ตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ ในประเทศไทย เป็นตลาดที่แข่งขันดุเดือดอีกสมรภูมิหนึ่ง ที่มีผู้เล่นจำนวนมาก และเป็นบิ๊กเพลเยอร์ระดับโลก จึงถือเป็นความหาญกล้าของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เปิดตัว “โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย เข้ามาแย่งชิงตลาดในปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
ธนา ถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพที่ดูแลบริษัทขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นวงการโทรคมนาคมกับดีแทค ธุรกิจบันเทิงอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และล่าสุดในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แบรนด์ “โรบินฮู้ด” ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งจะเปลี่ยนเป็น เอสซีบีเอ็กซ์ (SCBX) ซึ่งโจทย์ที่ได้รับจากซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ อาทิตย์ นันทวิทยา ในวันนั้นเรียกได้ว่าแทบจะเป็นมิชชั่นอิมพอสสิเบิล
“เราเริ่มต้นแอปวันแรกด้วยูสเซอร์ 5,000 คน ตั้งไข่ ล้ม ลุก คลุก คลาน แต่ก็รอดมาได้ จนเติบโตในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมี 5 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้โรบินฮู้ดมาถึงวันที่มีผู้ใช้งาน 1.4 – 1.5 แสนราย” ธนากล่าว
สำหรับ 5 เหตุการณ์สำคัญ เริ่มด้วย 1. Idea Moment ซึ่ง ธนา ยอมรับว่าเขาเป็นผู้คัดค้านแนวคิดในการทำแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ของซีอีโอด้วยซ้ำ แต่จากความมุ่งมั่นของธนาคารที่อยากทำซีเอสอาร์เพื่อช่วยร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ไอเดียจึงเดินหน้าด้วยเงินทุนเริ่มต้น 150 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ที่ใช้เงินทุน 4 – 5,000 ล้านบาท 2. Failed Test Moment ด้วยมาตรฐานที่สูง การทดสอบระบบจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,000 รายการ ในช่วงพีคของวัน ปรากฎว่าระบบล่ม ทดสอบ ล่ม เป็น 10 ครั้ง จึงเลื่อนการเปิดตัวเป็นเดือนตุลาคม 2563 เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้บริการ
3. Hail Mary & ไข่ดาว Moment ธนา เล่าถึงช่วง Hail Mary เป็นศัพท์อเมริกันฟุตบอล หมายถึงการส่งบอลยาวเพื่อหวังคะแนนในช่วงท้ายเกม หรือ การวัดดวง ในช่วงล็อกดาวน์รอบสามเดือน ก.ค.64 ด้วยแคมเปญส่งฟรี ทำให้ระบบล่มอีกครั้ง แถมด้วยเหตุการณ์ไข่ดาว คือมีลูกค้าสั่งไข่ดาว 1 ฟอง ระยะทาง 40 กิโลเมตร ทำให้ลูกค้าเกิดความเห็นใจ ทำให้ยอดออร์เดอร์เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในช่วง 14 วันของแคมเปญ จาก 1 หมื่น เป็น 3 – 4 หมื่น และช่วงใกล้หมดแคมเปญมียอดออร์เดอร์ถึงประมาณ 2 แสนต่อวัน ปัจจุบันยังสามารถรักษาออร์เดอร์ไว้ได้ประมาณ 1.5 แสนออร์เดอร์ต่อวัน
4. From Small to Medium Moment จากเหตุการณ์ไข่ดาว ทำให้โรบินฮู้ด ก้าวจากแอปคนตัวเล็ก ขึ้นมาเป็นแอประดับกลาง เป็นอันดับ 3 – 4 ของผู้ให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และ 5. Spring ‘Board’ Moment ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของโรบินฮู้ดจากนี้ไป เนื่องจากคณะกรรมการบริหารอนุมัติเงินลงทุนระดับ 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างให้โรบินฮู้ด เป็นซุปเปอร์แอประดับภูมิภาค
5 บทเรียนสำคัญสู่ซุปเปอร์แอป
ธนา กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นของโรบินฮู้ด ทำให้เกิดบทเรียนหลัก 5 ด้านสำคัญด้วยกัน ได้แก่ 1. ลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจะเป็นพลังสำคัญที่จะนำโรบินฮู้ดก้าวสู่ความเป็น super app ในอนาคต 2. โรบินฮู้ดเป็นแพลตฟอร์มแห่งการ “ช่วยเหลือและมีน้ำใจ” ต่อกัน เมื่อเราให้ความสำคัญกับการช่วยคน จะมีแรงดึงดูดผู้คนไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ ที่จิตใจดีและให้คุณค่าของการ “ช่วยเหลือและมีน้ำใจ” มาอยู่รวมกัน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเติบโตต่อไปได้ 3. ความสนุกของการได้ลงมือทำ ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ สะท้อนจุดเริ่มต้นและความเป็นตัวตนของโรบินฮู้ดในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี 4. มาตรฐานโอลิมปิก คือ การที่เมื่อคิดจะลงมือทำอะไรให้คิดไปถึงมาตรฐานโอลิมปิก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล และ 5. วิถีมวยรอง ที่ไม่ได้มุ่งหวังจะไปแข่งชิงเบอร์ 1 กับเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ต้องพยายามหาตำแหน่งทางการตลาดที่เป็น “มวยรอง” เพื่อใช้สร้างจุดยืนของแพลตฟอร์มให้ชัดเจนโดยโรบินฮู้ดเลือกที่จะเจาะตลาดร้านเล็กด้วยการไม่คิด GP จนกลายเป็นภาพจำของผู้ใช้แพลตฟอร์มในทุกวันนี้
“เรามีความทะเยอทะยาน อยากเป็นแพลตฟอร์มไทยขนาดกลาง อยู่ในสมรภูมิที่แข่งขันกับต่างชาติได้ หวังว่าจะเติบใหญ่กว่านี้ และไปปักธงเป็นซุปเปอร์แอปในประเทศเพื่อนบ้านได้” ธนาระบุ
สำหรับการเป็นซุปเปอร์แอปของโรบินฮู้ด คือจะขยายธุรกิจจากฟู้ดเดลิเวอรีเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food ได้แก่ 1. บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ 2. บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้าโรบินฮู้ดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ 3. บริการรับ-ส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ ในปี 2565 โรบินฮู้ดเตรียมขยายขอบเขตการให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่สู่ต่างจังหวัด โดยเตรียมปักหมุดนำร่องที่ 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพและมีความต้องการบริการด้านฟู้ดเดลิเวอรีสูง ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของร้านค้า และไรเดอร์ มุ่งพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า (customer experience) ให้ดีขึ้น เพิ่มฟีเจอร์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น เน้นสนับสนุนและช่วยเหลือร้านค้าที่ช่วยลูกค้า พร้อมผสานพลังความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม SCBX เพื่อต่อยอดสู่การหารายได้เพิ่มขึ้นผ่านเครือข่ายของบริษัทแม่
ธนา กล่าวว่า ในปี 2565 โรบินฮู้ดจะเปิดให้มีการระดมทุน เพื่อผลักดันแผนการก้าวสู่ซุปเปอร์แอปตามที่วางไว้ ซึ่งคณะกรรมการบริหารได้อนุมัติงบลงทุนรวมระยะเวลา 2 ปีครึ่งจากนี้อยู่ที่ประมาณ 4 – 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับโรบินฮู้ดในการเข้าแข่งขันกับธุรกิจหลัก คือฟู้ด เดลิเวอรี่ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ธนา มองว่าธุรกิจโรบินฮู้ดจะยังอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจที่ดุเดือด แต่ทิศทางจะค่อย ๆ ขาดทุนน้อยลง จากการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสร้างรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจหลัก อย่างฟู้ด เดลิเวอรี่ จะเป็นสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้โรบินฮู้ดสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
และนี่คือแอปโรบินฮู้ด แอปสัญชาติไทย ที่หาญกล้าต่อกรกับแอปใหญ่ระดับโลก เพื่อชิงตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ที่มีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลธุรกิจไทยให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน