ขณะที่ตำแหน่งทะยานขึ้นเป็นผู้จัดการในองค์กรระดับโลกสุดมั่นคง เขาลาออก
เขาใช้ทักษะการบริหารจัดการจากองค์กรใหญ่ บวกกับทักษะใหม่ด้านออกแบบมาสร้างแบรนด์แฟชั่น PILA Studio
ครั้นบิดาล้มป่วยหนัก โลกเจอวิกฤตโควิดซัดสาดหนักหน่วง เขาหวนคืนบ้านเกิดไปดูแลพ่อและสวนของพ่อที่เพชรบูรณ์ ก่อนจะมองเห็นช่องว่างให้เขาใช้ทักษะบริหารและออกแบบ โขลกเคล้ากับรากเหง้าลูกชาวนา ก่อเกิดเป็นแบรนด์เกษตรใส่ดีไซน์ PILA Farm Studio
สดๆร้อนๆปลายปีกลาย เขากอปรทุกทักษะที่สั่งสมมาต่อยอดเป็นแบรนด์ท่องเที่ยวชุมชนที่โชว์วิถีชนบทใส่จริตแฟชั่น STAY.Pila Farm
ชื่อแบรนด์ที่ยาวขึ้นเรื่อยๆนี้คือ ‘ลูกๆ’ ของ ตั้ม-นิพนธ์ พิลา ที่ปลูกพืชด้วยวิธีออร์แกนิก และทำการตลาดแบบออร์แกนิก เพราะเขาอยากพิสูจน์ว่า “ความออร์แกนิกมีจริงในโลก”
STAY
ที่พักป้ายแดงที่แท้ทรู ด้วยเพิ่งเปิดประตูให้เข้าพักเมื่อปลายปี 2023 นี้เอง ซึ่งประเหมาะตรงกับช่วงไฮซีซัน นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจึงได้มาเยี่ยมเยียน STAY.Pila Farm ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และทันทีทันใดก็ติด 1 ใน 10 ที่พักแนะนำของ Airbnb เซี่ยงไฮ้ “ด้วยดีไซน์ที่คนไม่เคยเห็นมาก่อน นิยามกันไม่ได้ว่าเป็นดีไซน์อะไร” ตั้มกล่าวกลั้วหัวเราะ ก่อนจะเผยถึงแรงบันดาลใจของดีไซน์ทรงแปลกนี้ว่า “มาจากกระท่อมปลายนาที่เราเคยวิ่งเล่นตอนเด็กๆ”
ก่อนจะเชื่อมโยงให้เห็นว่า “คอนเซปต์ของ PILA Farm คือการที่เราใช้ดีไซน์เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับบริการและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร พอเราจะขยับไปทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนจึงใช้คอนเซปต์เดียวกัน คือเอาอะไรที่คนมองว่าธรรมดา นำมาใส่ Design Thinking เข้าไปให้อัปเกรดขึ้น ฉะนั้น STAY จึงไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นดีไซน์นอร์ดิกหรือดีไซน์แบบไหน แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสน่ห์ชนบทไทย ใส่ดีไซน์ ใช้วัสดุในท้องถิ่น”
ตั้มเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ จึงมักติดนิสัยทำอะไรต้องสเก็ตช์ภาพคร่าวๆก่อนเสมอ ตั้มร่างแบบที่พักในกระดาษหนึ่งแผ่น ต่อยอดเป็นแบบสามมิติในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กลายมาเป็นแบบที่พักจิ๋วทำจากกระดาษ ก่อนจะกลายเป็นบ้านพัก 7 หลังบนพื้นที่ 3 ไร่ที่แวดล้อมด้วยสวนผักออร์แกนิก บ่อปลา และคอกน้ำบนเนื้อที่เกษตรของครอบครัวขนาด 15 ไร่
‘สเตย์พิลาฟาร์ม’ หมู่บ้านสังกะสีมีดีไซน์ที่สีของบ้านเปลี่ยนเฉดได้ตามสีแดดและแสงจันทร์
“เรามองภาพว่า STAY คือ ‘หมู่บ้านสังกะสีไทยดีไซน์สร้างจากสัจจะวัสดุ’ โดยเราใช้วัสดุที่มีคงความจริงแท้ตามธรรมชาติโดยไม่บิดเบือนพื้นผิวเดิมของมันให้มากที่สุด ปูนก็ปูน หินก็หิน ไม้ก็ไม้ เราเอาใส่ไปในรายละเอียดต่างๆของที่พัก เช่น ระเบียงที่มาจากชานหน้าบ้านต่างจังหวัด แม้มันจะดูว้าว ดูแปลกใหม่ แต่ก็ไม่ได้แปลกปลอมไปจากชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวด้วย มันคือโครงการที่เราต้องคิดซับซ้อนหลายชั้นมาก แต่ก็หาจุดสมดุลในตัวมันเองได้ในที่สุด” เจ้าของที่พักแนวใหม่ในเพชรบูรณ์กล่าว
วัตถุดิบในท้องถิ่นกลายเป็นเมนูขึ้นโต๊ะสำหรับแขกเข้าพัก STAY.Pila Farm
“เมื่อปลายปี 2023 เราเปิดตัวที่พัก STAY บ้านพัก 7 หลัง เราเริ่มคิดจากแพนโทนสีที่นำมาจากสีของพืชเศรษฐกิจของเพชรบูรณ์ 7 ชนิดมาตั้งเป็นชื่อบ้าน คือ บ้าน Evergreen สีเขียวของใบยาสูบ, Chilli สีแดงจากพริกจินดา, Indigo สีน้ำเงินจากสีครามย้อมผ้า, Charcoal สีดำของถ่านไบโอชาร์ที่พ่อเราเผาหุงข้าวทุกวัน, Cacao สีช็อกโกแล็ตคือสีโกโก้ที่นายทุนมาขายต้นพันธุ์ไว้และเกษตรกรถูกทอดทิ้ง เราได้เรียนรู้ว่าพื้นที่ในเพชรบูรณ์ก็ปลูกโกโก้ได้ดี, Riceberry สีม่วงจากสีข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวลืมผัวของเพชรบูรณ์ และ Ginger สีเหลืองคือสีของขิง เกษตรกรที่เป็นคนชาติพันธุ์จะทำไร่เลื่อนลอยปลูกขิงกันเยอะ กลายเป็นปัญหาของเขาค้อ แต่ขิงก็เป็นพืชส่งออกที่สำคัญของเพชรบูรณ์
“เรามีแนวคิดแบบ Zero Waste ก็เลยนำวัสดุเหลือจากการสร้างที่พัก เช่น เศษไม้ เศษกระเบื้อง สังกะสี ฯลฯ เรานำมาประกอบใหม่สร้างเป็นอาคารเอนกประสงค์ ตั้งชื่อว่า ‘ศาลาพิลาฟาร์ม’ น่าจะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ ฟังก์ชันคือเป็นพื้นที่ร้านขายผลิตภัณฑ์ของฟาร์มและของชาวบ้าน เป็นล็อบบี้ให้ลูกค้าที่มาเข้าพัก และเป็นพื้นที่ทำเวิร์กชอปต่างๆ หรือต่อไปอาจจะทำตลาดหาบเร่เก๋ๆ มันนำไปต่อยอดได้อีกเยอะมาก”
STAY (อาจจะ)เป็นโปรเจ็กต์ท้ายๆที่ตั้มคิดทำขึ้นมา หลังจากกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เพชรบูรณ์ได้ 3 ปีก็ไม่เคยได้พักเลย “ตอนนี้เติมเต็มแล้ว” ตั้มบอก “แต่ก็เป็นความท้าทายว่าที่นี่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวชุมชนที่คนจะพูดถึงและยั่งยืนได้นานเท่าไร เพราะยังไม่เคยมีใครทำแบบนี้ในเพชรบูรณ์”
FARM
เจ้าม้าขนเงาวับล้อแดดยื่นจมูกประจ๋อประแจ๋กันในคอก ชวนให้ตั้มเล่าถึง ‘ลูกๆ’ ในคอกม้าที่อยู่บนพื้นที่ผืนเดียวกับบ้านพัก STAY ว่า “คอกม้านี้เราสร้างขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ต้องเล่าก่อนว่าแต่ก่อนครอบครัวเราทำไร่ข้าวโพดบนเขาค้อ พ่อแม่ต้องขี่ม้าข้าวห้วยไปทำไร่ข้าวโพด ดังนั้นม้าจึงเป็นยานพาหนะของที่บ้านในยุคนั้น เป็นภาระของเราในวัยเด็กที่ต้องพามันไปกินหญ้า (น้ำเสียงระอา) เป็นหน้าที่ของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ต้องดูแลม้า ซึ่งตอนนั้นก็มองบน (หัวเราะ)
“เมื่อหลายปีก่อน พ่อเราไม่สบาย ต้องผ่าตัดใหญ่ เขามีนิมิตฝันเห็นม้า เราเลยไปควานหาม้ามาเป็นของขวัญเซอร์ไพรส์ให้ถ้าพ่อฟื้นตัวออกจากโรงพยาบาล มันเป็นม้าขนสีทองที่เรียกว่าสีพาโลมิโน บังเอิญมากที่เศรษฐีที่เลี้ยงม้าโละม้าแล้วหันไปเลี้ยงวัวบราห์มัน เราไปเจอม้าตัวนี้และได้มาในราคาถูกมาก เหมือนซื้อซากม้ามาเลี้ยง เพราะมันผอมมากจนเนื้อติดซี่โครง คนงานให้กินแต่ฟางกินหญ้าที่ไม่ได้มีคุณค่าทางสารอาหารใดใด อารมณ์เหมือนเราไถ่ชีวิตโคกระบือ เรากับพ่อใช้เวลา 1 เดือนขุนมันจนอ้วนสวยเปล่งประกายเลย มันเป็นม้าตัวผู้ที่เราให้ชื่อว่า ‘สีทอง’ เป็นชื่อพันธุ์มะขามสีทองของเพชรบูรณ์
สัตว์ต่างๆในฟาร์ม ทั้งม้า ไก่ไข่อารมณ์ดี และนกยูงอินเดีย
“จากนั้นเราหาแฟนมาให้เขา ชื่อเอวา เป็นม้าสีเชสนัทสายพันธุ์อาราเบียน เจ้าของม้าเป็นคนไทยที่ไปอยู่อังกฤษ เขาทำรายได้จากการซื้อม้าจากที่ต่างๆและไปฝากเลี้ยงไว้ตามฟาร์มต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่าลูกม้าตัวแรกจะเป็นของเขา นำลูกม้าตัวแรกนี้ไปจำหน่ายสร้างรายได้คืนให้แก่เขา ส่วนลูกม้าตัวที่สองก็จะเป็นของฟาร์มนั้นๆ เป็นโมเดลธุรกิจอย่างหนึ่ง เขาเลยส่งม้าตัวเมียสายพันธุ์ดีมากมาที่ฟาร์มเรา เพราะเขาชื่นชอบฟาร์มเรามาก ติดตามเพจเรามาตลอด เราก็รับเลี้ยงดูม้าให้เขา เหมือนได้ม้าฟรี เลี้ยงมาได้ 2 ปี นี่เป็นปีแรกที่เขาท้อง แต่แอบเสียใจว่าเป็นหลานตัวแรก ลูกม้าตัวแรกจะต้องเป็นของเขา ก็เลยเป็นที่มาที่สร้างคอกม้า และปลูกหญ้าแพงโกลาเป็นแหล่งอาหารสัตว์ เพราะมีโปรตีนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์”
ภาพพื้นที่ทั้งหมดของพิลาฟาร์ม / ไร่ยาสูบที่ผู้มาเยือนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคะน้า
ตั้งใจฟังเรื่องม้ามากนาน พลางสงกาว่ามันเกี่ยวอย่างไรกับรีสอร์ตหรือฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ก็พอดีเจ้าของม้าเล่าว่า “ทีนี้ขี้ม้าก็เลยเยอะ ซึ่งกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี ทำให้เราเริ่มปลูกผักออร์แกนิกกันเรื่อยมา จุดเริ่มต้นเป็นเพราะม้าและพ่อป่วย บ้านเราเลยคิดว่าเรามางดใช้สารเคมีกันดีกว่า เพราะพ่อป่วยจากการเป็นเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ สะสมมานานหลายปี ซึ่งจะเกิดโรคเอาตอนบั้นปลายชีวิต ประกอบกับเราทำแบรนด์พิลาฟาร์ม เรามีคู่ค้าอย่างเดอะมอลล์ เขาชื่นชอบแบรนด์และชอบสินค้า เปิดเราเข้าสู่โลกสินค้าเกษตรปลอดภัย
“ตอนที่เราเริ่มทำฟาร์มอินทรีย์ก็พอดีว่าเป็นช่วงขาขึ้นของผักออร์แกนิกด้วย คนเริ่มตระหนักว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ แบรนด์พิลาฟาร์มผันตัวมาทำเรื่องเกษตรช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่แบรนด์แฟชั่นเป็นขาลง เป็นธุรกิจฟุ่มเฟือยที่ถูกลดบทบาทไป ทำให้เราหันมารวมกับงานเกษตร จึงต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ถ้ามาผิดช่วงเวลาก็อาจจะไม่น่าสนใจมากนัก”
PILA
คุณเคยเป็นพนักออฟฟิศหลังเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์
“เราทำงานฝ่ายสื่อสารองค์กรของซิตี้แบงค์ ทำงานพีอาร์ตามที่ได้ร่ำเรียนมาและมีความสุขกับงาน ได้เรียนรู้จากงานที่มีความท้าทายในทุกๆวัน ไม่ได้โลกสวยนะ แต่มันคือองค์กรที่น่าทำงานจริงๆ คนทำงานมีไดนามิกสูงมาก มีความไวในการปรับเปลี่ยนตัวเอง ทันกระแสโลก มีโปรดักต์ใหม่ออกมาตลอดเวลา เราเรียนรู้จากเปิดตัวโปรดักต์จากองค์กรนี้มาเยอะมาก มันคือพื้นฐานความคิดของเรา
“เรามองว่าคนทำงานออฟฟิศใช้จุดนี้เป็นจุดแข็งของตัวเองได้ คุณได้เห็นองค์กรที่ถูกจัดระเบียบ วางระบบมาเรียบร้อยแล้ว คุณได้เห็นว่าการสร้างองค์กรต้องมีแผนกอะไรบ้าง ตั้งแต่แผนกทรัพยากรบุคคล เซลส์ การตลาด ฯลฯ รวมทั้งได้เห็นลูกค้าที่หลากหลาย อย่างซิตี้แบงค์จะมีลูกค้าหลายเซกเมนต์ ตั้งแต่ Personal Loan ไปจนถึง Affluence ที่เป็นคนที่มั่งคั่งมากๆ เราได้เห็นว่าสินค้าควรถูกออกแบบไว้สำหรับลูกค้าหลายเซกเมนต์
“ฉะนั้นเราอยากบอกว่า การเป็นมนุษย์ออฟฟิศก็ดี และปัญหาออฟฟิศมีเหมือนกันทั่วโลก ปัญหาเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน องค์กร ความไม่ชัดเจนในการทำงาน หรือผลตอบแทนที่ไม่สะท้อนกับปริมาณงาน ฯลฯ เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาเบสิกในทุกองค์กร”
ผลงานแฟชั่นล่าสุดของแบรนด์ PILA ที่หันมาจัดแฟชั่นโชว์เอไอกลางไร่ยาสูบที่หล่มสัก
ฟังดูตอนนั้นคุณสนุกกับงานและรักองค์กร แต่สุดท้ายก็ลาออก
“ตอนทำงานประจำ เรายังมีเวลาว่างเหลือก็เอาไปเทคคอร์สเรียนแฟชั่นดีไซน์ ตามหาแพสชัน เพราะการทำงานองค์กร พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเกษียณ อาชีพอาจจะตัน หรือเราอาจจะทำงานเดิมๆ เป็นกิจวัตร แล้วรู้สึกว่าไม่ท้าทายอีกต่อไปแล้ว เราก็ต้องหางานที่สองทำ บังเอิญว่างานที่สองนั้นคืองานออกแบบเสื้อผ้าที่เราชอบ
“ถ้าให้แนะนำคือ ลองแบ่งเวลาไปเรียนรู้อะไรสองอย่างไปพร้อมกัน ไม่แน่ว่างานที่สองอาจจะกลายเป็นรายได้หลักของคุณก็ได้ สำหรับงานแรก เรามองว่าเป็นอาชีพ เป็น Professional มีความเป็นมืออาชีพ ฉะนั้นงานที่สองเราจะเลือกงานที่ใช้ทักษะสายอาชีพ หรือใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น การเป็นเชฟ งานเย็บปักถักร้อย งานออกแบบผลิตภัณฑ์ เลือกทักษะที่เหมาะกับบุคลิกภาพของเรา”
ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดไหม
“เรื่องนี้ไม่มีผิดถูก แล้วแต่เลย แต่สำหรับเรา ถ้าเราเลือกงานที่สองเพื่อมาทดแทนความเบื่อหน่ายในการทำงานออฟฟิศ ก็ควรเลือกงานที่สะท้อนอินเนอร์ของเราโดยไม่ต้องสนเทรนด์ ไม่อย่างนั้นเราก็เบื่อและวนลูปเดิม และการทำงานสองอย่างพร้อมกันเรามองว่ามีข้อดีคือ ถ้าทำงานประจำที่มีรายได้มั่นคงกับทำงานที่สองมันเหมือนได้ถ่ายเทพลังงานความเครียดและความสุขซึ่งกันและกัน แล้วเราจะไม่เครียดมากกับงานประจำ
“เราจะมีเป้าหมายใหม่ เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ เราจะไปเรียนออกแบบเสื้อผ้า อยากจะรอให้ถึงสุดสัปดาห์ ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำงานเดียว เราจะมีแต่งานในหัวตลอดเวลา สะสมพลังงานความเครียด วันหยุดก็ยังนึกขุ่นแค้นเพื่อนร่วมงาน เจ้านายหรือลูกค้า แต่ถ้ามีงานที่สอง เราจะไม่มีเวลาไปคิดถึงเรื่องพวกนั้นเลย เราก็จะนั่งเย็บผ้าไป วันจันทร์ก็ไปทำงานและแก้ปัญหาไป เราจะไม่จมไปกับปัญหาองค์กรและปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิด”
ผลิตภัณฑ์ต่างๆของพิลาฟาร์ม อาทิ เขียงไม้มะขาม รองเท้าแตะ กาแฟ และมะขาม
ตอนทำงานซิตี้แบงค์ เป็นองค์กรที่คนทั่วโลกมองว่าเป็นองค์กรมั่นคง แต่สุดท้ายก็ออกมาทำงานที่สองเต็มตัว
“ตอนนั้นเราทำแบรนด์เสื้อผ้าไปพร้อมกับทำงานประจำไปด้วย แม้เราจะเป็น Young Designer เป็นดีไซเนอร์มือสมัครเล่น แต่เราไม่ใช่แมเนเจอร์มือเล่น เรื่องการบริหารจัดการเราเรียนรู้มาจากงานประจำ เรื่องการทำแบรนด์ การสื่อสาร เราเอามาใช้กับแบรนด์แฟชั่นหมด เหมือนเป็นโปรเจ็กต์ที่เจ้านายมอบหมายให้เราทำ เพียงแต่เจ้านายคนนั้นคือตัวเราเอง ไม่มีใครบังคับให้เราต้องทำอะไร เราต้องออกแบบองค์กร แบรนด์และโปรดักต์ของเราเองแล้ว”
ซึ่งตอนนั้นสนุกหรือกลัว
“สนุก! เพราะเราไม่ได้หักดิบออกจากงานประจำแล้วมาทำแบรนด์แฟชั่น เราค่อยๆถ่ายเทน้ำหนักมาทำ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เราเรียนแฟชั่นจบพอดี แบรนด์เปิดได้ มีลูกค้า มีรายได้เข้ามาพอสมควร โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากงานประจำ และมันก็เป็นเรื่องของความรู้สึกในใจเราที่รู้สึกว่าไปเอาเวลาจากงานประจำ รู้สึกไม่แฟร์จากงานแรก เพราะลูกค้าเราก็ต้องการการดูแลเต็มเวลาเช่นกัน ตำแหน่งเราตอนนั้นเป็น Mid-level Manager ซิตี้แบงค์เป็น management level ส่วนแบรนด์แฟชั่นเป็นธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการที่ใส่ดีไซน์ เราเริ่มรู้สึกว่างานที่สองกลายเป็นงานประจำ ใจเราก็มาทางนี้เยอะกว่า ก็เลยถ่ายน้ำหนักมาทำงานที่สองเต็มเวลาไปโดยปริยาย”
ไม่คิดหรือว่ารับเงินสองทางไปเลยหรือ มีรายได้เสริมงานจากประจำที่มั่นคง
“ซึ่งการคิดแบบนี้ก็ไม่ผิดนะในเงื่อนไขว่าถ้าคุณดูแลทั้งสองงานได้แบบไร้รอยต่อ ไม่มีข้อบกพร่องก็ทำงานทั้งสองงานไปพร้อมกันได้ ซึ่งงานประจำก็ไม่อยากให้เราลาออก มันคืองานแรกที่จากกันด้วยดีมากๆ และเขายินดีไปกับเส้นทางใหม่ของเรา ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้เยอะมากจากงานประจำ ไม่ว่าจะได้ทำองค์กรระดับสากลอย่างซิตี้แบงค์ การรู้จักยืดหยุ่น การปรับตัวในการทำงาน”
ผลิตภัณฑ์จากพิลาฟาร์ม ผ้าห่มแบรนด์ฝ้ายจ๋ายาใจและข้าวสายพันธุ์ต่างๆ
แต่ช่วงที่สนุกกับการพอทำแบรนด์แฟชั่น PILA ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปเป็นเกษตรกร
“ช่วงนั้นมีกระดิ่งดังในใจเราอยู่ 2-3 เรื่อง ทั้งพ่อป่วย เจอวิกฤตโควิด เราเจอวิกฤตใหญ่กว่าที่เราเจอ แต่ในวิกฤตก็มองเห็นโอกาส เราเป็นลูกชาวนา พอได้กลับมาอยู่เพชรบูรณ์ก็ได้เห็น Pain Point ของวงการเกษตร ซึ่งมีช่องว่างที่เราสามารถเข้าไปทำธุรกิจในภาคการเกษตรได้ เรียกว่าเรามีที่ยืนในการเกษตรมากกว่าทำแบรนด์แฟชั่นเสียอีก เพราะปัญหาของธุรกิจเกษตรใหญ่กว่าปัญหาของธุรกิจแฟชั่น แฟชั่นคือเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นส่วนที่แตกแขนงมาจากธุรกิจเกษตรอีกที ฉะนั้นเกษตรกรไม่ใช่แค่คนปลูกผักและขายผัก
“ตอนเราทำแบรนด์แฟชั่น เราตัดสูท ถ้าเราป่วยหรือวัตถุดิบขาดแคลน เช่น ผ้าตัดสูทไม่มี ธุรกิจก็ไม่สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน เพราะแฟชั่นคือธุรกิจที่วิ่งตามกระแส เราที่เป็นคนทำก็ต้องวิ่งตามกระแสไปด้วย เรารู้สึกเหนื่อย ของเหลือใช้จากธุรกิจเสื้อผ้าก็เยอะมาก อินเนอร์เราชอบดีไซน์ในธุรกิจเสื้อผ้า แต่ถ้ามองในมุมธุรกิจแล้ว การทำเสื้อผ้ามันล้นเกินความต้องการ”
แฟชั่นเป็นสินค้าที่คนไม่ได้ซื้อเพราะจำเป็น แต่คนซื้อเพราะอยากได้
“ใช่ และพอมาเจอภาคการเกษตร เรามองว่าน่าสนใจมาก และเราก็เติบโตมากับมัน”
ไม่ใช่ว่ามือไม่เคยจับดินเลย เพียงแต่ตอนเด็กๆ เราถูกบังคับให้ไปทำไร่ทำนา ก็เลยไม่ชอบ
“เราโดนให้จูงม้าไปกินหญ้าตั้งแต่เด็ก จะให้ชอบได้อย่างไร”
ฉะนั้นการเกษตรวนเวียนอยู่ในสายเลือดของคุณมาตลอด
“เราโตมากับปู่ย่า เขาทอผ้าห่ม ตีมีด มีทักษะช่างฝีมือที่เรามองว่ามันสวยเมื่อเราโตมา ตอนเราทำแบรนด์เสื้อผ้าก็หยิบยืมแรงบันดาลใจจากการท่องเที่ยวและความทรงจำในวัยเด็กเยอะมาก ใช้รากเหง้าในการออกแบบ”
จริงๆแล้วเป็นเรื่องดีหรือเปล่าที่คุณต้องไปทำงานซิตี้แบงค์และต้องไปทำแบรนด์แฟชั่นมาก่อน แล้วค่อยกลับมาทำธุรกิจเกษตรที่บ้านเกิด ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ใส่ดีไซน์หรือทำแบรนด์ที่มีตัวตนแตกต่างได้แบบนี้
“เราอาจจะทำอีกแบบ เช่น ทำโรงงาน ซื้อมาขายไป ขายเสื้อผ้าตลาดนัด หรือเปิดอู่ซ่อมรถ”
เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนแรกที่คิดจะทำฟาร์ม คุณเริ่มต้นอย่างไร
“เราเริ่มสำรวจว่ารอบกายเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง ก็ต้องไปสำรวจพื้นที่ก่อน บางคนอาจมีพื้นที่ 1 ไร่ 10 ไร่ หรือ 100 ไร่ก็แล้วแต่ หน้าที่เราคือวางแลนด์สเคปของพื้นที่เพื่อให้เห็นภาพและขั้นตอนการทำงานได้ชัดขึ้น เรามีเงินเก็บนิดหน่อยก็เอามาใช้ปรับปรุงภูมิทัศน์ เอาต้นไม้มาลง เพราะต้นไม้เราไปเร่งโตไม่ได้ ถ้าเราปลูกเร็วก็จะเห็นผลได้ไว เราจึงเริ่มปลูกพืชก่อน พอโควิดหายไป ต้นไม้ก็โตพอดี พอมีต้นไม้ มีแลนด์สเคป ก็เริ่มเฟสต่อไป
“เฟส 2 คือทำโปรดักต์จากแบรนด์พิลาฟาร์ม ดูว่าพื้นที่ของเราปลูกพืชและทำอะไรได้บ้าง เช่น ข้าว มะขาม เขียงไม้ เทียนหอม รองเท้าแตะ ฯลฯ ซึ่งเราเลือกที่จะไม่ทำ Innovative Product เพราะเราทำไม่เป็น แต่เลือกจะใช้ดีไซน์ เพราะนั่นคือจุดแข็งของเรา เราเคยมีประสบการณ์ตอนทำแบรนด์แฟชั่น”
ดูสินทรัพย์ในพื้นที่แล้วก็ต้องดูสินทรัพย์ในตัวเองด้วย อย่าไปทำอะไรเกินตัว
“ใช่ เราขายของเบสิกแต่ใส่ดีไซน์ลง”
ใครจะไปคิดว่าคนซื้อเขียงไม้พิลาฟาร์มเยอะมากจนถึงทุกวันนี้
“เราสามารถสร้างดีมานด์ให้คนต้องการเขียงไม้ของเราได้ design ทำให้คนเกิด desire ต้องให้เครดิตจากการทำธุรกิจเสื้อผ้า คนเราไม่ได้ต้องการเสื้อผ้าในฐานะเครื่องนุ่งห่ม แต่ซื้อเพราะอยากได้ ดังนั้นวิธีการทำการตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าก็คือ ต้องกระตุ้นความอยาก และการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์มันไม่ใช่การเป็นฟอลโลเวอร์ เราจะไม่ตามเทรนด์ แต่เราต้องเป็นเทรนด์เซตเตอร์ สร้างเทรนด์ใหม่ ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าเขาต้องการใส่เสื้อผ้าทรงนี้ แต่ดีไซเนอร์ต้องบอกเขาว่าปีนี้คุณต้องใส่สีเหลือง คุณต้องใส่เสื้อทรงนี้ เราก็เลยใช้ทฤษฎีเหล่านี้มาใช้กับสินค้าเกษตรว่า เวลาคุณจะกินข้าว คุณต้องวางกับข้าวบนเขียงสวยๆของพิลาฟาร์ม สร้างดีมานด์ขึ้นมาให้ได้ โชคดีที่เราเอาความเป็นสินค้าชุมชน ธุรกิจชุมชน เรื่อง Zero Waste การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเข้ามาจับด้วย”
อาคารหลังแรกๆของพิลาฟาร์มเมื่อ 3 ปีก่อน
ทำให้แบรนด์พิลาฟาร์มแตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ ด้วยเรื่องราวที่มาที่ไป
“ซึ่งได้ทั้งสองทาง หนึ่งคือคนที่มาเสพความเป็นพิลาฟาร์ม ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ลูกค้า แต่เอามาเสพเพื่อนำไปใช้กับตัวเอง ซึ่งเราก็ยินดี สองเป็นลูกค้าของเรา เกิดการจับจ่ายใช้สอยจริง”
เพราะเพจ PILA Farm Studio หน้าตาสวยมาก คนก็เข้ามาเสพเพื่อเอาแรงบันดาลใจได้
“เพราะเราเป็นดีไซเนอร์ไง รูปต้องสวย ก็อปปี้ต้องมีคีย์เวิร์ด ซึ่งจำเป็นมากกับการสื่อสาร เพราะเราไม่มีงบทำการตลาดได้เหมือนกับตอนทำองค์กรใหญ่ที่สามารถซื้อโฆษณา ลงสื่อ หรือจ้างอินฟลูเอนเซอร์ เราไม่ใช้สิ่งเหล่านี้เลย เพราะไม่มีเงิน จบ เราก็เลยต้องทำแบรนด์ให้ตะโกนเรียกแขก ไม่ต้องจ้างคนอื่นมาตะโกนให้เรา เราต้องตะโกนด้วยตัวเอง”
มันยากแค่ไหนกับการทำการตลาดในโซเชียลโดยไม่ใช้เงินบูสต์โพสต์
“คือเราทดลองใช้ทฤษฎีของเราเอง เราปลูกผักออร์แกนิก ซึ่งหมายถึงการให้ผักโตเองตามธรรมชาติ ไม่บังคับให้มันโต เราก็เลยใช้ความเป็นออร์แกนิกกับการทำการตลาดแบรนด์พิลาฟาร์มด้วย ถ้าเราทำให้มันออร์แกนิกได้ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน มันคือความท้าทายว่าความออร์แกนิกมีจริงบนโลก ถ้าเล่าให้ใครฟัง เขาอาจจะคิดว่าเราเป็นคนบ้า
“ทุกอย่างออร์แกนิก ทั้งการปลูกและการตลาด ถ้ามันเป็นออร์แกนิกได้ก็จะเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้ว่า ออร์แกนิกมีจริง ซึ่งสำหรับเรา มันทำได้จริง แต่จะทำได้นานแค่ไหน เรายังตอบไม่ได้ แต่เราก็จะทำต่อไป เพราะมันเป็นออร์แกนิกมาตั้งแต่เดย์วัน เริ่มจากลูกเพจที่เป็นดารา ซึ่งเขาซื้อเสื้อผ้าแบรนด์แฟชั่นของเราอยู่แล้ว เราโยกลูกค้าที่เคยตัดสูทกับเรามาเป็นลูกค้าที่ซื้อข้าว ซื้อเขียงของเรา และสุดท้ายเขาก็กลายมาเป็นลูกค้าที่มาเข้าพัก STAY ของเราด้วย ไหลกันมาเรื่อยๆ อย่างออร์แกนิก”
มาสเตอร์แพลนแรกที่ตั้มสเก็ตช์ขึ้นเพื่อออกแบบชีวิต กลายมาเป็นพิลาฟาร์มที่มีพื้นที่เกษตร ท่องเที่ยว และชุมชนอยู่บนพื้นที่เดียวกันในอีก 3 ปีต่อมา
คำแนะนำอะไรที่คุณอยากบอกคนที่คิดสร้างแบรนด์หรือทำธุรกิจของตัวเอง
“หนึ่ง เริ่มจากตัวตนหรือรากเหง้าของตัวเองก่อน ไม่ใช่อยากเป็นเหมือนคนนั้นคนนี้ ถ้าคุณไปเรียนการตลาด เขาจะสอนเรื่องการทำ Brand Personality หรือ Brand Perception ซึ่งสิ่งเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ Brand Personality ของเรามาจาก Identity ของเราเอง ที่สะท้อนออกมาเป็นแบรนด์ เป็นสินค้าและบริการ ดังนั้นผู้บริโภคของเราจะมีความเชื่อ ความรัก ความหลงใหลในแบรนด์ของเรามาก เพราะเขาเห็นมาตลอดว่าเราทำจริง ถ้าคุณจะสร้างตัวตนใหม่ก็ต้องมีเงินมหาศาล คอยสร้างความหวือหวาทางธุรกิจไปเรื่อยๆ นั่นก็คือโมเดลธุรกิจอีกแบบ แต่อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้มีเงินมากมาย ก็เลยเลือกใช้วิธีนี้
“สอง ‘ต่อยอด’ คือคีย์เวิร์ดของเรา เราไม่กู้เงิน ไม่มีหุ้นส่วน ไม่มีนักลงทุนมาร่วมลงทุน เราใช้วิธีการและสัญชาตญาณของเราในการตัดสินใจ ถ้าเราไปบอกหุ้นส่วนก็อาจเกิดความเห็นแย้ง เราเลยเลือกทำในแบบของเรา คือทำธุรกิจทำสัญชาตญาณ แต่จริงๆแล้วเรามีประสบการณ์จากงานประจำและแบรนด์แฟชั่น
“สาม การคิดนอกกรอบจะทำให้เราไปได้ไกลกว่า เราไม่ได้อ่านตำราธุรกิจเยอะแยะก็เลยไม่มีเฟรมเวิร์ก เราลองผิดลองถูกจากการลงมือทำจริงมาโดยตลอด และต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้
“สี่ ทุกคนเป็นดีไซเนอร์ที่ออกแบบชีวิตของตัวเอง ลองออกแบบมาสเตอร์แพลนของชีวิตที่คุณอยากมี และค่อยๆทำไปตามแพลนที่วางไว้ สะสมก้าวเล็กๆไปเรื่อยๆ เพื่อไปสู่มาสเตอร์แพลนที่วางไว้”
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Courtesy of PILA Farm Studio
https://www.facebook.com/pilafarmstudio