8 เรื่องของ ‘หมอแซม’ หมอนักเขียนนิยายสุดปัง นักเขียนบทซีรีส์ดัง 4MINUTES

ชวนอ่านเรื่องราวของ ‘แซมม่อน’ นักเขียนนิยาย/มือเขียนบทซีรีส์เรื่องดัง อาทิ ทริอาช การุณยฆาต ไปพร้อมกับชมผลงานล่าสุด ‘4MINUTES’ ของคุณหมอที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนซีรีส์วาย ธุรกิจพันล้านของไทยในเวลานี้

8 เรื่องของ แซมม่อน (Sammon) คุณหมอนักเขียนนิยาย-บทซีรีส์วายตัวมัมเมืองไทย
1.แซมม่อน

คือนามปากกาในการเขียนนิยายของ พญ. อิสรีย์ ศิริวรรณกุล หมอเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

2.Asama

สมัยวาดรูปลงเว็บบอร์ด หมอแซมใช้ลายเซ็น A.sam ซึ่งมาจากชื่อเดิมว่า Asama จนกลายเป็นชื่อเรียกในแฟนคลับว่า ‘แซมม่อน’ และกลายเป็นนามปากกามาจนทุกวันนี้

3.หมอแฟมเมด

ชื่อเรียกสั้นๆ ของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่หมอแซมทำ มีหน้าที่ดูแลคนไข้ในขั้นปฐมภูมิ ทำหน้าที่ให้ความรู้ ส่งเสริมป้องกัน ชะลอการลุกลามของโรค รวมถึงคอยติดตามผลคนไข้ที่ป่วยหายกลับบ้าน และลงพื้นที่ทำกายภาพบำบัดถึงบ้าน ช่วยฟื้นฟูทั้งตัวคนไข้ ครอบครัวและชุมชน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องกลับมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เรื่องราวของคนไข้และครอบครัวได้กลายเป็นวัตถุดิบในการแต่งนิยายของ ‘แซมม่อน’

Photos: X @Sammon_scene

4.การวินิจฉัย (Diagnosis)

นิยายเรื่องแรกในชีวิตที่หมอแซมเขียนจบขณะเรียนแพทย์ปี 5 เป็นเรื่องของนักศึกษาแพทย์ที่รับเคสผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง อันที่จริงเป็นนิยายที่เธอแต่งไว้นานแล้วแต่เขียนไม่จบ แต่เมื่อได้อ่านนิยายวายที่เพื่อนส่งลิงค์มาให้อ่าน จึงเกิดแรงฮึดไปแต่งนิยายของตัวเองต่อจนจบ จากนั้นจึงอัปโหลดนิยายเรื่องนี้ในเว็บไซต์เด็กดี (Dek-D) และภายในสองสัปดาห์ก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมาซื้อลิขสิทธิ์ ด้วยเนื้อเรื่องของวิชาชีพ เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ซึ่งฉีกไปจากนิยายวายในเวลานั้นที่มักเป็นนิยายวายแนวนักศึกษาแพทย์และวิศวะ

5.สาววาย

จากนิยายเรื่องจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นแนววาย ไม่ใช่เพราะเขียนตามสมัยนิยม แต่หมอแซมเป็นสายวายมาตั้งแต่เด็ก โดยเสพวัฒนธรรมบันเทิงญี่ปุ่นทั้งมังงะ อนิเมะ เพลง โดจิน จึงคุ้นเคยกับการเห็นตัวละครชาย-ชาย เมื่อเขียนนิยายของตัวเอง อิทธิพล BL ของญี่ปุ่นจึงแทรกอยู่ในงานอย่างเป็นไปเอง

แต่จริงๆ แล้วหมอแซมอยากให้มองว่าเป็นแค่รสนิยมทางเพศของตัวละคร ไม่ใช่จุดแบ่งประเภทของงานสร้างสรรค์ว่าหากตัวละครเป็นเกย์แล้วจะต้องเรียกว่า ‘วาย’ แต่จุดแบ่งน่าจะเป็นแนวของเรื่องราว เช่น แนวสืบสวนสอบสวน แนวรอมคอม แนวแอ็กชั่น ฯลฯ

6.ตัวมัมแนวการแพทย์สืบสวนสอบสวน

นิยายของ ‘แซมม่อน’ สร้างเป็นซีรีส์แล้วหลายเรื่อง จนกลายเป็นตัวมัมแห่งนิยาย/ซีรีส์แนวสืบสวน สอบสวน ฆาตกรรม และการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การวินิจฉัย (Diagnosis) การุณยฆาต (Euthanasia) ทริอาช (Triage) พฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) อาชญพันธุกรรม (Q) ฯลฯ

หมอแซมพยายามฉีกแนวมาเขียนนิยายแนวอื่นๆ บ้าง เช่น Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก ที่ทำเป็นซีรีส์เรื่อง Bite Me

 

ต่อ ธนภพและเจเจในซีรีส์การุณยฆาต

Photos: X @Sammon_scene

7.นักเขียนนิยายมืออาชีพ นักเขียนบทซีรีส์มือใหม่

นอกจากเขียนนิยายปีละ 3-5 เรื่อง หมอแซมยังท้าทายตัวเองด้วยการเริ่มเขียนบทซีรีส์ โดยเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทของซีรีส์ Make a Wish ภารกิจนายเทวดา (2023) และซีรีส์แนวยูริที่กำลังถ่ายทำเรื่อง หยดฝนกลิ่นสนิม ที่แฟนๆ รอคอยคู่จิ้นอิงฟ้า-ชาร์ลอต ในมาดคุณหมอและตำรวจ

Photos: X: TV Thunder Series

8.4MINUTES ซีรีส์ฉีกแนว

ผลงานล่าสุดที่หมอแซมคิดพลอตเรื่องเอง แต่งเรื่องเอง เขียนบทเองคนเดียวเรื่องแรก ซีรีส์ใหม่จากค่าย Be On Cloud ของปอนด์-กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้บริหารที่กล้าทุ่มทุนสร้างซีรีส์วายแนวมาเฟียที่บทฉีก โปรดักชันดี การแสดงแจ่ม จนได้รับนิยมไปทั่วโลกและแจ้งเกิดนักแสดงดังมากมาย ตั้งแต่มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ หรือไบเบิ้ล-วิชญ์ภาส สุเมตติกุล

Photos: FB: Be on Cloud

ใน 4MINUTES คือการรับบทนำครั้งแรกของไบเบิ้ลและเป็นครั้งแรกที่เจษ-เจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ มาร่วมงานกับบีออนคลาวด์ ซึ่งอีพีแรกที่ออนแอร์ไปเมื่อ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ขึ้นเทรนด์ X ไปตามความคาดหมายจากกระแสตอบรับแฟนๆ ของค่ายบีออนคลาวด์ นักแสดงและหมอแซมที่บอกเล่าเรื่องราวของชายผู้มองเห็นอนาคตล่วงหน้าได้ 4 นาที…และพลังวิเศษนี้ส่งผลต่อตัวเขาและคนรอบข้างอย่างไรต้องติดตามกัน

ธุรกิจซีรีส์วาย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์วายกว่า 177 เรื่องซึ่งสามารถขยายกลุ่มผู้ชมจนส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้

ซีรีส์วายไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตละครหรือหนังไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความสำคัญและมูลค่าให้กับธุรกิจอื่นๆ ตามมาด้วย อาทิ ความนิยมในตัวนักแสดงจนทำให้นักแสดงไทยกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชั่นอันดับต้นๆ ของโลก

โดย Lefty เอเจนซีด้านการตลาดออนไลน์ได้รายงานว่า นักแสดงไทยได้กลายเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากมาย

ในปี 2023 นักแสดงไทย 12 คนได้สร้างมูลค่าสื่อรวมกันถึง 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แบรนด์ต่างๆ หันมาร่วมงานกับนักแสดงไทยถึง 70%

นักแสดงไทยได้รับเชิญให้ไปแฟชั่นวีคในเมืองหลวงแฟชั่นโลกทั้งปารีส มิลาน นิวยอร์กและลอนดอนเพิ่มขึ้น 225%

โดยรวมแล้วโพสต์ในโซเชียลมีเดียลที่นักแสดงไทยโพสต์มีจำนวนมากกว่าแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ชาติอื่น 3 เท่า

ส่วนประเทศที่ชื่นชอบซีรีส์วายของไทยมากที่สุด และกลายเป็นมัมหมีให้กับเหล่านักแสดงไทยในช่วงแฟชั่นวีคแบ่งเป็นชาวไทย 67% อินโดนีเซีย 8% สหรัฐอเมริกา มาเลเซียและเวียดนามประเทศละ 2%

ไบเบิ้ล-วิชญ์ภาส สุเมตติกุล

Photo: FB: Be on Cloud

นักแสดงไทยที่สร้างมูลค่าสื่อสูงสุดจากการร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกในปี 2023 ใน 30 อันดับแรกมาจากค่ายบีออนคลาวด์ ได้แก่

อันดับ 1 อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ $48.2M EMV 17.56% ER

อันดับ 2 มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง $32.2M EMV 14.13% ER

อันดับ 29 ไบเบิ้ล-วิชญ์ภาส สุเมตติกุล $1.88M EMV  8.47% ER

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ซีรีส์วายของไทยมีจำนวนผู้ชมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่า 3 เท่าตัว มีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 1,000 ล้านบาท

GMMTV ผู้ผลิตซีรีส์วายเจ้าใหญ่ของไทย ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีรายได้สุทธิรวม 1,290,435,991 บาท โตขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 33.97 มีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 1,058,462,245 บาท ทำให้ในปี 2564 มีกำไรรวมอยู่ที่ 185,691,467 บาท

แม้แต่ในญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดซีรีส์วายที่ส่งอิทธิพลต่อวายไทย ปัจจุบันซีรีส์วายไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ตีตลาดญี่ปุ่นแตก โดยญี่ปุ่นมีการจัดกิจกรรมแฟนมีตระหว่างศิลปินซีรีส์วายของไทยกับแฟนคลับชาวญี่ปุ่นเป็นระยะๆ แม้ราคาบัตรสูง แต่แฟนคลับสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ความนิยมของซีรีส์วายไทยต่อยอดให้เกิดธุรกิจให้บริการสถานที่จัดงาน ธุรกิจรับจัดงานแสดง ธุรกิจผลิตของชำร่วย การตามรอยสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เพลงประกอบซีรีส์ ธุรกิจโฆษณาที่แฝงไปกับซีรีส์ก็ยังได้รับอานิสงส์ดีให้ธุรกิจโตตามไปด้วย

สื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง The Economist และ Nikkei วิเคราะห์ว่า ซีรีส์วายของไทยอาจสามารถเติบโตได้เทียบเท่ากับเคป๊อปของเกาหลีใต้ซึ่งสร้างเม็ดเงินเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020

รอชมกันว่า 4MINUTES ของ ‘แซมม่อน’ จะสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกได้อย่างไรบ้าง

Photo: FB: Be on Cloud

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top