‘วิภู ศรีวิลาศ’ ศิลปินไทยในออสเตรเลียที่อุทิศอาชีพให้กับการปั้นเซรามิก ‘แมว’

วิภู ศรีวิลาศ ยืนหยัดเป็นศิลปินเซรามิกมากว่า 30 ปี กระทั่งเป็นศิลปินแนวหน้าในงานเซรามิก ไม่เฉพาะในไทย แต่ในออสเตรเลีย ประเทศที่เขาย้ายไปปักหลักประกอบอาชีพศิลปินมาเกือบครึ่งชีวิต

ปกติวิภูจะทำงานเงียบๆ เพียงลำพังนับสิบชั่วโมงในสตูดิโอที่เมลเบิร์น แล้วจึงนำผลงานปั้นดินแล้วเผาออกจากเตามาให้โลกได้ชมในหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เขาบินไปๆ มาๆ ตลอดสองทศวรรษ

ครั้งนี้ก็เช่นกันที่วิภูหอบงานเซรามิกมาจัดแสดงใน IN THE GARDEN, Things We Found นิทรรศการกลุ่ม โดย วิภู ศรีวิลาศ, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย และ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ที่จะมาถ่ายทอดสิ่งที่ได้ค้นพบใน ‘สวน’ ของตน ไม่ว่าเป็นสวนจริง หรือสวนแห่งจินตนาการ ก็ล้วนเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

ก่อนไปชมสวนศิลปิน The Optimized ชวนไปเล่นแมว – ตัวละครเอกในจักรวาลแห่งดินเหนียวของวิภู ศรีวิลาศ

1.นักเรียนเซรามิก

วิภูจบศิลปะด้านงานเซรามิกจากมหาวิทยาลัยรังสิตในปี 1994 และทำงานเป็นนักออกแบบกระถางอยู่ช่วงหนึ่ง งานเซรามิกในไทยในช่วงเวลานั้นผลิตเป็นงานอุตสาหกรรม และไม่มีใครทำเซรามิกเป็นงานศิลปะ ต่อเมื่อได้ไปเรียนต่อด้านเซรามิกที่ Monash University เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และในปี 1999 ก็ได้ปริญญาโทด้านไฟน์อาร์ตและดีไซน์จาก University of Tasmania, Hobart วิภูจึงได้มีพื้นที่ทำงานในฐานะศิลปินเซรามิก

ปัจจุบันวิภูมีสตูดิโอ ClayLAB ที่ Kulin Nation ดินแดนของชาวอะบอริจินในเมลเบิร์น

2.ดินฟื้นคืนความสนุก

เหตุผลที่วิภูทำงานเซรามิกมาตลอดอาชีพ เพราะสัมผัสของดินทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับไปเล่นปั้นดินน้ำมัน ซึ่งเป็นความสุขเล็กๆ และเรียบง่ายในวัยเด็ก และยังเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่เสกสรรเป็นทุกสิ่งอย่าง สื่อสารความหมายและจินตนาการได้ไม่รู้จบจากก้อนดินธรรมดา

หลังปั้นดินเสร็จก็ต้องนำไปเผา แม้จะควบคุมอุณหภูมิให้ดีเพียงไร แต่เมื่อเปิดเตาออกมาทุกครั้ง ดินที่ปั้นเสร็จจะเผยความประหลาดใจให้คนปั้นได้เสมอ สีอาจจะผิดเพี้ยนไป เนื้อเซรามิกอาจแตกร้าว หรืออาจกลายเป็นงานศิลปะที่เกินคาดเดา เซรามิกจึงเป็นเหมือนการเดิมพันที่กะเกณฑ์ผลลัพธ์ไม่ได้

และการนั่งปั้นดินเงียบๆ ในสตูดิโอทุกวันไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการพักผ่อนที่ไม่รู้จักเบื่อสำหรับวิภู

3.ชิงเปลี่ยนตัวเองก่อนจะโดนเปลี่ยน

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเซรามิกชั้นแนวหน้า แต่มีช่วงหนึ่งที่วิภูรู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ในระดับศิลปินกลางๆ จึงเป็นตัวเขาเองที่ขวนขวายขอทุนจาก Australian Council for the Arts เพื่อจะทำงานโดยมีที่ปรึกษาเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งเขาเชิญเชิญอาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน มาเป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปินที่ทำงานมากว่า 20 ปีได้ออกไปจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองและทำงานกับวัตถุดิบใหม่ๆ  เช่น ใช้แก้ว ไม้ โลหะ ฯลฯ ร่วมกับวิธีทำงานหลากหลาย เช่น Performance Art, งานดรอว์อิง หรือการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติมาทำงานเซรามิก จนได้ออกมาเป็นผลงาน ‘วิวาห์พระสังข์’ ที่จะได้ชมกันในนิทรรศการ IN THE GARDEN, Things We Found ครั้งนี้ด้วย

4.วิวาห์พระสังข์

ณ ใจกลางสวนของวิภู ร่างทองของสิ่งมีชีวิตในจินตนาการจากผลงาน ‘วิวาห์พระสังข์’ บอกเล่าถึงการเดินทางของความสัมพันธ์ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาตลอดเส้นทางว่าด้วยการแต่งงานของเพศเดียวกัน และในที่สุด ความรักก็ชนะทุกสิ่ง

ผลงานที่วิภูนำมาจัดแสดงนี้ถ่ายทอดมาจากชีวิตจริงของเขาที่อยู่กับคนรักมากว่า 20 ปีโดยไม่ได้แต่งงานกัน กระทั่งในปี 2018 รัฐบาลออสเตรเลียผ่านกฎหมายให้คนเพศเดียวกันแต่งงานได้ วิภูกับคนรักจึงแต่งงานกันในปี 2019 เพื่อให้ความรักมีกฎหมายรองรับ ซึ่งนั่นหมายถึงสิทธิและชีวิตดีๆ ที่จะตามมา

เรื่องราวของสังข์ทองและนางรจนาที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคสารพัด ต้องย้ายไปอยู่อย่างลำบากที่กระท่อมปลายนา ต่อสู้กับคนหลายฝ่าย ต้องจับปลา หาเนื้อ แข่งขันตีคลี และทำอีกสารพัดอย่างด้วยความลำบากยากเย็น กว่าจะได้ครองคู่กัน ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับความรักของคนเพศเดียวกันที่ต้องต่อสู้ ขยับสิทธิของตนทีละเล็กละน้อยมานับสิบปีกว่าจะได้ครองคู่กันโดยมีกฎหมายรับรอง

งานวิวาห์พระสังข์จึงเป็นเรื่องราวความรักของมนุษย์

5.แมว – มิวส์ทางศิลปะ

วิภูเคยเป็นนายของหมามาก่อน จนกระทั่งได้มาเลี้ยงแมว สัตว์อิสระที่อยู่เองได้ ไม่ง้องอน และมีอำนาจทำให้เจ้านายกลายเป็นทาสของมันได้อย่างน่าพิศวง วิภูเลี้ยงแมวพม่าสองตัว ชื่อช็อกกี้กับไลลา สีเข้มตัวหนึ่ง สีอ่อนตัวหนึ่ง ซึ่งได้ปีนป่ายเล่นอย่างอิสระในบ้านที่เขาล้อมไว้อย่างมิดชิดเพื่อไม่ให้นายท่านหลุดออกไปจับนกหรือฆ่าสัตว์พื้นเมือง ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากในออสเตรเลีย

แมวที่เขารักดั่งลูกจึงปรากฏตัวในผลงานทุกโปรเจกต์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินทาสแมว เขาเคยแม้กระทั่งอุทิศนิทรรศการให้กับแมวโดยเฉพาะที่ชื่อ วิฬาร์ วิลิศมาหรา ที่ผูกโยงสามสิ่งที่เขาชอบ ได้แก่ แมว แดร็กควีน และละครนอก เรื่องไชยเชษฐ์ที่เขาเคยได้แสดงโขนเรื่องนี้สมัยเรียนมัธยม และตราตรึงกับฉากนางแมว เพื่อนสาวของนางเอกออกมารำฉุยฉายนางวิฬาร์ ที่เขาถูกใจจริตจก้านความตอแหลของนางแมวมานับแต่นั้น

วิภูกล่าวว่า แมวที่บ้านไม่เคยรู้ว่ามันคือมิวส์ที่ปรากฏตัวในงานศิลปะของเขา ถ้ารู้ มันคงเรียกร้องขนมและของเล่นเป็นค่าตัว

Photo: IG@vipooart

6.V for Victory

ระยะหลัง วิภูเริ่มปั้นมือเป็นรูปตัววี จนกลายเป็นลายเซ็นในผลงาน เขาเริ่มปั้นมือวีในงาน Happy Together ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้คนโศกเศร้า เขาพบงานวิจัยพบว่า เมื่อเราดูรูปที่มีความสุข เราจะพลอยสุขไปด้วย เวลาคนเซลฟีจะชอบชูสองนิ้ว จึงคิดว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความสุขได้ มือวีจึงเกิดขึ้นเพื่อให้กำลังใจผู้คน

  Photo: IG@vipooart

7.เรียนรู้จากดิน

30 กว่าปีที่เป็นศิลปินเซรามิก วิภูได้ตกตะกอนว่า

หนึ่ง จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี และเข้าใจว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบงานของเราได้

สอง อย่าเอาจิตใจไปผูกกับชื่อเสียง รางวัล ความสำเร็จ หรือการมีผลงานจัดแสดงในเทศกาลศิลปะดังๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แค่ปั้นงานที่เผาแล้วไม่แตกก็ดีเท่าไรแล้ว หรือแตกก็ปั้นใหม่ และนั่นคือสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้

ว่าแล้วก็ชวนไปเดินชมสวนศิลปิน IN THE GARDEN, Things We Found นิทรรศการกลุ่ม โดย วิภู ศรีวิลาศ, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย และ จูลี่ เบเกอร์ แอนด์ ซัมเมอร์ ชมสวนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 28 กันยายน ถึง 27 ตุลาคม 2024 ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top