‘ประภาวี เหมทัศน์’ คนต้ม ขาย ตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทยเบอร์ต้นของไทย

คนต้มเบียร์ต้องดื่มเบียร์ไหม – ต้อง

คนทำร้านเบียร์ต้องดื่มเบียร์ไหม – ต้อง

คนจัดจำหน่ายเบียร์ต้องดื่มเบียร์ไหม – ต้อง

คนต้ม ทำร้าน จัดจำหน่าย ดื่ม ต้องผลักกันการแก้กฎหมายเหล้าเบียร์ไหม – ต้องอย่างยิ่ง

หากระบบนิเวศใหญ่ๆของวงการคราฟต์เบียร์ไทยแบ่งเป็นหมวก 4 ใบดังที่กล่าวมา บุคคลผู้นี้ก็สวมมันทุกใบ ‘ประภาวี เหมทัศน์’ หุ้นส่วนโรงเบียร์สหประชาชื่น ผู้ก่อตั้ง Group B Beer ตัวแทนจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ นักรณรงค์การแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนที่ดื่มเบียร์ทุกวัน (แต่ทำงานได้ ไม่มาว)

The Optimized ชวนตั้งวงสนทนาเคล้าพรายฟองกับคนทำคราฟต์เบียร์ชื่อ ‘บะหมี่’

เริ่มจากสายดื่ม

“ตอนนั้นที่เราเริ่มต้นทำคราฟต์เบียร์คือช่วงปี 2016 ในเมืองไทยมีร้านคราฟต์เบียร์เต็มที่ก็ 10 ร้าน” หมี่เล่า แน่ละว่าคนต้มเบียร์เถื่อนมีมากกว่านั้น

คราฟต์เบียร์ในไทยอาจเป็นที่คุ้นเคยมาจากร้านต่างๆที่ขายคราฟเบียร์นําเข้า หรือเบียร์เยอรมันที่เข้ามาในไทยนานนับ 10 ปี ก่อนที่เทรนด์คราฟต์เบียร์อเมริกาจะเริ่มบูมตามมา และอานิสงก์ของยูทูบก็ได้ทำให้ช่วงเวลานับสิบปีนี้ คนไทยเริ่มตื่นรู้แล้วว่า “เราสามารถต้มเบียร์ได้นี่นา”

หมี่เคยต้มเบียร์เอง แต่สาวสายศิลป์ยอมจำนนให้กับการคำนวณ ตัวเลข และงานต้มที่วันๆได้เจอแต่หม้อเบียร์กับฮอปส์ คุณเองก็อาจจะเป็นอย่างเธอหรือเปล่าที่การเป็นคนต้มเบียร์ไม่ใช่ทาง เพราะในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนี้มีหลายภาคส่วนที่อาจจะเหมาะกับคุณมากกว่า อย่างที่หมี่ค้นพบว่าเธอเหมาะกับการเป็นคนเลือกเบียร์และงานบริหารธุรกิจเบียร์  

“เราอยู่ในคอมมูนิตี้เบียร์มาจนวันหนึ่งมีคนรู้จักมาชวนว่าทําร้านกันไหม กลายเป็นว่ามันเป็นทางเรามากๆ ตอนนั้นทำร้านชื่อ Mystic Rooftop บนดาดฟ้าชั้น 4 ของโรงแรม Mystic Place อยู่ตรงประดิพัทธ์ และ ร้านบ้านดอกแก้ว ตรงพระราม 6” สองร้านนี้เป็นตำนานของชุมชนคราฟต์เบียร์ในเมืองไทย แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีลูกค้าร้านเก่าตามมาอุดหนุนที่โรงเบียร์สหประชาชื่นไม่ขาดสาย หมี่เล่าพร้อมกระดกอีกแก้ว

เบียร์ผีบอก / เบียร์หมี

กล้าเสี่ยง ไม่ใช่เพราะหัวแข็ง แต่เพราะหลังชนฝา

ธุรกิจคราฟต์เบียร์ของหมี่มี 2 ขา หนึ่งคือ โรงเบียร์สหประชาชื่น ซึ่งผลิตและเปิดเป็นร้านอาหาร+ขายเบียร์ที่ผลิตเอง และอีกขาคือ Group B Beer ตัวแทนจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทยเบอร์ต้นของวงการ ซึ่งเธอก่อตั้งมาในปี 2017

“ตอนนั้นเราเปิดร้านมิสติกรูฟทอปกับร้านดอกแก้ว มีลูกค้าให้เราช่วยลูกค้าสั่งเบียร์ เราก็ให้คอนเน็กชันระหว่างร้านกับผู้จัดจำหน่ายไปเยอะมากโดยที่เราไม่ได้เงินสักบาท น้องสาวเราก็บอกว่า เราจะมานั่งทําเรื่องพวกนี้ฟรีเพราะอะไร ก็เปิดเป็นผู้จัดจำหน่ายเองไปเลยสิ เราก็เลยเปิดกรุ๊ปบี

“กรุ๊ปบีขายเบียร์ที่เป็น Contract Brewing เราไปจ้างต้มที่โรงเบียร์คุณ เหมือนทำ OEM  ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ของคราฟต์เบียร์ไทยเป็นแบบจ้างคนอื่นต้มให้ เช่น จ้างเวียดนาม กัมพูชา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ แล้วนําเข้ากลับเข้ามาขายในไทย เพราะถ้าต้มเอง เราบรรจุไม่ได้ ซึ่งโรงเบียร์ที่รับทำ OEM ในไทยก็มีเปิดแล้ว 2-3 ปีได้และฮอตมาก คิวเต็มตลอด เพราะทุกคนที่อยากมีโปรดักต์เป็นของตัวเองจะไปจีบโรงนี้ เราเป็นคนแรกที่จ้างโรงเบียร์นี้ให้ทำโปรดักต์คราฟต์เบียร์ไทย ก็คือเบียร์ผีบอก เราเป็นคนแรกที่ไปเสี่ยง

“เชื่อไหมว่ามี Brewer ไปให้เขาทดลองต้มเยอะมาก และหยุดแค่นั้น ไม่กล้าทำต่อ แต่เราเป็นคนแรกที่กล้าทำล็อตใหญ่ในไทย”  

ถามว่าทําไมกล้า? หมี่ตอบง่ายๆว่า “ก็เราไม่มีตัวเลือกอื่น มันคืออาชีพเรา”

อาชีพที่ว่าก็คือ distributor ตัวแทนจัดจำหน่ายหรือสายส่งที่หมี่บอกว่ามีหน้าที่ “ทำยังไงก็ได้ให้มีโปรดักต์ออกสู่ตลาด” และธุรกิจของกรุ๊ปบียังมีฟังก์ชันมากกว่านั้น “งานของกรุ๊ปบีคือขาย หาโปรดักต์ดีๆ แบรนด์ที่น่าสนใจ หรือโลคัลโปรดักต์มาจัดจำหน่าย บางคนไปต้มมาจากต่างประเทศแล้วให้ช่วยจัดจำหน่ายให้ หรือให้เราไปเป็นที่ปรึกษาการทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ เราก็ทำได้”

Taopiphop Ale Project

สุราเทวะ สุราต้นทองหลางจากจันทบุรี

คราฟต์เบียร์ที่ผ่านการชิมของเธอและได้จัดจำหน่ายสู่ตลาดก็ได้เช่น ผีบอก แซนพอร์ต ยอดเบียร์ เหน่อเบียร์ อันเดอร์ด๊อก เทพพนม ไปจนถึง Taopiphop Ale Project และยังมีสุราชุมชน อาทิ สังเวียน นาสาร Red Jungle สุราเทวะ ฯลฯ เฉพาะแค่คราฟต์เบียร์ไทยในพอร์ตของกรุ๊ปบีเติบโตพรวดพราดถึง 400% ในเวลา 2 ปี

“ทุกวันนี้มีคนอยากทำโรงเบียร์สหประชาชื่นสาขา 2 เยอะมาก เพราะเขาเชื่อว่าโปรดักต์ของเราดี เขาได้มากินแล้วมันอร่อยจริง เป็นแบรนด์ที่ดี หรือแม้แต่เราบอกว่าอยากตั้งโรงเบียร์ขนาด 10 ล้านลิตร ซึ่งกำลังการผลิตระดับเบียร์เจ้าตลาดในตอนนี้ ก็มีคนยินดีที่จะมาลงทุนด้วยหรือพร้อมจะไปด้วย

นี่คือข้อดีของการเป็นผู้บุกเบิก ผู้ยอมเจ็บมาก่อนและยืนระยะได้นาน ทำให้คนเชื่อมั่นว่าในความเป็นตัวจริง รู้เยอะ และยังต่อสู้เรื่องกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยอุตสาหกรรมนี้ด้วย เรียกได้ว่าทั้งตัวเธอและกิจการที่ทำล้วนมีแบรนด์ดิ้งที่ดี แม้จะต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยาก

“มีคนติดต่อกรุ๊ปบีมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ตอัป อาร์ตโชว์ คอนเสิร์ต ฯลฯ เจ้าของงานอาจจะไม่ได้อยากได้เบียร์เจ้าใหญ่ที่เป็นเบียร์แมสไปจอยกับเขา แต่อยากได้คราฟต์เบียร์ที่การันตีคุณภาพได้ ก็จะนึกถึงเรา เราก็คิดว่าเราสมควรได้รับการยอมรับนะ เพราะอยู่วงการคราฟต์เบียร์ไทยมาตั้งแต่แรกๆ”  

การต้มเบียร์ที่โรงเบียร์สหประชาชื่น

อยากทำอะไรในยุทธจักรคราฟต์เบียร์

ในฐานะคนเปิดร้านคราฟต์เบียร์รายแรกในเมืองไทย หมี่แชร์ประสบการณ์ว่า “ธุรกิจเบียร์มีหลากหลายมาก ต้องถามก่อนว่าคุณอยากเป็นอะไร”

อยากเป็นผู้ผลิตทําแบรนด์ของตัวเอง

อยากเปิดร้านคราฟต์เบียร์

อยากเปิดโรงเบียร์ (แบบสหประชาชื่น) ที่ต้มเบียร์เองในพื้นที่ร้านเลย

อยากนําเข้าวัตถุดิบ

หรืออยากจัดจำหน่าย

ถ้าอยากจะให้โปรดักต์คุณแมส คุณต้องมองตัวเองเป็นร้านอาหาร อย่างสหประชาชื่นเป็นโรงเบียร์ที่โฟกัสเรื่องอาหารมากๆ อาหารต้องอร่อย ได้คุณภาพ เพราะธรรมชาติของคนไทยกินเบียร์คู่กับกับแกล้ม แต่ฝรั่งมากินเบียร์อย่างเดียวเลย ไม่กินกับแกล้ม ฉะนั้นโรงเบียร์เมืองไทยต้องทำให้เบียร์กับข้าวมาคู่กัน

นอกเสียจากว่าเบียร์คุณจะเจ๋งจริงๆ จนคนต้องมาเพื่อกินเบียร์ตัวใหม่ของร้านคุณ เพราะกฎหมายไทยตอนนี้ไม่อนุญาตให้คุณบรรจุเบียร์ออกไปขายนอกร้าน ดังนั้น คนต้องมากินเบียร์สุดเจ๋งนี้ที่ร้าน ต่อให้ไม่มีอาหารจริงจังที่อร่อยสุดๆ ลูกค้าก็อาจจะมา ซึ่งร้านแบบนี้ที่เมืองนอก อย่างที่ญี่ปุ่นมีหลายที่เลย เราเคยเจอร้านเล็กๆที่อาหารไม่ได้โดดเด่น แต่เบียร์เด็ดมากจนคนต้องไปตามกิน”

Brewery คือโรงเบียร์ที่ทำเบียร์เพื่อจำหน่ายออก

Brew Pub คือโรงเบียร์ที่ต้มเบียร์เอง และมีหน้าร้านขายเอง

Tap Brew คือเป็นร้านที่เอาเบียร์ของคนอื่นหรือเบียร์ของตัวเองไปขาย

“บ้านเรามีร้านสไตล์ Tap Brew เยอะมาก มีขายทั้งเบียร์นำเข้าและเบียร์ไทยที่ไปผลิตที่อื่น” หมี่แจกแจง “สิ่งที่สําคัญคือ ธุรกิจเบียร์ต้องมีระบบนิเวศที่แข็งแรง ต้องมีทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย เพราะบางทีคุณมีโปรดักต์ แต่ก็ไม่ได้อยากแพ็กของ ไม่อยากนั่งทําบิลเก็บเงินลูกค้า ไม่อยากนั่งรับโทรศัพท์ลูกค้าเวลาเบียร์มีปัญหาตอนส่ง นี่คือหน้าที่ของตัวแทนจัดจำหน่าย เพื่อให้บริวเวอร์โฟกัสกับการผลิตโปรดักต์ได้เต็มที่” ตัวมารดาคราฟต์เบียร์แจกแจงยาว

‘ไปทํามาหากินอย่างอื่นง่ายกว่า อย่ามาทำเบียร์เลย’  

“ทุกวันนี้มีคําพูดที่เป็นมุขเวลาคนเข้าหาว่าคนทำคราฟต์เบียร์อยากจะแก่งแย่งชิงดี เราไม่อยากไปทะเลาะด้วยหรอกเพราะทําคราฟต์เบียร์ไม่ได้รวย เงื่อนไขเยอะ ข้อจํากัดเยอะ มาร์จินก็น้อยมาก ทำน้ำเปล่าขายยังได้มาร์จิน 100 เปอร์เซ็นต์ แถมไม่โดนกฎหมายอะไรเลยด้วย”

คนอื่นเล่า Success Case เยอะแล้ว หมี่ขอเล่า Unsuccess Case ไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า  

“มีคนที่เข้ามาในธุรกิจนี้ เพราะมองว่าเบียร์มีกระแส มันน่าสนใจ มันทําเงินได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ได้

“มีร้านคราฟต์เบียร์เต็มไปหมดที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ ก็ต้องปิดไป เวลาเราทำร้าน เราจะทำความรู้จักเบียร์ทุกตัวที่เอาเข้ามาในร้าน รู้ว่าทําไมเราต้องขายตัวนี้ และจะขายให้ใคร แต่เจ้าของร้านจำนวนมากเล่าเรื่องไม่ได้ เพราะไม่รู้จักโปรดักต์ เปิดร้านตามกระแส หรือไม่มีเวลามากพอจะศึกษา แต่ถ้าคุณรู้จักโปรดักต์และให้เวลาศึกษามัน คุณจะหาลูกค้าของคุณเจอ สต๊อกก็จะไม่บวม และร้านคุณจะไปต่อได้

“มีคนที่ไม่มีความรู้อะไรเลย อยากเปิดร้านคราฟต์เบียร์ อยากทําแบรนด์เบียร์จัง และสุดท้ายก็ไม่รอด เพราะไม่ได้กำไร คราฟต์เบียร์เป็นธุรกิจที่เป็นบลูโอเชียนก็จริง แต่เป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่พร้อมเปิดรับ ทุกวันนี้คราฟต์เบียร์ดังจะตาย แต่คนยังตั้งคําถามว่าทําไมแพงจัง” เธอบอกว่าเดี๋ยวจะเล่าถึงที่มาของปัญหานี้ ก่อนจะสรุปหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ว่า

ถ้าคุณทำร้าน คุณขายปากต่อปากเล่าเรื่องโปรดักต์ให้ลูกค้าฟังเป็นคนๆไปได้ แต่เราเป็นคนจัดจำหน่าย มีของเป็นร้อยเป็นพันลัง เราพูดกับลูกค้าทุกคนแบบที่พูดกับลูกค้าหน้าร้านไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญคือ โปรดักต์ต้องดี แบรนดิ้งต้องขายด้วยตัวเองประมาณหนึ่ง”  

คราฟต์เบียร์ไทยคว้ารางวัลระดับสากล

ทำไมคราฟต์เบียร์ไทยถึงแพงจัง?

ลักษณะพิเศษของคราฟต์เบียร์ หมี่ระบุว่าเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น บางตัว 4 เดือน บางตัว 6 เดือน ต่างจากลาเกอร์ที่อยู่ได้ 1 ปี ขณะที่ไวน์ ยิ่งเก่ายิ่งดี

นอกจากนี้ แม้จะใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาเป็นตัวชูโรง แต่เมื่อหมักและกลั่นไปแล้ว ความโลคัลนั้นกลับไม่แสดงชัดเพราะผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ต่างจากสุราแช่ทั้งหลายที่เมื่อผ่านกระบวนการแล้วยังแสดงความเป็นโลคัลโปรดักต์ชัดเจน เช่น ไวน์น้ำผึ้งจากเชียงใหม่ หรือน้ำตาลเมา ‘เป้ห้วยกรด’ จากชัยนาทก็มี หรือทางใต้ก็มีน้ำหวาก เป็นต้น

เบียร์จึงโปรดักต์ที่คนไทยก็จะไม่นับว่าเป็นโลคัลโปรดักต์ แต่เบียร์ในความรับรู้(ของรัฐราชการไทย) คือสินค้าจากต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ เบียร์ตกที่นั่งเดียวกับไวน์องุ่น ภาษีสรรพาสามิตของเบียร์และไวน์จึงจะแพง ต่อให้จะผลิตในประเทศไทยก็ตาม

แต่ล่าสุด ประกาศกฎกระทรวงของกรมสรรพสามิตในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้ภาษีไวน์ปรับลดอัตราภาษีจาก 10% เหลือ 5% หรือราคาลดลงมาเหลือประมาณ 100 บาท/ขวด และปรับลดภาษีสุราพื้นบ้าน จากเดิมเก็บภาษี 5% เหลือ 0% และเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือดีกรีอย่างเดียว เพื่อส่งเสริมรายได้ชุมชน)

หมี่ยกตัวอย่างว่า “ถ้าคุณทําสุราแช่ เอาลิ้นจี่ที่บ้านมาหมัก คุณบอกว่าจะขายขวดนี้ 100 บาท ภาษีคือ 10 เปอร์เซ็นต์จาก 100 บาท แต่ถ้าคุณจะทำเบียร์ และบอกว่าจะขาย 100 บาท คุณโดนภาษา 22 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีภาษีแอลกอฮอล์ ถ้าคุณทำเหล้ามีแอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์ จะเสียภาษี 150 บาทต่อ 100 ดีกรีต่อลิตร แต่ถ้าเป็นเบียร์คุณจะเสียภาษีแอลกอฮอล์ 430 บาทต่อดีกรีต่อลิตร เพราะว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในมุมมองของรัฐ ที่มองว่าเบียร์และไวน์ไม่ใช่คัลเจอร์ของคนไทย

“เราเคยไปคุยกับสรรพสามิต เขาบอกว่าเบียร์มีตลาดใหญ่มากในบ้านเรา เหล้าอาจจะมีมูลค่า 100,000 ล้าน แต่ตลาดของเบียร์สูงถึง 300,000 ล้านบาท หากจะปรับลดภาษีให้ผู้ประกอบการ จากที่เคยเก็บได้ 7,000 ล้าน อาจจะลดลงเหลือ 4,000 ล้าน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐจะเปลี่ยนอะไร เขาต้องคิดให้จบว่าเปลี่ยนยังไงก็ได้ รัฐต้องเก็บภาษีให้ได้เท่าเดิม

และเราเคยตั้งคำถามว่าพอจัดว่าเหล้าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ถึงได้เก็บภาษีแพงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น แต่ทําไมเหล้าขาวไม่เก็บภาษีเท่ากันล่ะ คนจะทําเหล้า เบียร์ หรือไวน์ ก็ควรจะเท่าเทียมกัน รัฐบอกว่าถ้าเกิดดันภาษีเหล้าขึ้นเท่าเบียร์ แล้วคนจนจะกินอะไร”

แทนที่จะลดภาษีเบียร์ให้เท่ากับเหล้า

“บางประเทศคิดภาษีแค่จากราคาขาย บางประเทศคิดภาษีแค่จากดีกรีแอลกอฮอล์ คือคิดภาษีแค่อันใดอันหนึ่ง แต่บ้านเราคิดภาษีสองอย่างเลยเลย และเขาพูดว่าการคิดภาษีจากดีกรีแอลกอฮอล์ เป็นเพราะเราเป็นห่วงสุขภาพประชาชน ถ้าแอลกอฮอล์สูงก็ควรจะจ่ายภาษีเยอะ

“เราเลยตั้งคําถามต่อไปว่าเหล้าขาวมีดีกรีแอลกอฮอล์ 35-40 เปอร์เซ็นต์ คุณคูณไป ภาษีที่จ่ายให้เหล้า ถูกกว่าที่จ่ายให้เบียร์ 5 เปอร์เซ็นต์เสียอีก เพราะเบียร์คูณ 430 แต่เหล้าคูณ 150” หมี่เล่าเรื่องภาษีเหล้าเบียร์แบบเพลียๆ “อย่างในอเมริกามีการทําเรื่องคราฟต์เบียร์มา 40 ปี แต่ทุกวันนี้ตลาดคราฟต์เบียร์มีส่วนแบ่งเต็มที่ก็แค่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขากลัวว่าคราฟต์เบียร์จะมาเป็นเจ้าตลาดมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

จากข้อมูลในปี 2565 ตลาดคราฟต์เบียร์ไทยและนำเข้ามีส่วนแบ่งเพียง 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมของเบียร์ 270,000 ล้านบาท ส่วนอีก 97 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่คราฟต์เบียร์จากบริวผับรายย่อยต่างๆ มีมูลค่าเพียง 200-300 ล้านบาทเท่านั้น

กฎหมายเปลี่ยน คราฟต์เบียร์เฟื่องฟู?

“รอดูปีหน้า ซีนคราฟต์เบียร์ไทยอาจจะคึกคักขึ้น” อินไซเดอร์ของวงการพยากรณ์ เมื่อกฎหมายขยับ ทั้งอุตสาหกรรมก็เขยื้อน

“ตอนนี้รัฐช่วยปรับกฎหมายผลิตให้ยืดหยุ่นขึ้น…หน่อยหนึ่ง” หมี่กล่าว “อย่างโรงเบียร์ไซซ์เท่าเรา กฎหมายเดิมระบุว่าเราต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ตอนเราทำโรงเบียร์นี้เมื่อ 2 ปีก่อน เราต้องหาเงินสดมาเข้าธนาคารให้ครบ 10 ล้าน เพื่อที่จะตั้งโรงเบียร์ได้ ทั้งที่จริงๆแล้วใช้เงินไม่ถึงหรอก

“ตอนนี้กฎหมายเปลี่ยนแล้ว คือถ้าทำที่นี่ ขายที่นี่ ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้าน คุณเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้ แต่หม้อต้มต้องมีขนาด 100 ลิตร เรามองว่าในภาพรวมมันโอเคขึ้น ทําให้อุตสาหกรรมเบียร์ในเมืองไทยดีขึ้นมา

“คนชอบพูดว่าอยากมีโรงเบียร์แบบญี่ปุ่น ต้มเอง ขายเองที่บ้านได้ ตอนนี้เมืองไทยทำได้แล้ว กฎหมายเปลี่ยนให้เยอะแล้ว แต่ถามว่าจะมีคนทําหรือเปล่า ก็รอดูปีหน้า ส่วนปีนี้รอดูว่ามีใครจดแล้วบ้าง หลังจากที่กฎหมายเพิ่งเปลี่ยนปลายปี 65 เท่าที่ทราบก็คือมีคนขอใบอนุญาตพอสมควรเลย

“ร้านคราฟต์เบียร์ในไทยมีเยอะอยู่แล้ว แต่ร้านที่ทําเอง ต้มเอง ขายเองยังมีไม่กี่ร้าน จากข้อจำกัดของกฎหมายเดิม ขนาดใหม่ของหม้อต้ม 100 ลิตร แต่ยังห้ามบรรจุออกไปขายนอกสถานที่ ต้องเปิดร้านอาหารแล้วขายในร้านตัวเองเท่านั้น เรียกว่า On-Premise (หรือ On Prem คือระบบที่มีการติดตั้งใช้งานเองภายในองค์กร)

“เพราะกฎหมายไทยมีสองใบมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ใบแรกคือ Brew Pub ก็อย่างโรงเบียร์สหประชาชื่น คือต้มเบียร์ที่นี่ ขายที่นี่ ใบที่สองคือ Brewery คือต้มเบียร์เองแล้วบรรจุ ทำแพ็กเกจ

“กฎหมาย Brew Pub ปรับลงจาก 100,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเป็นไซซ์ที่เราทำ ปรับลงมาเป็นหม้อ 100 ลิตร ถ้าเราต้มทุกวัน เราจะได้ 100,000 ลิตรต่อปีพอดี เราต้มไม่ครบหรอก แต่กำลังการผลิตเราถึง ไม่ต้องทำการผลิตให้ถึงก็ได้ แต่ไซซ์หม้อต้มต้องถึง ต้องมีหม้อไว้ แต่กฎหมายแพ็กเกจปรับนิดเดียวคือไม่กําหนดกำลังผลิตหลัก แต่ก่อนกําหนดกําลังผลิตที่ 10 ล้านลิตรต่อปี ต้องเป็นระดับเบียร์เจ้าใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดตอนนี้เลยนะ ผู้ผลิตก็ต้องมีหม้อไว้”

อธิบายให้เห็นภาพว่า เหมือนมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์สเป๊กแรงมาก แต่เอาใช้เล่นเกมเตอร์ติส

“แม้กฎหมาย Brewery ปรับให้ว่าไม่ต้องทำถึง 10 ล้านลิตรแล้ว แต่ต้องทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ต้องมีการยืนยันว่าโรงเบียร์ของคุณจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกฎหมายของกระทรวงแรงงานบอกว่า โรงงานที่จะทําอีไอเอได้ก็จะเป็นไซซ์ที่ต้มเบียร์ 600,000 ลิตรต่อเดือน แปลว่าโรงเบียร์ที่จะทำแพ็กเกจก็ต้องมีกำลังการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปีอยู่ดี

“ตรงนี้เรามองว่ารัฐไม่เข้าใจภาพรวมว่าไม่ต้องทําอีไอเอ ก็ทําโปรดักต์ที่มีคุณภาพได้ แพ็กเกจได้ ส่งออกนอกประเทศได้ เขาไม่เข้าใจ ก็เลยมองว่าถ้าจะให้มีคุณภาพก็ต้องมีอีไอเอ รัฐกังวลว่าเบียร์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ทําลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเบียร์ทําลายสิ่งแวดล้อมจริง อาจมีปัญหาน้ำเสียหรือกลิ่น แต่มันควบคุมได้”

เทศกาล Thai Craft Beer 2023

น้ำหอมกลิ่นคราฟต์เบียร์ที่หมี่ช่วยออกแบบกลิ่น

สู่ทุ่งหญ้าบาร์เลย์และการท่องเที่ยวเชิงคราฟต์เบียร์

ถ้าเกิดบริวผับเกิดขึ้นหลายๆที่ทั่วประเทศก็จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้มากมาย หมี่ยกตัวอย่างว่า

“สำหรับเราที่ทำเรื่องจัดจำหน่าย เปิดร้านเองและทำเรื่องกฎหมายควบคู่กันมาตลอดมองว่ามันส่งเสริมกัน คนที่ไม่รู้จักคราฟต์เบียร์จะรู้จักมากขึ้น เพราะว่าบริวผับมากขึ้น มีบริวผับหลากหลาย เบียร์ที่เราขายก็มี 30-40 SKU คนกินเบียร์กินที่รสชาติและยินดีที่จะลองของใหม่ ถ้าจะมีบริวผับเยอะขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมก็จะโตขึ้นไปหมด

“ประเทศไทยเก่งเรื่องธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว แต่เรายังคงต่อรองเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบได้ไม่ค่อยดี หรือแม้แต่การปลูกวัตถุดิบที่เกี่ยวกับเบียร์ หรือการผลิต เรามีปัญหาเรื่องวัตถุดิบเพราะไม่มีดีมานด์ เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมเบียร์ต้องใช้มอลต์ต้องการความเสถียรสุดๆ แต่มอลต์ที่ปลูกในไทยไม่เสถียร ในเมืองไทย คนฮิตกินลาเกอร์ที่เป็นเบียร์ใส ทีนี้บาร์เลย์จะทำให้เบียร์ขุ่นถ้าใส่เยอะ ทำให้บาร์เลย์ที่ปลูกในไทยขายไม่ได้ ไม่ถูกนำไปใช้ จนไร่ที่ปลูกวัตถุดิบเหล่านี้ตายไป

“แต่ตอนนี้ประเทศประเทศไทยรู้จักเบียร์ขุ่นละ ทําเบียร์สไตล์ที่ไม่ต้องใสก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณฟื้นฟูไร่บาร์เลย์และวีตขึ้นมาก็จะช่วยวงการเกษตร การท่องเที่ยว จัดเบียร์เฟสติวัลแบบ Oktober Fest ในเยอรมันที่คนจากทั่วโลกเดินทางเพื่อไปกินเบียร์โดยเฉพาะ เราเดินทางไปทั่วประเทศไทยเพื่อไปชิมเบียร์ต่างๆ ประเทศไทยคือเมืองท่องเที่ยว คุณต่อยอดทำเป็น Beer Destination ได้อีก

“ทุกวันนี้ยังมีคนขึ้นดอยเพื่อไปกินขนมปังที่จะมีขายเฉพาะดอยนั้นๆเลย แล้วทำไมคนจะขึ้นดอยเพื่อไปกินเบียร์ประจำดอยนั้นๆไม่ได้”  

ระวัง! เบียร์เถื่อน

ถ้ามีโรงเบียร์ผลิตในเมืองไทยได้มากขึ้น ก็จะลดต้นทุนในการที่ต้องไปจ้างผลิตในต่างประเทศ คราฟต์เบียร์ที่ขายกันขวดละ 200 อัปอย่างทุกวันนี้ ดีไม่ดีอาจถูกกว่าเป็นเท่าตัว หมี่กล่าว ซึ่งนอกจากจะทำธุรกิจแล้ว อีกขาหนึ่งเธอยังไฝว้ให้เกิดการแก้กฎหมายสุราในไทย

“ที่ผ่านมาเราไปช่วยร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะยื่นเข้าสภา อยู่ดีๆก็เป็นคนเขียนกฎหมายเฉยเลย การเขียนกฎหมายไม่ได้ยากหรอก แค่เอาความเมกเซนส์ใส่เข้าไปในกฎหมายเดิม เช่น เรื่องห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ เราก็เปลี่ยนเป็นห้ามโฆษณาที่เกินจริง แปลว่าโฆษณาได้ แต่ถ้าเกินจริงก็มีโอกาสทําร้ายผู้บริโภค”

สุดท้าย เธอฝากเตือนไปถึงคนกินและคนทำร้านให้ระวังว่าจะสนับสนุนกฎหมายด้วยการฝ่าฝืนกฎหมาย “ตอนนี้สิ่งที่มีปัญหาคือมีโปรดักต์จาก Home Brew เถื่อนไปลงตามร้านเยอะมาก และร้านก็เข้าใจผิดว่าโฮมบริวของแรร์ เป็นของโลคัล ของลิมิเต็ด งานโฮมเมด

“โฮมบริวคือการต้มเบียร์เถื่อน ไม่ขออนุญาต ไม่เสียภาษี แอบต้ม แอบบรรจุ แอบทุกอย่างเลย และคิดว่าการทำแบบนี้คือคราฟต์ แต่การจะทำโรง OEM ก็คราฟต์อยู่แล้ว เพราะทำแค่พันลิตร แต่หลายร้านไม่เข้าใจและรับโฮมบริวมาขาย โฮมบริวมีปัญหาคือ หนึ่ง บางโปรดักต์ไม่ได้คิวซี สอง ถ้าร้านโดนสรรพสามิตเข้า ร้านเป็นฝ่ายที่ต้องเสียค่าปรับ”  

แล้วคนซื้อจะดูอย่างไรว่าเบียร์กระป๋องที่เราซื้อมาเป็นโฮมบริวหรือของถูกกฎหมายหรือเปล่า

“กระป๋องที่เสียภาษีจะมีคําว่า ‘ชําระภาษีแล้ว’ หรือถ้าไม่มีคำนี้ก็จะมีแสตมป์สีฟ้าๆ เขียวๆ แดงๆ ติดอยู่ ซึ่งร้านรู้อยู่แล้ว” หมี่ย้ำคำนี้สามรอบ

“เราอยู่ในวงการมาตั้งแต่วันที่คนไม่เชื่อมั่นว่าคราฟต์เบียร์ไทยเป็นคนดี คนไม่ซื้อเพราะมองว่าไม่ดีเท่าเบียร์นอก แม้จะทําในโรงงานที่ถูกกฎหมายในงานที่มีคุณภาพ เช็คมาแล้ว คิวซีมาแล้ว คนก็ยังไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะเขามีตัวเปรียบเทียบที่เป็นเบียร์แมสที่ถูกมาก ทําเยอะ และมีตัวเปรียบเทียบที่เป็นเบียร์นอกที่อาจจะมีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่คราฟต์เบียร์มันใหม่มาก

“มีหลายคนที่ใช้ช่องนี้ในการขายโปรดักต์ตัวเอง โดยที่มองว่านี่คือการแสดงจุดยืนของฉัน เป็นการซัปพอร์ตโลคัลของฉัน แต่สุดท้ายคนที่คุณควรสนับสนุนคือคนที่ในความยากลําบากที่สุด แต่ก็ยังทําถูกกฎหมายให้ออกมาได้”  

ว่าแล้วก็จบแก้วที่ 4 ของวันไว้เพียงเท่านี้

 

Words: Suphakdipa Poolsap

Photos: Courtesy of Group B Beer

you might like

Scroll to Top