คุณหมอแอนดรูว์ ไบรอันเป็นลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียที่เกิดและเติบโตที่ออสเตรเลีย โดยคุณแม่เป็นคนไทย และคุณพ่อเป็นชาวออสซี่ หมอแอนดรูว์อยู่ที่แผ่นดินพ่อมาตลอด กระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อนได้ย้ายมาใช้ชีวิตที่แผ่นดินแม่ และกลายเป็น 1 ใน 3 แพทย์ที่เป็นสมาชิกสมาคมไคโรแพรกติกแห่งประเทศไทย 33 คน
ที่สำคัญเขายังเป็นดาว TikTok ที่มียอดวิว 100 ล้าน+ อีกต่างหาก!
แอนดรูว์ ไบรอัน มีชื่อไทยว่า ‘อดุลย์กรณ์ จิตรีเที่ยง’ ซึ่งเขามองว่าเป็นชื่อที่ไม่ค่อยแมตช์กับหน้าตาฝาหรั่งจ๋าของตนมากนัก อดุลย์กรณ์สมัยเด็กมักมาเยี่ยมบ้านแม่ปีละครั้ง จึงมองว่าตนเป็นเหมือนนักท่องเที่ยวมากกว่าจะมองว่าตนเองเป็นคนไทย และไม่ค่อยคุ้นเคยกับความเป็นไทย-ไทยเท่าไร เป็นต้นว่าปีแรกที่มาเมืองไทย เขาไม่ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ เพราะแม่เป็นห่วง เตือนว่าอย่าขี่วินเลย เดี๋ยวขาหัก จึงเดินจากรถไฟฟ้าบีทีเอสไปเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักในย่านเอกมัย และต่อมาก็ไม่รู้อีกว่าตามคอนโดฯ ต่างๆ มีบริการรถชัตเทิลบัสรับ-ส่งลูกบ้านตามสถานีรถไฟฟ้า แอนดรูว์จึงพึ่งพาสองขาของเขาเท่านั้นเมื่ออยู่ไทยแลนด์
เขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับการอ่านและเขียนภาษาไทยมาทั้งชีวิต จนปัจจุบันก็ยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ และปัญหานี้จะยิ่งหนักอกขึ้นเมื่อหมอแอนดรูว์เจอเอกสารภาษาไทย เพราะไม่รู้ว่าตนเซ็นเอกสารอะไรไป เป็นตอนนั้นเองที่เขามักจะคิดถึงแม่ที่เคยจับลูกชายเรียนซัมเมอร์ในโรงเรียนไทย แต่เขาก็มิได้นำพาที่จะสนใจเรียนรู้ภาษาแม่ จะเรียนไปทำไม ไม่ได้ใช้หรอก ไม่คิดว่าจะไปอยู่เมืองไทยอยู่แล้ว
5 ปีที่แล้ว แอนดรูว์ย้ายมาอยู่เมืองไทย มีครอบครัว และมีธุรกิจคลินิกจัดกระดูกที่โด่งดังในโลกโซเชียลอย่างทุกวันนี้
แรงส่งสำคัญที่ทำให้แอนดรูว์เป็นหมอ เพราะคุณแม่ของเขาช่างเป็นคุณแม่ชาวเอเชียตามแบบฉบับที่กรอกหูลูกว่าให้เรียนหมอ เรียนหมอ เรียนหมอ แม้ลงท้ายเขาได้เป็นหมอจัดกระดูก แต่ไม่ใช่แพทย์
แรกเริ่มแอนดรูว์ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปริญญาตรี ก่อนจะย้ายไปเรียนด้านสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ ด้วยความที่เขาชอบเล่นกีฬาอยู่เป็นทุนเดิม จึงอยากเรียนสิ่งที่จะช่วยให้คนเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และสนใจเรียนต่อด้านไคโรแพรกติกไปตามความใฝ่รู้ของตนเอง
@dr_andrewbryant วันนี้ ประธานบริษัทมาเยือนคลินิก!! ถึงจะเป็นท่านประธานก็ปวดหลังได้นะครับบบบ 🤩 #chiropractic #chiropractor #ASMR #neckcrack #neckadjustment #จัดกระดูก #ไคโรแพรคติก #fyp #หมอไคโรแพรคติก #ออฟฟิสซินโดรม #ปวดหลัง #อปป้าราม โอปป้ารามคำแหงโอปป้ารามคําแหงธานบริษัท #ท่านประธาน#พีคตอนจบ#ไหล่ติด
หมอแอนดรูว์ยังจำคลาสแรกสมัยเรียนไคโรแพรกติกที่ออสเตรเลียได้ เมื่อเขาเป็นคนเดียวในชั้นเรียน 120 คนที่ไม่เคยจัดกระดูกมาก่อน แม้ว่าในต่างประเทศ ผู้คนจะจัดกระดูกกันโครมๆ เป็นเรื่องปกติก็ตาม ทว่านั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเขาเรียนศาสตร์ไคโรแพรกติกเพราะใฝ่รู้ และพยายามหาทางผสมผสานศาสตร์การจัดกระดูกมาปรับใช้เพื่อช่วยนักกีฬาหรือคนที่เล่นกีฬาอันเป็นพื้นความสนใจดั้งเดิมของตน
แล้วแอนดรูว์ก็มาเป็น Chiropractor หรือที่ในเมืองไทย คนเรียกคนที่ทำอาชีพนี้ว่า “หมอจัดกระดูก” ซึ่งไม่ผิด หากก็ไม่ได้ครอบคลุมความเป็น Chiropractic ซึ่งอันที่จริงมีหมอจัดกระดูกหลายประเภท ในเมืองไทยมีหมอจัดกระดูกที่เป็นสมาชิกสมาคมไคโรแพรกติกแห่งประเทศไทย์แค่ 33 เท่านั้นในประเทศที่มีข้อมูลว่า คนทำงาน 80% มีอาการออฟฟิศซินโดรม
หมอแอนดรูว์หวังว่า การจัดกระดูกจะแพร่หลายในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งการที่เขาโพสต์คลิปการจัดกระดูกให้คนไข้ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ (โดยเฉพาะใน TikTok @dr_andrewbryant ที่มียอดวิว 100 ล้าน+ บางคลิปมียอดวิวเกือบ 10 ล้าน) ก็กลายเป็นความฟินของคนเป็นออฟฟิศซินโดรมจำนวนมากที่เปิดมาฟังเสียง “กร๊อบ” อย่างสะใจหู และเสียงร้อง “โอ๊ย” ที่ปนทั้งความประหลาดใจแกมโล่งใจที่อาการปวดหายไป
@dr_andrewbryant No matter how many times I adjust wifey’s neck, the sound ALWAYS gets her 🤪 #chiropractic #chiropractor #ASMR #neckcrack #neckadjustment #จัดกระดูก #ไคโรแพรคติก #fyp #หมอไคโรแพรคติก #ออฟฟิสซินโดรม
หมอแอนดรูว์จัดกระดูกภรรยา
เสียงกร๊อบนี้เองที่ทำให้ผู้ชมทางบ้านสงสัยใคร่อยากลองได้ยินเสียงกร๊อบแบบตัวเป็นๆ จึงมีผู้คนหลากหลายมาให้หมอแอนดรูว์จัดกระดูก ทั้งนักกีฬา นักเพาะกาย มนุษย์เงินเดือน คนไทยในต่างแดน คนต่างชาติในเมืองไทย ฯลฯ) เหลือแค่หมอยังไม่ได้จัดกระดูกให้สัตว์อย่างที่เป็นคลิปไวรัลในต่างประเทศ ที่เจ้าของพาน้อนหมาน้อนแมวไปจัดกระดูก
อย่างไรก็ตาม เสียงกระดูกที่เข้าที่ดังกร๊อบก็ทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าการจัดกระดูกเจ็บมากแน่ ซึ่งอันที่จริงไม่ควรจะเจ็บ ทางสมาคมฯ ให้นิยามว่า “ไคโรแพรกติกเป็นการรักษาแบบไม่ใช้ยา และไม่มีการผ่าตัด” โดยแพทย์จะใช้ “มือ” ทำการปรับโครงสร้างของกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ตรงตามตัวอักษรอย่างแท้จริง เพราะ chiro แปลว่า มือ อันที่จริงต้องบอกว่า แพทย์จะจัด “ข้อต่อ” ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมมากกว่า ไม่ใช่การดัดกระดูก
คนเข้าใจผิดว่า การจัดกระดูกช่วยได้แค่อาการปวดหลังเท่านั้น อันที่จริงการจัดกระดูกทำได้ทั้งร่าง และกลุ่มคนที่พบบ่อยในการจัดกระดูกแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คนที่ประสบอุบัติเหตุ
กลุ่มที่ 2 คนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม
กลุ่มที่ 3 นักกีฬา/คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ การจัดกระดูกจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและออกกำลังกายได้ดีขึ้น
ข้อดีของการจัดกระดูก คือ ช่วยลดแรงกดของเส้นประสาท จึงบรรเทาความเจ็บปวดให้น้อยลง
@dr_andrewbryant จับปุ๊ปร้องโอ๊ย เหมือนตาเห็น … หมอช๊อบชอบ 😅 . . . . . #จัดกระดูก #ไคโรแพรคติก #chiropractic #chiropractor #ASMR #fyp #หมอไคโรแพรคติก
แม้ว่าใครก็มาจัดกระดูกได้ เหมาะกับทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะเดินเข้ามาให้หมอจัดกระดูกได้เลย ก่อนอื่นแพทย์จะซักประวัติคนไข้อย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของความเจ็บปวด และต้องตรวจร่างกายเพื่อให้ทราบก่อนว่า อาการแบบนี้ เหมาะกับการรักษาด้วยการจัดกระดูกหรือไม่ เพราะอาจมีความเจ็บปวดจากอาการบางอย่างที่ไม่เหมาะกับการจัดกระดูก เช่น คนที่เป็นโรคกระดูกพรุน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีปัญหาเส้นเลือด แพทย์ต้องวินิจฉัยเป็นกรณีไป บางเคสที่ดูเป็นหนักมากอาจต้องส่งไปสแกน MRI ก่อนเพื่อความแน่ใจ
คนไข้ที่มาจัดกระดูกมากที่สุดคือ กลุ่มที่เป็นออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และอาจปวดไมเกรนพ่วงด้วย คนไข้ในกลุ่มนี้จะสังเกตได้ทันทีจากตำแหน่งของหู คอ และไหล่ที่ควรจะต้องอยู่ในตำแหน่งตรงกัน แต่คนที่เป็นออฟฟิศซินโดรมมักจะคองุ้มไปข้างหน้า ทำให้แรงกดไปอยู่ที่บ่า
ใครมีอาการปวดเมื่อยตรงไหน มีคำถามที่อยากได้คำตอบ หรืออยากลองรักษาด้วยการจัดกระดูก ปรึกษาหมออดุลย์กรณ์ จิตรีเที่ยง หรือหมอแอนดรูว์ ไบรอันได้ที่ Reset – Health and Recovery คลินิกกายภาพบำบัดและจัดกระดูกไคโรแพรกติก
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.youtube.com/watch?v=KW-PPRFGyjI
- https://www.youtube.com/watch?v=5zrXjz5gA5E
- https://www.tiktok.com/@dr_andrewbryant?lang=en
- https://www.thailandchiropractic.org/
- https://www.facebook.com/resethealthandrecoveryclinic/