เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ไปร่วมดินเนอร์ปาร์ตี้ของแบรนด์นาฬิกา Tag Heuer หลังการแข่งขันฟอร์มูลาวันที่โมนาโกเสร็จสิ้นลง แน่ละว่าลิซ่าปรากฏตัวครั้งใดย่อมตกเป็นข่าว แต่อีเวนต์นี้ได้ทั้งความดังและความภูมิใจเมื่อมินิเดรสชุดเก๋บนร่างลิซ่าคือแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยที่ยืนหยัดทำแฟชั่นยั่งยืนอย่าง Pipatchara
ดีไซเนอร์ไทยในแบรนด์ระดับโลกอย่าง Givenchy
หากจะกล่าวถึงแบรนด์แฟชั่นไทยที่เป็นแนวยั่งยืนและเก๋ด้วย ชื่อของ ‘Pipatchara’ ของสองพี่น้อง เพชร-ภิพัชรา และทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา มาวินเป็นชื่อแรกๆ
Photos: IG @pipatchara
‘Pipatchara’ เป็นชื่อของ ‘เพชร’ ซึ่งร่ำเรียนมาด้านออกแบบแฟชั่นจาก Academy of Art University โรงเรียนศิลปะและแฟชั่นในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่เพชรจะได้ทุนไปเรียนต่อแฟชั่นที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne อันเป็นโรงเรียนแฟชั่นชั้นสูงที่ปารีส โดยที่เธอไม่กระดิกหูกับภาษาฝรั่งเศสเลย ทว่าใครก็ตามที่รักแฟชั่น ย่อมฝันอยากไปเรียนหรือทำงานที่ปารีสแทบทั้งสิ้น
เพชรจึงรับทุนไปเรียนที่ปารีส และด้วยความที่เป็นโรงเรียนแฟชั่นอันดับต้นๆ บรรดาแบรนด์ต่างๆจึงมักมาส่องนักเรียนแฟชั่นที่มีแววไปทำงานด้วย ซึ่งฝีมือของเพชรไปเข้าตาแบรนด์ Chloé, Ralph Lauren และ Givenchy หลังจากได้ทำงานกับไฮแบรนด์เหล่านี้นานหลายปี ก็ได้หล่อหลอมประสบการณ์ออกแบบเสื้อผ้า แอ็กเซสเซอรีส์และลายพิมพ์ให้กับเธอ
แบรนด์ของเพชรและทับทิม
เมื่อเพชรตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทยก็คิดอยากตั้งแบรนด์แฟชั่น หลังจากคิดอยู่นานว่าจะทำเสื้อผ้าหรือแอ็กเซสเซอรีส์ดี ทับทิม พี่สาวซึ่งทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดให้เงื่อนไขไปว่า “หากจะทำแบรนด์ต้องทำในแนวทางยั่งยืนเท่านั้น” นั่นทำให้เพชรได้พี่สาวมาเป็นหุ้นส่วนและได้ก่อตั้ง Pipatchara แบรนด์ที่เปิดตัวด้วยแอ็กเซสเซอรีส์อย่างกระเป๋าและรองเท้า
Photos: IG @pipatchara
Pipatchara โด่งดังในหมู่สายแฟชั่นในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยเอกลักษณ์งานสานหนังด้วย เทคนิคมาคราเม่ จากฝีมือถักทอของเหล่าครูดอยในภาคเหนือ และในบางรุ่นยังใช้หนังวีแกนที่ทำจากพืช เช่น กระบองเพชร แบรนด์จึงตอบโจทย์คนรักแฟชั่นดีไซน์ไม่ซ้ำใคร ทั้งยังได้รักษ์โลกและกระจายรายได้สู่ชุมชนไปด้วย
6 เดือนได้กระเป๋า 1 ใบ
ความท้าทายในการทำแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนไม่ใช่เรื่องดีไซน์ที่ทุกอย่างจบได้บนหน้ากระดาษ แต่ความยากคือการหาแนวร่วมในชุมชนอันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบความยั่งยืนที่แท้จริง เพชรและทับทิมจึงขึ้นดอยไปพบครูที่แม่ฮ่องสอนซึ่งไม่มีพื้นฐานงานถักจักสานมาก่อน ทว่ามีเวลาหลังโรงเรียนเลิกและมีความตั้งใจมากพอจะเรียนรู้ทักษะใหม่เป็นงานหัตถกรรมที่สองพี่น้องสอนให้
ครู 8 คนที่เริ่มต้นไปด้วยกันในเดย์วันของ Pipatchara ในที่สุดก็สามารถทำงานหัตถกรรมในคุณภาพระดับส่งออกได้ ซึ่งต้องใช้ความอุตสาหะและความพิถีพิถันขั้นสุด Pipatchara จึงเป็นแบรนด์สโลว์แฟชั่นหรือเป็นงานคราฟต์ เพราะกระเป๋า 1 ใบใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงพร้อมไปอยู่บนไหล่สายแฟจากทั่วโลก
แบรนด์ไทยโกอินเตอร์
ในเดือนมีนาคม 2022 Anne Hathaway ไปเดินพรมแดงที่งาน SXSW 2022 ในเดรสเลื่อมสีเงิน และในมือของเธอถือกระเป๋า Mini Amu Crystal ตกแต่งแถบสีรุ้งเพื่อสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ และกระเป๋าที่ได้พื้นที่สื่อทั่วโลกพร้อมกับแอนน์ แฮทาเวย์ก็มาจาก Pipatchara จากไทยแลนด์
Photos: IG @pipatchara
เพชรและทับทิมเองก็ประหลาดใจที่ได้เห็นผลงานของแบรนด์ไปอยู่ในมือของซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด ซึ่งตัวแอนน์เลือกจะถือกระเป๋าใบนี้เองเพราะเข้ากับชุดและชอบใจในแถบสีรุ้งนี่แหละ!
มาถึงเดือนตุลาคม 2022 Pipatchara เป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่ได้นำคอลเล็กชั่นอาภรณ์ชั้นสูงหรือโอตกูตูร์ไปเดินแฟชั่นโชว์ที่อาหรับแฟชั่นวีคซึ่งจัดที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพิเศษไปอีกขึ้นเมื่อแบรนด์ขนเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าไปโชว์ถึง 30 ลุค
Photos: IG @pipatchara
คอลเล็กชั่นนี้เป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะเป็นการเปิดตัวเสื้อผ้าที่ไม่ใช้ผ้าหรือเส้นใยใดๆมาทำ แต่ใช้วัสดุใหม่ที่ทางแบรนด์คิดค้นขึ้นมาเองเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มคุณค่าให้กับขยะที่มีชื่อว่า ‘Infinitude’
ขยะกำพร้าที่ไม่มีใครแลสู่แฟชั่นหรูที่ใครๆก็อยากเชยชม
ช้อนส้อมพลาสติก กล่องใสใส่ข้าว ฝาขวดน้ำ ฯลฯ คือขยะที่ต่ำต้อยกว่าขยะอื่นไปอีกขั้นเพราะเป็น ‘ขยะกำพร้า’ ที่ไม่มีใครรับซื้อหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ สุดท้ายต้องลงเอยถูกฝังกลบตามบ่อขยะท่าเดียว แต่ช่วงโควิดนั้นเอง เพชรและทับทิมได้มอบชีวิตที่สองให้กับขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกครั้ง ในรูปแบบไฉไลที่ไม่มีใครทิ้งมันลงอีกต่อไปเสียด้วย
แต่ใช่ว่าแค่เอาไปหลอมเหลวแล้วขึ้นรูปใหม่ก็ใช้ได้เลย เพราะบางชิ้นก็เปราะ แตก หัก สีไม่ได้ตามที่ต้องการ ฯลฯ สองพี่น้องขลุกอยู่ในโรงงานแยกขยะถึง 2 ปี ทดลองผสมพลาสติกชนิดต่างๆนาน 9 เดือน กว่าจะได้พลาสติกที่มีรูปร่าง สีสัน ความคงทนดีพอจะทำให้คนทั่วไปมองไม่ออกเลยว่า ชาติก่อนของพวกมันคือขวดยาคูลท์ ฝาขวดน้ำ หรือกล่องข้าวพลาสติก
Photos: IG @pipatchara
‘Infinitude’ คือชื่อของวัสดุพลาสติกอัปไซเคิลของ Pipatchara ที่มีความหมายว่า ‘ความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด’ ของวัสดุใหม่ในโลกแฟชั่นที่มีรูปทรงฟรีฟอร์ม การประกอบขึ้นเป็นชิ้นงานจึงต้องหาแผ่นพลาสติกชิ้นที่มีมุมเข้ากันมาร้อยเรียงเป็นกระเป๋า สร้อยคอ ต่างหู พวงกุญแจ หรือเดรสที่ได้ไปอวดชาวโลกในอาหรับแฟชั่นวีค 2022 และ 2023, ลอนดอนแฟชั่นวีค และล่าสุดคือ Infinitude ที่เรียงร้อยกันเป็นเดรสชุดพิเศษที่ Pipatchara ทำขึ้นเพื่อให้ลิซ่าใส่ไปร่วมปาร์ตี้ฟอร์มูลาวันที่โมนาโกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
Photos: IG @pipatchara
เดรสคัสตอมเมดเฉพาะลิซ่านี้ประทับชื่อ LISA ลงแผ่น Infinitude สีประกายทองวิบวับที่ทางแบรนด์เล่าที่มาที่ไปว่า “ทำจากฝาขวดน้ำใช้แล้วผสมกับกล่องข้าวสีใส โดย 80% ทำจากฝาน้ำสีทอง เเละ 20% ทำจากกล่องภาชนะใส่อาหาร ทั้งหมดเป็นสีธรรมชาติ ทางทีมพิถีพิถันในการไล่ระดับสีของชุดตั้งเเต่อ่อนไปเข้ม เพื่อให้ชุดกระทบเเสงในงาน After Party เเละเราใช้ขยะมากกว่า 1,800 ชิ้น โดยส่วนใหญ่มาจากฝาขวดน้ำเเละกล่องข้าวใส”
Photos: IG @pipatchara
หลังจากลุคนี้ของลิซ่าออกไป ทางแบรนด์ต้องประกาศทางไอจีของรับบริจาคฝาขวดน้ำสีทองเพราะกลายเป็นของหายาก!
และนอกจากลิซ่าจะปังมากในเดรสตัวสวยแล้ว ยังช่วยกระพือชื่อ Pipatchara ให้ทั่วโลกได้รู้ว่า แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน แฟชั่นเพื่อชุมชน แบรนด์ไทยทำได้ และทำถึงมากๆด้วยนะ คุณน้า!
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.sportskeeda.com/us/k-pop/news-blackpink-s-lisa-stuns-tag-heuer-dinner-party-monaco-formula-1-grand-prix
- https://www.instagram.com/pipatchara/
- https://ellethailand.com/elle-empowering-woman-pipatchara/
- https://www.matichon.co.th/lifestyle/fashion/news_3406956
- https://www.th-hellomagazine.com/celebrity/exclusive-interviews/petch-pipatchara-ladies-club/
- https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1435806