20 เรื่องของ ‘ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร’ ศิลปินที่ซ่อนใบหน้าไว้ใต้ ‘คนหัวเมฆ’

ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ศิลปินสุดขยันพา “Somewhere Only We Know ที่เพียงเรารู้” นิทรรศการภาพวาด 66 ชิ้นและงานประติมากรรมขนาดสูงกว่า 3 เมตรในจักรวาลที่เริ่มต้นจากการรักคนคนหนึ่งหมดใจ เเละจบลงที่การจากลาเเบบไม่ได้มีเวลาให้เตรียมใจ ฮ่องเต้จึงใช้ขอบคุณฝนที่พาเมฆมาครอบหัวเขาไว้เป็นปี จนกลายเป็นคาแรกเตอร์ครอบหัวใจผู้ชมที่ชื่อ ‘คนหัวเมฆ’

The Optimized พาดำดิ่งสู่ชีวิตและเรื่องราวของ Art of Hongtae ศาสตร์ของคนที่ทำทุกสิ่งอย่างมีศิลปะ

1.พ่อเป็นหมอผ่าตัดสมอง แม่เป็นผู้หญิงปกติ ทั้งสองให้ลูกชาย ‘ฮ่องเต้’ เรียนศิลปะเพื่อให้ศิลปะช่วยพัฒนาสมอง

2.ช่วงมัธยม เขาผอมเพราะชอบเล่นกีฬา แต่เลิกไป เพราะเล่นกีฬาแล้วมือสั่น วาดรูปไม่ได้

3.เขาไม่ชอบวาดรูปเหมือนบุคคล เพราะวาดอย่างไรก็ไม่เหมือน เขาไม่ได้เรียนศิลปะ จึงวาดรูปมังกร เพราะไม่มีใครเคยเห็น ดังนั้นจะมาว่าเขาวาดผิดไม่ได้ สะท้อนนิสัยชอบตั้งกติของเขาเอง

4.แต่ก่อนเขาคิดว่า ‘ศิลปิน’ เป็นคำสูงส่ง แต่พอมาเป็นศิลปินเองก็ไม่รู้สึกพิเศษอะไร ศิลปินคืออาชีพหนึ่ง

5.ฮ่องเต้ในวัย 4 ขวบเรียนศิลปะกับ ครูสังคม ทองมี ครูผู้เปลี่ยนชีวิตที่ไม่ดุว่าเขาวาดรูปช้างสีชมพู ซ้ำยังบอกว่า ช้างเป็นสีชมพูได้ หากไม่มีคำพูดประโยคนั้น เขาอาจกลายเป็นคนไม่มีจินตนาการ

6.ตอนเด็กเขาถูกส่งไปตระเวนแข่งวาดรูป ซึ่งเขาจะดีใจมาก เพราะได้ออกนอกโรงเรียนตอนกลางวัน เขาจะวาดรูปให้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ไปดูผู้เข้าแข่งขันคนอื่นวาดรูป

7.“พรสวรรค์มีจริง เเละคนไร้พรสวรรค์อาจเอาชนะมันได้ด้วยความเพียร” โพสต์จากไอจี @artofhongtae

8.ฮ่องเต้เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นั่นเขาได้เจอครูผู้เปลี่ยนชีวิตอีกท่าน คืออาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์ที่ปรึกษาที่ไม่ตรวจทีสิสเรื่อง ‘พิพิธภัณฑ์ช้างแมมมอธและหินล้านปี’ ที่ฮ่องเต้บากบั่นทำสุดชีวิต แต่อาจารย์ไม่รู้จักช้างแมมมอธ จึงไม่มีความรู้พอที่จะตรวจ

9.ด้วยความโกรธจัด ฮ่องเต้ไปของานออกแบบรีสอร์ตของเพื่อนมาทำ ส่งอาจารย์บุญเสริมอย่างซังกะตาย บอกครูว่า “ไม่ชอบงานนี้เลย มันไม่ท้าทาย” อาจารย์บอกว่า ทำไมไม่คิดว่าสิ่งที่เราไม่ชอบคือความท้าทายอย่างหนึ่งล่ะ? ประโยคนั้นเปลี่ยนวิธีมองโลกเขาอีกครั้ง

10.ครั้งเดียวที่ได้ใช้ความรู้จากการเรียนสถาปัตย์มา 5 ปีคือ สมัยที่ฮ่องเต้ เป็นกองบรรณาธิการนิตยสารmy home 

11.การเรียนสถาปัตย์ทำให้เขาต้องตอบคำถามอาจารย์ให้ได้เสมอว่า “ทำไมวาดรูปนี้” ซึ่งฝึกให้เขาตั้งคำถามกับทุกอย่าง ซึ่งฝึกให้เขามองหลายๆมุม ซึ่งฝึกให้เขาครีเอทีฟขึ้น

12.เพจ Art of Hongtae มีอายุ 12 ปี เขาสร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่แสดงและสะสม ‘ศิลปะ’ ในตัวเอง ทั้งกวี ข้อคิด ภาพวาด อาร์ตทอย ประติมากรรม ฯลฯ เอนเกจเพจของเขาดีแบบออร์แกนิก เพราะใช้กลยุทธ์ ‘โพสต์ทุกวันในเวลาที่อยากโพสต์’ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ลูกเพจเห็นว่าศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวัน

13.ชีวิตเขาน่าเบื่อ ฮ่องเต้ว่างั้น มีแต่งาน เขาจึงชอบทำงานหลากหลาย ที่กลายมาเป็นสีสันมากมายให้ชีวิต

14.งานศิลปะของเขามักตั้งคำถามกับความเชื่อ เขาเคยเขียนอธิบายไว้ในโซเชียลมีเดียว่า “มีคนชอบถามว่าทำไมถึงเราชอบเล่นกับความเชื่อ หรือสิ่งเคารพต่างๆเสมอ ก็จะตอบไปว่า เพราะชอบเลยเล่นด้วย สำหรับเรา “ความเหมาะสม” เป็นสิ่งสมมติ เหมือนทุกๆอย่างในโลกนี้แหละ เป็นของเฉพาะตน เฉพาะกลุ่ม เฉพาะรสนิยมของเเต่ละบุคคล

การที่มันไม่ได้มีบทลงโทษทางกฎหมายชัดเจนสำหรับการเอาพระพุทธเจ้ามาวาดเป็นการ์ตูน หรือออกเเบบให้มีรูปลักษณะเเตกต่างไปจากที่เคยเป็นเคยเห็นมา เพราะจริงๆเเล้วไม่มีใครเคยเห็นบุดด้าไง

ขนาดพระไตรปิฎกที่ใช้กันปัจจุบันนี้ยังไม่รู้ใครเขียนเลย ดังนั้นการนับถือพระพุทธเจ้าในฐานะ “สิ่งอันเเตะต้องไม่ได้” จึงไม่ต่างกับการบอกว่า อย่าเอาธอร์มาเล่นตลกใน MCU นะ เพราะท่านเป็นเทพเจ้า

เเละหากจะนับถือพระสิริโฉมกายภาพของพระโคดมที่เคยกราบเคยไหว้กันเเต่เล็กเเต่น้อยในพระวิหาร
ทำไมไม่ลองย้อนไปอ่านคำสอนเรื่อง “โลกธรรม” หรือเเม้เเต่ข้อธรรมะเเมสๆที่ทรงย่ำนักหนาอย่าง “ไตรลักษณ์” ดูสักหน่อย

หรือถ้าขี้เกียจอ่านเพราะมัวเเต่ทำบุญอยู่ก็ควรรู้นิดนึงว่าศาสดาเคยตรัสไว้ว่า “เมื่อตถาคตนิพพานเเล้ว ให้ธรรมวินัยเป็นศาสดาเเทนเรา” ไม่ได้ตรัสว่า “ให้จำหน้าตถาคตไว้ว่าเป็นเช่นนี้ อย่าให้ใครปั้นให้ผิดเพี้ยนไปได้เชียวนะจ๊ะ!”

อะไรคือเเก่น อะไรคือเปลือก อะไรควรนำมาไตร่ตรองพิจารณา อะไรสมควรวางสมควร

ความเชื่อมันสนุกเเหละ
ถ้าเราเล่นกับมันเป็น
เเละจงรู้ไว้ว่า “มีคนเกลียดความเปลี่ยนเเปลงเสมอ”
เเละถ้ามัวเเต่กลัวคนเหล่านี้ช๊อคตายหรือเดือดร้อนใจ
ก็คงไม่ต้องสร้างงานเหี้ยอะไรกันพอดี
เเล้วปล่อยให้ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว
เเละค่อยๆตายไปช้าๆ

15.ตอนนี้เขาอยากส่งต่อความรู้ จึงไปเป็นครูสอนศิลปะให้เด็ก ถึงขั้นที่วันหนึ่งเขาอาจไม่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินแล้ว และไปเป็นครู

16.ถาม: แรงบันดาลใจในการเขียนภาพแต่ละภาพของพี่คืออะไรครับ

ฮ่องเต้: ความอยากจ้ะ อยากวาดก็เลยเลยวาด เจอสิ่งที่ชอบก็วาด อยากบันทึกไว้ก็วาด ชอบก็วาด

17.“ในนิทรรศการของเรา เราไม่เคยคิดว่าต้องให้ผู้ชมได้บทเรียนใดๆ หรือวางแนวความคิดเป็นแก่นสาระหนักๆ เพราะเราไม่ได้ใช้ศิลปะสื่อสารอะไรมากไปกว่าความรู้สึกของเราซึ่งเป็นผู้สร้างงาน เรารู้สึกแบบนี้ เราอยากบอกเฉยๆ

เราอยากให้ทุกคนได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่กับชิ้นงานที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความรู้สึกแท้และรสนิยมของเราอย่างตั้งใจ ที่เราใส่ไว้ในงานเป็นความรู้สึกที่แทนค่าด้วยสีและสัญญะส่วนตัวบางอย่างซะ 80-90%

ที่เหลือคือความสวยงามขององค์ประกอบ

การเสพงานไม่ควรมีคำว่าง่ายหรือยากเกิดขึ้น

การเสพงานนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แตกต่างหลากหลายตามแต่ประสบการณ์ของผู้รับสารนั้นจะตีความอย่างลึกซึ้ง หรือเพียงแค่เข้ามารู้สึกกับชิ้นงานแต่ละชิ้นก็ตามแต่ใจ

และนั่นคือความงามของศิลปะในนิยามของเรา” จากโพสต์ไอจี @artofhongtae

18.‘คนหัวเมฆ’ คาแรกเตอร์ใหม่อันโด่งดังของฮ่องเต้ปรากฏกายครั้งแรกในนิทรรศการ “Turn Your Scars into Stars #แม้จะเจ็บปวดแต่คุณก็งดงาม” (2023) ภาพของชายผู้มีหัวปกคลุมด้วยเมฆตลอดเวลาที่ชวนฉงน ลึกลับ เหงา เศร้า อบอุ่น จนกลายเป็นที่พูดมากมาย

19.Somewhere Only We Know (2024) นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของคนหัวเมฆ และเปิดเผยคาแรกเตอร์ทั้งห้าในจักรวาลคนหัวเมฆ ได้แก่ ผู้ชายหัวเมฆ ผู้หญิงหัวเมฆ หมาหัวเมฆ เจ้าแมวดำและแมวขาว ผ่านภาพวาด 66 ภาพและชิ้นงานประติมากรรมขนาดสูงกว่า 3 เมตร

เเละบนดาดฟ้านั้น 

เขาพบว่าเขาไม่ใช่คนหัวเมฆคนเดียวบนโลกนี้  

แต่เธอก็หัวเมฆด้วยเช่นกัน

 

20.ฮ่องเต้โพสต์โซเชียลมีเดียถึงงาน#somewhereonlyweknow ไว้ว่า

“ขอบันทึกไว้หน่อยว่าเราเริ่มการเดินทางนี้มายังไง ทุกอย่างเริ่มต้นจากการรักคนคนหนึ่งหมดใจ วาดฝัน วางอนาคต เเละจบลงที่การจากลาเเบบไม่ได้มีเวลาให้เตรียมใจ

ขอบคุณฝนที่พาเมฆมาครอบหัวเราไว้เป็นปี ในระหว่างนั้นเราร้องไห้เยอะเเละหนักที่สุดเท่าที่เคยร้อง มันไม่มีใครรักเราเท่าเเม่ คำเชยๆย้อนกลับมาตบหน้าเเละเเตะบ่าเราอย่างเเผ่วเบาทุกวัน

เรายังคงใช้ชีวิต ทำงาน เรายังคงโดดเดี่ยวเเม้ว่าเราจะมีใครใหม่ เราเล่าให้เขาฟังว่าเราเหงานะ เเม้จะมีเธอ หลายคนจากไป รับไม่ไหว ไม่เป็นไร มันคือเมฆของเราที่เราเเบกไว้บนหัวเสมอ

ปีนี้เราพบกว่า เราสนุกกับการเป็น #คนหัวเมฆ ความเดียวดายสีสวยขึ้น เราเจอเเง่งามของการล่องลอยไร้จุดหมาย เรามี @benyatip_som (เลขาฯ) ที่เป็นเงาต่างสีที่คอยเป็นสติให้เมื่อเราไร้สติ มีเเก๊งใหม่ๆที่พร้อมจะโอบกอดเราเข้าไปร่วมสนุกด้วย มีผู้ใหญ่เมตตา หมาหัวเมฆ เเมวขาว เเมวดำ เเละหญิงสาวชุดขาวยาวพลิ้ว เริ่มชัดเจนขึ้นในมโนสำนึก

เราก้าวข้ามความกลัวในการพาหัวเมฆเดินทางต่อไปในดินเเดนฝัน ที่ๆใจเรามักหนีไปซ่อนอยู่ มังกร รูปปั้นหินเขรอะมอส ซากวิหาร ที่ๆเราเย็นใจในการเป็นเรา ขอบคุณทุกประสบการณ์ ทุกโมเมนต์ จริงหรือเเฟนตาไซซ์ ที่ทำให้เราหาพื้นที่ #ที่เพียงเรารู้ จนพบ.

Somewhere Only We Know เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 21 เมษายน 2567 ที่ RCB Galleria 4 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

 

Words: Sritala Supapong

Photos: River City Bangkok

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top