‘Teayii’ ศิลปินที่ทำให้ภาษาไทยเป็นศิลปะที่ต้องอ่าน รู้สึก และมูฟออน

Teayii (เตยยี่) ประภัสสร กาญจนสูตร นำถ้อยคำภาษาไทยมาร้อยเรียงเป็นวลีทัชใจ โควตสุดฮีลให้อ่านตามตัวอักษรกันจริงๆ และนิทรรศการของเธอก็เป็นพื้นที่ที่ศิลปินเป็นผู้ฟังที่ดีของผู้เสพงาน เตยยี่จึงเป็นเพื่อนร่วมทางของคนที่อยากซื่อสัตย์กับความรู้สึก เพื่อจะได้มูฟออนไปจากอะไรบางอย่าง

เตยยี่ทำหน้าที่นั้นอีกครั้งในนิทรรศการใหม่ ‘จบแบบนี้ดีที่สุด’ ที่ The Optimized พาไปชมกัน

ศิลปินนักเขียนที่ไม่ได้เป็นนักอ่าน

เตยยี่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ที่บอกว่าเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด นั่นรวมถึงเธอด้วย เรื่องโปรดในชีวิตตั้งแต่เด็กๆ มาคือ กีฬากับศิลปะ จึงเข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่นั่นไม่เพียงสอนให้เตยยี่รักศิลปะมากขึ้น แต่สอนว่าจะทำอย่างไรให้ทำงานศิลปะได้โดยไม่อดตาย มีการสอนให้ศิลปินทำพรีเซนชัน พิชต์งาน ขายสปอนเซอร์ ฯลฯ เป็นจุดเปลี่ยนความคิดว่า Art for Art ก็ดี Art For Business ก็มีเหมือนกัน เตยยี่จึงยอมรับได้ว่าบางอย่างเขียนเพื่อดำรงชีพ บางงานเขียนเพื่อเยียวยาตัวเอง หรือคนอื่น ศิลปะจึงมีหน้าที่หลากหลาย

รับบทครูท่านหนึ่ง

เมื่อเชื่อแล้วว่า ศิลปะไม่ทำให้เราอดตาย เตยยี่จึงเปิด Rhythm Of Arts Creative Space โรงเรียนที่ให้เด็กๆ เข้ามาค้นหาตัวเอง ลองเรียนศิลปะสาขาต่างๆ ก่อน ไม่ว่าจะเพนต์ จนไปถึงกำกับ เพื่อลองทำให้รู้ก่อน แล้วจึงค่อยเลือกเรียนต่อในสิ่งที่ใช่ในมหาวิทยาลัย โรงเรียนแห่งนี้คือการแก้ Pain Point ของเตยยี่ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศนี้ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กที่เกิดมาแล้วหลงใหลในศิลปะ

มนุษย์ผู้ไม่รู้จักความทุกข์ จึงทุกข์มาก

ในวัยเด็กเตยยี่เติบโตมาโดยไม่เคยสัมผัสความทุกข์ ทำให้เธอเผยด้านบวกแบบ ‘เราโอเค แฮปปี้ ไม่เป็นไร’ ให้คนอื่นเห็นอยู่เสมอ จนวันหนึ่งที่ความเศร้าเข้ามา…และเธอเศร้ามากจนหลังพิงฝา ทางออกเดียวในเวลานั้นคือ เขียนระบายออกมา เพื่อให้เธอได้ยินเสียงของตัวเอง

นอกจากการเขียนจะเป็นวิธีฮีลใจของเตยยี่แล้ว มันยังกลายเป็นตัวกลางเชื่อมใจระหว่างเธอกับคนอื่นๆ

Photo: FB teayiiartworks

เขียนคำเป็นงานศิลปะ…ได้เหรอ

เตยยี่เคยเป็นโปรดิวเซอร์สถานีดนตรี เป็นเจ้าของโรงเรียน เป็นครูสอนการแสดง จนกระทั่งพบจุดลงตัวที่เธอเลือกสื่อสารความเป็นมนุษย์ผ่านคำเขียน

งานศิลปะที่คนคุ้นเคยมักเป็นภาพวาด รูปถ่าย หรืองานปั้น เมื่อเตยยี่ลุกขึ้นมาทำให้ตัวอักษรภาษาไทยเป็นงานศิลปะ จึงโดนต่อต้านตั้งคำถามว่า ‘เขียนคำแล้วเป็นงานศิลปะได้ยังไง’ เตยยี่เคยรับมือด้วยการไปวอร์กับคนในโซเชียล แต่แน่นอนว่าการทำแบบนั้นไม่ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นได้ ทางรับมือของเตยยี่จึงเป็นการปล่อยและทำงานของตนต่อไป ใครรู้สึกตามก็รู้สึก ใครไม่รู้สึกก็คือไม่รู้สึก เพราะไม่มีใครสามารถบังคับให้คนรู้สึกหรือเห็นตามได้

Photo: FB teayiiartworks

เอาคืนความทุกข์ด้วยการสนุกกับอาร์ต

‘teayiiartsworks’ เพจที่เตยยี่เปิดขึ้นมาเพื่อ ‘เอาคืนความทุกข์’ เพราะมันทำให้เราเสียเวลาร้องไห้หลายวัน หลายเดือน หรืออาจจะหลายปี และเตยเจ้าคิดเจ้าแค้นมากถึงขนาดจดบันทึกความทุกข์ว่าทำให้เธอรู้สึกอย่างไร ได้ยินเสียงอะไร สะสมความอึดอัดไม่พอใจในแต่ละช่วงเวลาเอาไว้ แล้วเอาคืนความทุกข์ด้วยการนำมันมาประจานผ่านการโพสต์และทำนิทรรศการ

แรกๆ ที่ทำเพจ เตยยี่ต้องขอแรงคนรอบตัวให้มาช่วยกดไลค์ แต่ถ้อยคำที่เธอเขียนออกมาจากความรู้สึกจริงๆ โดยไม่หลอกตัวเอง แรงบ้าง ปลอบประโลมบ้าง จิกกัดบ้าง ไปทัชใจคนที่รู้สึกหรือเคยรู้สึกแบบเดียวกัน จึงเป็นไลค์ออร์แกนิกที่ไม่ต้องขอแรงเพื่อนอีกต่อไป ฐานแฟนคลับเตยยี่ได้เกิดขึ้นแล้ว

Photo: FB teayiiartworks

ยกคุณค่าให้ภาษาไทย

ในต่างประเทศมีศิลปินที่นำคำภาษาอังกฤษมาทำเป็นงานศิลปะ เตยยี่เห็นว่ายังไม่มีใครทำแบบนั้นกับภาษาไทย เธอจึงเป็นเพียงคนที่เปิดประตูที่มีอยู่นานแล้วเท่านั้น

คำภาษาไทยสำหรับเตยยี่คือสิ่งที่กอดใจผู้คนได้ เป็นการสื่อสารที่เรียบง่าย ซื่อตรง และเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ในฐานะศิลปิน เตยยี่จึงอยากทำให้ภาษาไทยสนุกขึ้น คนเข้าถึงได้ง่าย และทำให้ภาษาไทยกลายเป็นศิลปะ ดังนั้นการที่เธอถ่ายทอดทุกคำออกมาอย่างซื่อสัตย์และเห็นคุณค่า จนวันหนึ่งมีคนมากมายเห็นคุณค่างานที่เธอทำ จึงขอคุณค่าทั้งหมดให้กับ ‘ภาษาไทย’

Photo: FB teayiiartworks

เพื่อนทางความรู้สึก – อยากเจอเมื่อไรก็แวะมา

หนึ่งในลายเซ็นของเตยยี่ที่พูดเสมอและปรากฏในทุกเทศกาลคือประโยคที่ว่า ‘ขอให้เธอได้เจอคนที่ปลอดภัยในหัวใจ’ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่า ในช่วงเวลาที่เราไม่มีแม้กระทั่งความปลอดภัยข้างใน กลัว วิตกกังวล ใจสั่น แต่จะมีเตยยี่ที่เคยรู้สึกแบบนั้นและผ่านมาได้เป็น ‘เพื่อนทางความรู้สึก’ ของคุณได้

นิทรรศการของเตยยี่จึงมักมีภาพที่ตัวศิลปินนั่งรับฟังคนที่มาชมผลงาน ไม่ว่าเขาจะเล่าว่าตนเองเป็นมือที่สาม ทุกข์ใจเรื่องลูก หย่ากับคู่ชีวิต มีปัญหาร้อยแปดพันเก้าอย่าง เตยยี่จะรับฟังคนตรงหน้าโดยไม่ตัดสิน มีแต่คำว่า “เป็นยังไง ไหนลองเล่ามาซิ”

Photo: THM Art Space

‘จบแบบนี้ดีที่สุด’ งานล่าสุดของเตยยี่

THM ART SPACE จุดนัดพบคนรักงานศิลปะแห่งใหม่ย่านศรีนครินทร์ สมุทรปราการ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ จบแบบนี้ดีที่สุด ที่เตยยี่ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านคำภาษาไทยทัชใจอีกครั้ง โดยนำเสนอการเล่าเรื่องความรักที่จบลงผ่านศิลปะประเภท Text Art ที่พาไปสัมผัสกับจุดจบของความรักผ่านเรื่องราวที่หลากหลาย จากการสัมภาษณ์บุคคลจำนวน 15 คนที่ยังเก็บของใช้แฟนเก่าเอาไว้ และนำของเหล่านั้นมาจัดแสดงร่วมกับของศิลปินอีก 5 ชิ้น พร้อมกับText Art โดยของจัดแสดงทั้ง 20 ชิ้นได้เล่าถึงความทรงจำที่เคยงดงามผ่านปลายปากกา ให้ผู้ชมงานได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงและความผูกพันที่แม้จะจบลงแต่ก็ยังสร้างความรู้สึกใหม่ที่ดีขึ้นได้

Photo: THM Art Space

“แนวคิดงานครั้งนี้มาจากคำว่า ‘เคารพในความรักที่จบลงแล้ว’ เคารพในห้วงเวลาหนึ่งที่เราต่างได้รู้สึกผูกพัน และบางครั้งความทรงจำไม่จำเป็นต้องเจ็บปวดเสมอไป โดยทุกเรื่องราวในนิทรรศการนี้ล้วนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้คนรอบตัวเรา ทุกคนจะได้สัมผัสกับของใช้ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ และได้รับแรงบันดาลใจในการก้าวผ่านความเจ็บปวดและเริ่มต้นชีวิตใหม่” เตยยี่กล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน

นิทรรศการ ‘จบแบบนี้ดีที่สุด’ โดยเตยยี่ เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถึง 27 ธันวาคม 2024 ในเวลา 10.00 น. – 18.00 น. ปิดทุกวันพุธ

ติดตามนิทรรศการใหม่ๆ ของ THM Art Space และ The Happy Maison ได้ทาง Instagram/Facebook: thehappymaison, THM.artspace และ www.thehappymaison.com

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำพลิกโฉมวงการแพทย์แผนจีน”กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI” และ” หุ่นยนต์ เสี่ยวคัง AI”  ครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมประกาศจัดงาน “ก้าวล้ำ คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง” ครั้งที่ 2

Scroll to Top