เมื่อ 10 ปีก่อน อย่าว่าแต่ศิลปินเลย แม้แต่คนทำธุรกิจก็แทบใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารทำการตลาดไม่เป็น แต่เพราะลองทำเพจ Sundae Kids ในวันนั้น 10 ปีผ่านไป โป๊ยเซียน – ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย จึงกลายเป็นศิลปินที่มีลายเซ็นชัด ผ่านการ์ตูนช่องบอกเล่าความสัมพันธ์ด้วยลายเส้นเรียบง่าย ไดอะล็อกน้อย แต่กินใจได้หมดไม่สนคนเชื้อชาติหรือภาษาใด
กวินกับโป๊ยเซียนชวนกันเหลียวหลังมองย้อนไปในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษใน Sundae Kids: 10 Years of Lost and Found นิทรรศการครบรอบสิบปีของ Sundae Kids ที่เริ่มต้นด้วยโจทย์สุดอิมแพ็กว่า
“หากเราเลือกเดินเส้นทางอื่น ชีวิตเราตอนนี้จะเป็นอย่างไร?”
ก่อนซื้อตั๋วเข้าสู่โลก Lost & Found มาย้อนทำความรู้จักกับศิลปินไทยที่มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียกว่า 2 ล้านคนในนาม Sindae Kids
1.โฆษณา + อิลลัสเตรชัน งานถนัดที่กลายเป็นคาแรกเตอร์ของ Sindae Kids
กวินและโป๊ยเซียนเป็นเพื่อนร่วมชั้นปีกันที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตลอด 4 ปีได้ฝึกฝนวิชากราฟิกดีไซน์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลโก้ วางเลย์เอาต์ จัดหน้าหนังสือ งานโฆษณา อิลลัสเตรชัน ไปจนถึงอนิเมชัน จนตกตะกอนได้ว่า วิชาที่เข้ากับตัวเองคือ โฆษณาและอิลลัสเตรชัน
ทั้งสองต่อยอดวิชาเรียนที่ชอบไปทำเพจ Sundae Kids โดยบอกเล่าเรื่องราวเป็นคอมิกส์หรือการ์ตูนช่อง ซึ่งกลายเป็นว่าช่วยฝึกให้ทั้งสองเป็นนักเล่าเรื่องราวให้คนเข้าใจภาพไม่กี่ภาพได้ในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งเป็นวิธีคิดคล้ายกับการทำโฆษณา และตอบโจทย์การใช้โซเชียลมีเดียโชว์ผลงานที่ดึงดูดความสนใจคนดูให้เข้าใจสิ่งที่ทั้งสองนำเสนอได้ในเวลาอันสั้น
2.ริเริ่มเปิดเพจ Sundae Kids แต่ปรากฏว่าไม่มีงาน
เริ่มต้นด้วยแนวคิดดีและความมุ่งมั่น แต่เจอความยากลำบากของการเป็นผู้บุกเบิกคือ ไปเดินในเส้นทางที่คนยังไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคย ไม่เห็นคุณค่าของงานภาพประกอบ ปีแรกที่เปิดเพจ Sundae Kids จึงไม่มีงานเข้ามาเลยแม้แต่งานเดียว ด้วยเพราะคนยังไม่ให้ความสำคัญกับอิลลัสเตรชัน ขณะที่แบรนด์เองก็ยังมองไม่ออกว่า ภาพอิลลัสเตรชันจะช่วยยกระดับสินค้าได้อย่างไร
3.ต้องเปิดตลาดโกอินเตอร์ตั้งแต่เดย์วัน
แต่ข้อดีของคนที่เริ่มต้นเร็วคืออาจคว้าโอกาสได้ก่อนใคร ศิลปินที่บุกเบิกใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารจึงได้เปรียบว่า การเผยแพร่ผลงานทางออนไลน์นั้นไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประเทศ ทุกคนสามารถเห็นผลงานของศิลปินจากไทยได้ กวินและโป๊ยเซียนยังเลือกใช้ภาษาอังกฤษในงาน เพราะตั้งใจอยากสื่อสารเรื่องราวและผลงานให้ไปถึงทุกคน เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจภาษาอังกฤษ จึงมีแฟนๆ จากทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น อเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ฯลฯ และเป็นการเปิดโอกาสให้ทำงานกับลูกค้าจากทุกประเทศได้
ทั้งสองยังสร้างโอกาสให้ตัวเองไปด้วย หากมีแบรนด์ใดที่ชอบ เอเจนซีที่อยากทำงานด้วย หรือเจอร้านที่น่าสนใจ ทั้งสองจะติดต่อไปเอง อยากร่วมงานด้วยแบบไหน อย่างไรก็บอกไปเลยตรงๆ วิธีนี้ช่วยให้ Sundae Kids ได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ มากมาย จนสร้างพอร์ตโฟลิโอสุดเจ๋งที่ดึงดูดแบรนด์ใหญ่ๆ ให้มาทำคอลแลบด้วย ไม่ว่าจะเป็น Niko and…, Valentino, Lay’s, Facebook, Monocle ไปจนถึง Godiva
4.อดทนเพราะความเชื่อล้วนๆ
ย้อนกลับไปช่วงปีแรกที่ไม่มีงานมาเป็นปี ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่กวินกับโป๊ยเซียนไม่ขีดเดดไลน์ให้ตัวเองว่าจะสู้ไปถึงเมื่อไร เพราะลงเมื่อตัดสินใจเลือกทางนี้แล้ว ก็ขอทำให้ถึงที่สุด Sundae Kids จึงเป็นการทำด้วยความเชื่อล้วนๆ ชนิดที่ไม่มีคำว่า ‘ไม่สำเร็จ’ อยู่ในหัว โดยเลือกจะตั้งเป้าหมายที่จะไปถึง แต่ไม่ได้ตั้งจุดที่จะล้มเลิก
5.ชิ้นลูกรักท่ามกลางผลงานนับพัน
กวินกับโป๊ยเซียนตกลงร่วมกันว่า ในการรับงานลูกค้าจะพยายามทำอะไรใหม่ๆ ในทุกชิ้นงาน ขอขายไอเดียที่อยากทำสุดๆ แบบไม่มีกั๊กไปก่อน ลูกค้าจะซื้อหรือไม่ค่อยว่ากัน ส่วนใหญ่โชคดีที่ลูกค้าไฟเขียวเพราะเชื่อใจในคอนเซ็ปต์ เป็นต้นว่า แบรนด์ไอศกรีม Baskins Robbins งานชิ้นแรกๆ ที่ให้โจทย์ว่า ให้ออกแบบซองใส่บัตรสมาชิก โดยอยากให้คนที่มีบัตรได้ไปแล้วนำไปถ่ายรูปด้วย ไม่โยนทิ้ง ทั้งสองจึงออกแบบซองที่พับประกอบขึ้นมาเป็นบ้าน หรือจริงๆ ก็คือร้าน Baskins Robbins สไตล์วินเทจ จากของที่เกือบจะเป็นขยะแต่กลับมาได้กลายเป็นของแต่งบ้านได้ที่ใครก็ทิ้งไม่ลง แถมสวยเก๋จนต้องถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลอวดใครต่อใคร เรียกว่างานแรกๆ ก็ขายไอเดียผ่านฉลุย
6.เทคนิคทะลวงไอเดียตีบตัน
ต่อให้รักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ แต่เมื่อเอาแพสชันมาทำเป็นงาน แถมมีลูกค้ามากำกับด้วยก็อาจเจอภาวะไอเดียตัน สมองตื้อ คิดงานไม่ออก กวินกับโป๊ยเซียนใช้ชีวิต “เค้นออกมาให้ได้” เพราะงานคืองาน ที่สำคัญการหาไอเดียเจ๋งๆ คือกระบวนการที่ทั้งสองให้เวลามากที่สุด พอได้ไอเดียแล้ว ขั้นตอนอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรยาก แต่ถ้าคอนเซ็ปต์ไม่ดี ก็พังตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
วิธีหาไอเดียของทั้งคู่คือ เจออะไร คิดอะไรได้ ก็จะจด เซฟ ถ่ายรูปไว้เป็นคลังไอเดีย เมื่อมีงานเข้ามาก็ค่อยเปิดเข้าไปดูไอเดียที่เก็บสะสมไว้ อันไหนเหมาะก็หยิบมาใช้ทันที ช่วยแก้ปัญหาไอเดียตันได้เป็นอย่างดี
7.ทำงานลูกค้าแบบตัวเราไม่อึดอัด
ผลงานของ Sundae Kids เป็นที่จดจดด้วยคาแรกเตอร์ชายหญิงลายเส้นเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และใช้เนื้อเรื่องความสัมพันธ์เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานออกแบบ ซึ่งในการทำงานกับลูกค้า ทั้งสองจะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปเต็มที่ และถ้ามีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอะไรก็จะแจ้งลูกค้าก่อนเริ่มงานทุกครั้ง หากไปกันได้ก็ค่อยทำงานด้วยกัน ป้องกันไม่ให้ตัวศิลปินอึดอัดที่ต้องทำงานตามโจทย์ และลูกค้าเองก็จะสบายใจด้วย win-win กันทั้งสองฝ่าย
8.หาเลี้ยงชีพชอบด้วยการเป็นศิลปินมา 10 ปี
เมื่อ 10 ปีก่อน ใครที่คิดจะทำอิลลัสเตรชันเป็นอาชีพอย่างเดียวก็ดูจะฝันเกินจริงไปมาก แต่เวลาล่วงเลยมาหนึ่งทศวรรษ Sundae Kids ทำเป็นงานประจำได้ นี่คือความสำเร็จของกวินและโป๊ยเซียนแล้ว จนนึกภาพตัวเองไม่ออกว่าจะไปทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากการวาดรูป เพราะได้ทำในสิ่งที่รักและอยากทำมาตลอด
ในนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของสองศิลปิน Sundae Kids: 10 Years of Lost and Found ชวนผู้ชมเปิดลิ้นชักความทรงจำ ผ่านคาแรกเตอร์ของคู่รักหญิงชายที่คุณหลงรักในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนคอมมิกส์ อนิเมชัน ภาพวาดอะคริลิก ไปจนถึงประติมากรรมไซซ์ยักษ์
Sundae Kids หวังใจว่า นิทรรศการครั้งนี้จะชวนให้ผู้ชมได้นึกถึงการเดินทางบนเส้นทางของตัวเองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ว่าแต่ละเส้นทางที่เลือก ทุกทางแยกที่ตัดสินใจเลี้ยว ทุกผู้คน สิ่งของ ประสบการณ์ ทำให้คุณได้สิ่งใดมา และสูญเสียอะไรหรือใครไปบ้าง
และเมื่อเดินออกจากนิทรรศการแล้ว คุณอาจรำพึงกับตัวเองว่า “หากเราเลือกเดินเส้นทางอื่น ชีวิตเราตอนนี้จะเป็นอย่างไร?”
Sundae Kids: 10 Years of Lost and Found เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 – 26 มกราคม 2568 ที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ซื้อบัตรได้ที่ https://linktr.ee/10yearsoflostandfound
Words: Sritala Supapong
Photos: River City Bangkok
ข้อมูลจาก
- https://adaymagazine.com/on-that-day-sundae-kids/
- https://www.sarakadeelite.com/faces/sundae-kids/
- https://readthecloud.co/sundae-kids/
- https://www.facebook.com/sundaekidsillustration/?locale=th_TH
- https://adaymagazine.com/port-sundae-kids/