue ของ NECTEC มาใช้ในการแจ้งร้องทุกข์เรื่องต่างๆ เป็นการนำปัญหาทั้งหมดมาไว้บนเทคโนโลยีให้คนเห็นปัญหาพร้อมกัน ทำให้ปัญหาถูกแก้ได้ทันทีหลายแสนเคส

ทาง NECTEC ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยินดีให้นำทราฟฟีฟองดูไปใช้กับการแก้ปัญหาธุรกิจต่างชาติผิดกฎหมายที่บุกเข้าในไทย

วิธีการคือ ประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาที่แพลตฟอร์มร้องทุกข์ COOKIE เรื่องที่แจ้งจะอยู่ในกระดานกลางให้ประชาชนเห็นว่ามีเรื่องราวร้องทุกข์อะไรบ้าง

ปัญหาที่แจ้งเข้ามาจะส่งไปที่ Internal Dashboard แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น ปัญหาธุรกิจ ร้านค้า, ปัญหาสินค้า การนำเข้าผิดกฎหมาย และปัญหาแรงงาน คนต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย จากนั้นจึงแยกปัญหาแต่ละหัวข้อส่งเรื่องไปให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ เช่น

บริษัทนี้มีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่คนไทย เป็นนอมินีหรือไม่ เรื่องนี้จะถูกส่งไปให้กระทรวงพาณิชย์

ตึกนี้มีดูมีเจ้าของที่ไม่ใช่คนไทย ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินตรวจสอบ

ร้านนี้ดูยอดขายเยอะ ทางร้านเสียภาษีหรือไม่ กรมสรรพากรมารับเรื่องต่อไป

ซื้อปลั๊กไฟมาจากร้านนี้ แต่ไม่มีมอก. แจ้งเรื่องไปที่สํานักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง แต่สินค้าไม่มีอย. แจ้งเรื่องเข้ามา เรื่องวิ่งไปที่อย. ให้ไปตรวจสอบ

ไปกินอาหารที่ร้านนี้ พนักงานพูดไม่ชัด เป็นคนไทยหรือเปล่า มีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ แจ้งเรื่องเข้ามา เรื่องจะวิ่งไปที่กระทรวงแรงงาน ฯลฯ

Photo: FB – Pawoot Pom Pongvitayapanu

หัวใจของแพลตฟอร์ม COOKIE คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ แล้วเรื่องวิ่งเข้าไปในระบบที่ประชาชนเห็นได้ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ใครเป็นคนแจ้งเรื่อง เรื่องไปอยู่ที่หน่วยงานไหน เจ้าหน้าที่รัฐชื่ออะไรเป็นคนรับเรื่อง รับเรื่องไปวันที่เท่าไร ได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง ถ้ายัง ทำไมปล่อยเรื่องไว้แบบนี้

ณ ตอนนี้ แพลตฟอร์มพร้อมแล้ว ขาดแต่หน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบ ซึ่งถ้าไม่มีใครทำ ภาวุธกล่าวว่า พร้อมจะทำเอง เพราะหลายๆ ครั้ง การที่ปัญหาเกิดขึ้นมา เพราะเรามัวแต่ไปชี้นิ้วให้คนอื่นเข้ามาแก้ไข ถ้าเราคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของเรา และเราลงไปแก้ไขเอง โดยดึงแนวร่วมเข้ามาช่วยกัน เรื่องจะเดินหน้ามากกว่ารอให้คนอื่นมาทำ

เมื่อภาครัฐเข้าไปจัดการธุรกิจต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย จะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นตระหนักได้ว่า การทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้ง่ายอีกแล้ว ตอนนี้มีประชาชนเข้ามาสอดส่อง โดยคนไทยไม่ได้กลั่นแกล้งหรือกีดกัน แต่หากใครทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินการ

อีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายเข้าไปหากินกับปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน เช่น มีคนแจ้งเรื่องร้านนี้เข้ามา เจ้าหน้าที่ไปเรียกสินบน เป็นต้น เพราะที่ผ่านมามีคนแจ้งเรื่องซูเปอร์มาร์เก็ตต่างชาติบางแห่งที่ขายสินค้าไม่มีอย. ทางหน่วยงานรัฐเข้าไปจัดการ ผ่านไป 2-3 วัน ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นก็กลับมาเปิดทำการได้เหมือนเดิมและยังทำผิดกฎหมายเหมือนเดิม

แต่ถ้าใช้แพลตฟอร์ม COOKIE ประชาชนจะแจ้งเรื่องซ้ำเข้าไปใหม่ หากปัญหายังเกิดขึ้นซ้ำๆ จะเกิดการตั้งคำถามไปที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐนั้นๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ เทคโนโลยีทำให้เกิดข้อมูล ส่งผลให้ความโปร่งใส แล้วสังคมไทยจะโปร่งใสมากขึ้นได้

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top